ดูอย่างไรให้ได้ข้าวหอมมะลิไทย

กระทู้ข่าว
ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีลักษณะข้าวเปลือกเรียวยาว เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ข้าวเมล็ดเรียว ยาว ขาวใสเป็นเงา มีเปอร์เซ็นต์ท้องไข่น้อย ลักษณะคุณภาพการหุงต้มดี หุงขึ้นหม้อ ข้าวสุกอ่อนนุ่มน่ารับประทาน และลักษณะพิเศษกว่าสายพันธุ์อื่นๆ คือ กลิ่นหอม

ทำไมข้าวหอมมะลิไทยจึงหอม
ลักษณะจำเพาะของกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิเกิดจากสารระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline (2AP) (Buttery et al., 1982) ซึ่งเป็นสารที่ระเหยหายไปได้ และยังไม่ทราบบทบาทของสาร 2AP ที่ชัดเจน แต่ข้าวที่มีกลิ่นหอมจะช่วยทำให้ผู้บริโภคอยากรับประทานอาหารมากขึ้น การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิให้คงอยู่นานนั้น จึงควรเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เป็นการถนอมข้าวเพื่อเก็บไว้บริโภคในระยะยาว และยังคงคุณภาพการหุงต้มที่ดี และยังขึ้นอยู่กับว่า เป็นข้าวใหม่หรือข้าวเก่า

วิธีดูข้าวหอมมะลิ
ปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มคนมีฐานะดีทั่วโลก ส่งผลให้ข้าวหอมมะลิมีการส่งออกมากและมีราคาแพงกว่าข้าวชนิดอื่น อันเป็นผลมาจากมาตรฐานและคุณภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ผู้ค้าข้าวบางรายนำข้าวชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่ามาปลอมปน เพื่อเพิ่มน้ำหนักและขายในราคาข้าวหอมมะลิ การตรวจสอบการปลอมปนข้าวหอมมะลิมีหลายวิธี ได้แก่ หนึ่งการตรวจสอบเมล็ดข้าวเปลือกทางกายภาพ จะสังเกตเห็นได้จาก ลักษณะข้าวเปลือกเรียวยาว เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ข้าวเมล็ดเรียว ยาว ขาวใสเป็นเงา แกร่ง มีท้องไข่น้อย มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย สองการตรวจสอบข้าวสารทั้งกายภาพและเคมีคือการตรวจสอบทางกายภาพประกอบกับทางเคมีที่ตรวจวัดหาค่าอะไมโลสในข้าวหอมมะลิ แต่วิธีที่แม่นยำที่สุด คือ การตรวจสอบการปลอมปนในระดับดีเอ็นเอ แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง

ข้าวอะไรเจือปน
ผลจากข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้มีการผสมข้าวหอมสายพันธุ์อื่น เช่น ปทุมธานี และชัยนาท ผสมเข้าไปในพันธุ์ข้าวคุณภาพดีขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 ทำให้คุณภาพและมาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทยลดลง ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิไทยเปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

กำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตลอดจนผลกระทบทางด้านการตลาดของข้าวหอมมะลิไทย ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้ออกประกาศมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 2) ปี 2556 โดยได้กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยต้องเป็นข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข.15 มีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ เวลาส่งออกต้องจัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าหรือ บริษัท เซอร์เวย์ และนำผลตรวจสอบไปขอใบรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อแสดงต่อพนักงานศุลกากรก่อนส่งออก

สัญลักษณ์ “ข้าวหอมมะลิไทย”  
นอกเหนือจากการกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยแล้ว ทางกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ออกแบบสัญลักษณ์ “ข้าวหอมมะลิไทย” ( Thai HOM MALI Rice) แล้วนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย ในต่างประเทศรวม 62 ประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปติดเป็นฉลากรับร องคุณภาพข้าวหอมมะลิที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐาน กรมการค้าต่างประเทศ ก่อนที่จะออกสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่