การรักษาตัวหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

จากประสพการณ์ ที่เจอกับพี่สาวตัวเอง ที่ถูกผ่าตัดกระเพาะส่วนล่างออกไป เพราะมีก้อนเนื้องอก(ไม่ใช่เนื้อร้าย)
หลังผ่าตัดไม่นานเกิดอาการกินอาหารแล้วจุกแน่น เรอ อาเจียนอย่างมาก กินอะไรไม่ได้เลยแม้กระทั่งน้ำเกลือแร่ หรือน้ำหวาน มีอาการ
เป็นลมหน้ามืด เวียนหัว ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างมาก กล้ามเนื้อลีบ หมดอาลัยในชีวิต อยากนอนหลับ
จบชีวิตลงไป ญาติๆพยายามพาไปพบ แพทย์ที่ทำการผ่าตัดหลายต่อหลายครั้ง ตรวจโดยละเอียด ส่องกล้องดูกระเพาะ
อาหารก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่มีการอุดตันของลำไส้ แนะนำให้กินอะไรก็ได้ อาหารบำรุงต่างๆ แต่กลับไม่ดีขึ้นแย่ลงอย่าง
เห็นได้ชัด ยิ่งกินยิ่งอาเจียน นอนไม่ได้เลยเพราะต้องลุกมาอาเจียนทั้งคืน หลังจากได้นำตัวมาดูแลที่บ้านของผมโดยใกล้ชิด
ผมรู้สึกถึงความไม่ปกติอย่างมาก ส่วนตัวชอบการค้นคว้าอยู่แล้ว จึงได้พยายาม หาข้อมูลดูในเวปไซต์ ต่างประเทศ จนได้
มาเจอกับคนไข้ที่มีอาการใกล้เคียงกับพี่สาวอย่างมาก  เป็นคนไข้หลังผ่าตัดลดความอ้วน โดยการผ่าตัดกระเพาะออกไป
น้ำหนักลดไปอย่างมาก แต่คุณภาพชีวิตแย่มากๆ ถึงขั้นคิดอยากตายไปจากโลกนี้ อาการที่กล่าวมานี้คืออาการของ
Dumping Syndrome (ภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้)
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
    ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร จากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหารที่มีเลือดออกรุนแรง
การผ่าตัดลดความอ้วน(Bariatic Surgery) เนี้องอกชนิดต่างๆ หรือมะเร็งกระเพาะอาหารฯลฯ กระเพาะที่ถูกตัดออกไป
จะทำให้ส่วนที่เหลืออยู่ ทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้ระบบการย่อยอาหารแปรปรวน ,มีผลข้างเคียงมากมายตั้งแต่ คลื่นไส้
อาเจียน จุก แน่นหน้าอก ปวดท้อง  ท้องเสีย หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างมาก คุณภาพชีวิตเลวร้าย
แทบไม่อยากมีชีวิตอยู่
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
1. ภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้( Dumping Syndrome) เนื่องจากกระเพาะส่วนปลาย( Pylorus )
ที่ทำหน้าที่ชะลออาหารไว้ในกระเพาะไม่ให้ไหลผ่านสู่ลำไส้เร็วเกินไป ถูกตัดออกไป
2. น้ำดีจากลำไส้ไหลย้อนเข้าสู่กระเพาะ ทำให้กระเพาะอักเสบ (Bile Gastritis)
3. ภาวะโลหิตจางจากขาดวิตามิน  B12  เนื่องจากส่วนของกระเพาะที่ช่วยในการดูดซึม วิตามินถูกตัดออกไป

Dumping Syndrome
อาการของโรค แบ่งเป็น 2 ระยะ
1.อาการฉับพลัน(Early Dumping)
    เกิดหลังจากกินอาหาร ประมาณ 30 นาที อาหารที่ผ่านลงไปสู่ลำไส้ที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารเหลว จะไป
กระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวแรงขึ้น ถี่ขึ้น เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมถูกตัดขาดไป (Vagotomy) ไม่มีกลไกปรับลดการบีบตัว
ของลำไส้ให้เหมาะสม จะเกิดอาการปวดกระเพาะ อาเจียน จุก เรอ ไม่สบายท้อง อาหารที่ยังเข้มข้นผ่านเข้ามาในลำไส้
ก็จะดูดน้ำจากเส้นเลือดผ่านทางผนังลำไส้เข้ามา ทำให้ปริมาณเลือดลดลง รวมทั้งการสร้างฮอร์โมนของลำไส้ที่ผิดปกติไป
ทำให้เกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น ความดันต่ำ เป็นลมหมดสติได้  ส่วนปริมาณอาหารที่ขยายตัวในลำไส้จากน้ำที่เพิ่มขึ้น
ทำให้เกิด อาการจุกแน่น ปวดท้อง เรอ ตามมาด้วยเช่นกัน
2.อาการ1-3ชั่วโมงต่อมา (Late Dumping)
    เกิดจากการที่อาหารที่เข้าสู่ลำไส้เร็วเกินไป น้ำตาลที่เข้าสู่กระแสเลือดโดยรวดเร็วในระยะแรก จะกระตุ้นการ
สร้าง ฮอร์โมนอินสุลิน(Insulin)ที่มากเกินไป เพื่อเตรียมรับกับภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงฉับพลัน มีฤทธิ์ อยู่นานหลายชั่วโมง
ซึ่งไม่สมดุลย์กับภาวะน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้เกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น หมดสติได้
    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลานานๆ ร่างกายต้องใช้พลังงานจาก น้ำตาลที่สะสมในกล้ามเนื้อ(glycogen)
ไขมัน รวมทั่งกล้ามเนื้อมาใช้ทดแทน โดยเฉพาะสมองที่ต้องการน้ำตาลกลูโคส จะได้จากการสลายโปรตีนจาก
กล้ามเนื้อเป็นหลัก(หลังจากน้ำตาลสำรองใช้หมดแล้ว) ดังนั้นคนไข้จะมีกล้ามเนื้อลีบลงอย่างเห็นได้ชัด จนสุดท้าย
อาจถึงแก่ชีวิต

การตรวจวินิจฉัย
1.จากประวัติ การผ่าตัดกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะ ส่วนปลายกระเพาะ
2.จากอาการแย่ลง ที่สัมพันธ์กับอาหารโดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่นของหวาน น้ำหวาน แป้ง
3.การตรวจเอ็กซเรย์ กลืนแป้ง (Upper GI series)
4.การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังดื่มน้ำหวาน (Glucose Tolerance Test)
การรักษา
ได้แก่ การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร  เลือกชนิดของอาหาร (สำคัญมาก)  การใช้ยารักษา ได้ผลดีในบางราย
การผ่าตัดแก้ไขซึ่งไม่ค่อยทำกัน
แนวทางปฏิบัติพื้นฐานของการกินอาหาร
1. กินครั้งละน้อยๆแต่หลายมื้อ แบ่งเป็น5-6 มื้อต่อวัน กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน หยุดทันทีถ้ารู้สึกจุก แน่นท้อง
2. ห้ามดื่มน้ำในขณะกินอาหาร งดน้ำ30นาทีก่อน และหลังอาหาร เพราะน้ำจะทำให้อาหารผ่านลงสู่ลำไส้เร็วขึ้น
3. ไม่กินอาหารเหลว เลือกเป็นอาหารแข็ง นำไป ต้ม นึ่ง ประเภทเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไก่ ลูกชิ้น ไส้กรอก ฯลฯ หลีกเลี่ยง
พวกคาร์โบไฮเดรต พวกน้ำตาล แป้ง ถ้าอาการดีขึ้นจะลองกินพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนดูก็ได้ เช่น ขนมปังโฮลวีต
ลูกเดือย ถั่วต่างๆ
4.กินผัก ผลไม้ ที่มีใยอาหารมากๆ เช่นฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล หรือ พวก เส้นที่ทำจากบุก
5.ดื่มน้ำบ่อยๆ ครั้งละน้อย อย่าให้จุกแน่นท้อง ควรได้ประมาณ2ลิตร/วัน หลังจากมื้ออาหาร30นาที และก่อนกินข้าว
30นาที
6.เสริมพวกไขมันได้ถ้าอาการคลื่นไส้อาเจียนดีขึ้น เพราะไขมันย่อยยากอาจมีปัญหาได้ในตอนแรกๆ
http://twcbgh9.blogspot.com/
น.พ. ธวัชชัย ลิมป์สถบดี
แผนก JMS ร.พ.กรุงเทพ
25/3/2013
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่