สำรวจตลาดข้าวเมืองเซี่ยเหมิน ข้าวไทยระส่ำ เจอคู่แข่งแย่งชิงส่วนแบ่ง

กระทู้ข่าว
......................รายงานข่าวระบุว่า แม้ว่าข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นที่นิยมและครองใจผู้บริโภคชาวเซี่ยเหมินมากที่สุด แต่ในปัจจุบันทางการจีนได้ผ่อนคลายกฏระเบียบในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีข้าวจากหลากหลายประเทศได้เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

                     จากการสอบถามนายจางเจี้ยนฮุย (张建辉) เจ้าหน้าที่บริษัทนำเข้าสินค้าเกษตรเซิ่งเป่า (盛宝) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าข้าวหอมมะลิแห่งแรกของเมืองเซี่ยเหมินพบว่า ปัจจุบันข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น สำหรับข้าวสารบรรจุถุง 5 กก. นำเข้าจากกัมพูชา มีราคาเพียง 25 หยวน ซึ่งยังมีราคาถูกกว่าข้าวที่ผลิตได้ในประเทศจีน ทั้งนี้เนื่องจากตลอดช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับเมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองท่าหลักในการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่งได้มาก โดยในปัจจุบัน นอกจากข้าวหอมมะลิจากไทยแล้ว ยังมีข้าวสารจากอีก 6 ประเทศวางขายในท้องตลาด ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน อุรุกวัย กัมพูชา พม่าและอินเดีย

                      สำหรับตลาดข้าวในจีน จีนเป็นประเทศผู้บริโภคข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากสถิติของกรมศุลกากรจีนพบว่า จีนมีปริมาณการนำเข้าข้าวจากทั่วโลกในปี 2554 จาก 6 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านตันในปี 2555 สำหรับข้าวที่นำเข้าจากไทยพบว่ามีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2549 มีการนำเข้า 6.5 แสนตันลดลงเหลือ 2.6 แสนตันในปี 2554 แต่การนำเข้าข้าวจากเวียดนามกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มีการนำเข้าข้าวจากเวียดนามสูงถึง 1.5 ล้านตัน

                      ผู้บริโภคชาวจีนต่างรู้จักและนิยมบริโภคเซียงหมี่หรือข้าวหอมมะลิไทย อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในปี 2555 พบว่าราคาข้าวของไทยปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 20 % คือมีราคาเฉลี่ย 671 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่ามีราคาสูงเป็นอันดับ 1 ต้นทุนการผลิตและราคาของข้าวไทยสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาบริโภคข้าวที่มาจากประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับคู่ค้าให้ได้ โดยอาจต้องใช้จุดแข็งของไทยในการส่งออกข้าว คือ ชื่อเสียงของประเทศไทยในการส่งออกอาหาร จนได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” โดยเน้นเรื่องของคุณภาพข้าวเป็นจุดขายมากกว่าการใช้ราคาในการแข่งขัน อีกทั้งยังอาจใช้การหาตลาดเฉพาะ (niche market) เช่น ตลาดข้าวชั้นดีหรือข้าวพรีเมี่ยมเป็นหนึ่งช่องทางในการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคจีนที่มีกำลังซื้อสูง

ที่มา  http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?IBLOCK_ID=69&SECTION_ID=461&ELEMENT_ID=12516
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่