หมอมะเร็งอยากบอก ตอน การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในวาระสุดท้าย

กระทู้สนทนา
หมอมะเร็งอยากบอก ตอน การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในวาระสุดท้าย

ไม่ว่าหมอ ผู้ป่วยและครอบครัวจะพยายามสักเพียงไหนในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย บางครั้งก็จะมาถึงจุดที่การรักษาที่ตัวโรคมะเร็งนั้นไม่สามารถไปต่อได้ การรักษาต่อจากนี้ก็จะเน้นการรักษาที่ตัวผู้ป่วยมากขึ้นเพื่อประคับประคองสภาพร่างกายและบรรเทาอาการต่างๆเพื่อให้คงคุณภาพชีวิตไว้ให้ได้มากที่สุด

ในความเป็นจริงแล้วการรักษาแบบประคับประกอบและบรรเทาอาการนี้จะได้รับร่วมไปกับการรักษาที่ตัวมะเร็งอยู่ตลอดแม้ว่าจะรักษาแบบหวังผลหายขาดก็ตามแต่อาจจะยังไม่เห็นเด่นชัดเพราะมีการรักษามากมายเกิดขึ้นหร้อมกันเท่านั้นเอง ในบางครั้งการรักษาแบบนี้อาจเป็นการรักษาที่ตัวมะเร็งเพื่อลดอาการในกรณีที่มีทางเลือกที่เหมาะสม

การรักษาแบบประคับประคองและบรรเทาอาการจะอยู่ในบทความต่อไปๆ ในบทความนี้จะมุ่งเน้นที่การเตรียมพร้อมเพื่อผู้ป่วยกำลังจะเข้าสู่วาระสุดท้ายและการดูแลในขณะนั้น

ก่อนวาระสุดท้ายจะมาถึง

สะสางเรื่องส่วนตัว
นับเป็นเรื่องเศร้าและยากยิ่งในการที่จะพูดคุยกันถึงการตายและความตายในอนาคตกับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เพิ่งรับทราบว่าเป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นเรื่องปกติของอารมณ์ต่างๆจะหมุนเวียนกันเข้ามา ความเศร้าโศกต่อการพลัดพรากต่อคนที่รัก ต่อวันเวลาที่จะไม่มีอีกในอนาคต แต่ การพูดคุยถึงความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ดีและในความเป็นจริงควรกระทำตั้งแต่ที่รับทราบถึงการอยู่ในมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างช้าที่สุดก็ควรจะพูดคุยเมื่อเป้าหมายการรักษานั้นไม่ใช่การรักษาที่ตัวมะเร็งอีกต่อไป เพราะมันจะช่วยลดหรือขจัดความกังวลต่อปัญหาภายหลังการจากไป วางเป้าหมายชีวิตใหม่อย่างเหมาะสม ตัดสินใจในอนาคตที่สำคัญไว้ล่วงหน้า บางครั้งหมอที่รักษาอาจเป็นผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงวาระสุดท้ายที่กำลังใกล้เข้ามา

อย่างแรกที่ควรทำก็คือจัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย เช่น เอกสารทางกฏหมายและการเงินต่างๆ เพื่อให้ในช่วงวาระสุดท้ายไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้อีกต่อไปสามารถใช้เวลาไปกับคนที่รักและครอบครัวได้เต็มที่ เป็นการดีที่จะพูดคุยถึงการตัดสินใจต่างๆกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะตัดสินใจได้ต่อไป (การทำเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรจะมีน้ำหนักหนักแน่นกว่าแค่คำพูดบางครั้งคนที่เกี่ยวข้องอาจไม่ได้รับทราบด้วยกัน) บางรายอาจวางแผนไปจนถึงการจัดการหลังการเสียชีวิต


จัดการธุระที่ค้างคา
บางทีอาจจะยังมีอะไรบางอย่างค้างคาอยู่ที่จะช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิตในระยะเวลาที่เหลือ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นความฝันชั่วชีวิตหรืออาจเป็นสิ่งเล็กน้อยเช่นการย้อมกลับไปอ่านหนังสือเล่มโปรดหรือใช้เวลากับคนที่รักพูดคุยกันถึงสิ่งดีๆความรู้สึกที่มีต่อกัน บางครั้งอาจเป็นปัญหาบางอย่างที่ยังไม่ได้สะสางหรือการขอโทษต่อสิ่งที่เคยทำผิดมาก่อน คุณสามารถทำได้โดยการพูดคุยเป็นส่วนตัว เขียนจดหมาย หรือ โทรศัพท์ อย่างไรก็ตามบางคนอาจตอบสนองต่อคุณในทางตรงกันข้ามซึ่งมันไม่สำคัญเท่ากับที่คุณรู้ว่าคุณได้พยายามแล้วในการแก้ปัญหาเหล่านั้น

หลายคนทุ่มเทลงแต่การรักษาจนหลายครั้งจะผ่านช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำตามความฝัน ดังนั้นจงเป็นการดีที่จะพูดคุยกันเสียแต่เนิ่นๆ แต่ก็ไม่แนะนำให้ทิ้งการรักษาเพื่อทำตามความฝันเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะพูดคุยปรึกษากับหมอที่ดูแลเพื่อวางแผนที่เหมาะสมที่สุดที่เป็นไปได้ครับ
[ประสบการณ์จริง]
มีคนไข้มะเร็งปอดอยู่รายหนึ่ง ภายหลังดื้อยากับการรักษาสูตรแรกอยู่ในระหว่างการรักษาสูตรที่สองด้วยเคมีบำบัดนั้นก็มาปรึกษาครับว่าเขามีความฝันจะบินไปเที่ยวเมืองนอก หลังจบคีโมไม่รู้จะไปไหวมั้ย ผมจึงช่วยแนะนำและวางแผนแบบนี้ครับคือ ระหว่างรอบคีโมให้ลองนั่งเครื่องไปเที่ยวระยะใกล้ๆก่อนเช่นภูเก็ตเพื่อดูว่าเมื่อไปอยู่บนเครื่องสภาพร่างกายจะเป็นเช่นไร เมื่อผ่านไปได้ด้วยดีผมจึงอนุญาตพร้อมจดหมายติดตัวคนไข้เพื่อไปเที่ยวต่างประเทศโดยอาศัยช่วงระยะเวลาหลังจบคีโม ในที่สุดคนไข้ก็ได้ไปฮ่องกงแม้จะไม่ได้ไกลอะไรมากมายแต่สิ่งที่สะท้อนออกมาคือการที่เขามีความสุขที่ได้เที่ยวไม่ต่างจากคนปกติ ญาติถึงกับบอกว่าดูแข็งแรงมากกว่าตอนอยู่เมืองไทยเสียอีก เดินลืมเหนื่อยทีเดียว

ทบทวนชีวิตตนเอง
คุณควรหาเวลาทบทวนตนเองถึงสิ่งดีๆที่ได้ผ่านมาในชีวิตไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเรื่องใด คนที่คุณรักและรักคุณ เหตุการณ์ต่างๆที่ช่วยเปลี่ยนตัวคุณเอง พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวถึงเวลาที่เคยได้ใช้ร่วมกัน ไม่เพียงจะช่วยทำให้ความทรงจำนั้นมีค่ามากขึ้นแต่จะช่วยสร้างความทรงจำดีๆต่อคนอื่นๆด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่แค่เรื่องเล็กน้อยก็มีค่าเพียงพอจะให้พูดถึงครับ

ระหว่างที่พยายามคิดทบทวนคุณอาจลองเขียน บันทึกเสียงหรือวีดีโอ สิ่งต่างๆเหล่านีจะเป็นสิ่งที่มีค่าต่อคนที่ยังอยู่ต่อไปช่วยให้เขาเหล่านั้นก้าวผ่านความเศ้าโศกได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เขารู้สึกผูกพันด้วยกันแม้ยามจากลา การหาโอกาสฉลองด้วยกันจะเป็นภาพความทรงจำดีๆต่อกันในอนาคตได้ดี



วางแผนการตัดสินใจทางการแพทย์ในวารสุดท้าย
หลายครอบครัวสามารถตัดสินใจได้ค่อนข้างง่ายที่จะปล่อยผู้ป่วยให้จากไปเมื่อถึงเวลาตามธรรมชาติ แต่หลายครอบครัวไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงเป็นการสำคัญไม่น้อยที่จะต้องมีการตัดสินใจปัญหาเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า ในบ้านเราหมอมักจะถามถึงการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตและการใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อให้เข้าใจการตัดสินใจนีจึงแยกออกมาเป็นหัวข้อต่างหาก

การปั๊มหัวใจช่วยชีวิตนั้นประกอบด้วยการช่วยเหลือผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นและหรือปอดหยุดทำงานด้วยวิธีการต่างๆเช่น การกดหน้าอกนวดหัวใจ การช่วยหายใจด้วยอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายการกระทำนี้มักไม่ประสบความสำเร็จหรือช่วยได้เพียงสั้นๆเพื่อรอระยะเวลาที่ร่างกายทนรับต่อไปไม่ไหวและเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้ง จึงไม่เป็นการดีต่อผู้ป่วยที่ต้องมาทนรับความทรมานจากความพยายามที่สูญเปล่า การปฏิเสธจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีพบว่าบางครั้งญาติๆอาจไม่กล้าเป็นคนตัดสินใจที่จะปฏิเสธเพราะมองเหมือนว่าเป็นการทำให้ผู้ป่วยจากไปเร็วขึ้น ในความเป็นจริงมันไม่ได้แตกต่างกันมากมายนักนอกจากผู้ป่วยจะต้องทรมานนานขึ้นจากสิ่งที่ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย จึงเป็นการดีกว่าที่ในครอบครัวจะมีการพูดคุยกันไว้ก่อน

บางครั้งการตัดสินใจนั้นอาจจะยากยิ่งกว่าคือเมื่อหมอประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีปัญหาที่ไม่ไหวในด้านใดแต่หัวใจยังทำงานอยู่ ญาติๆต้องการจะช่วยเหลือหรือไม่ หากผู้ป่วยตัดสินใจไว้ล่วงหน้าจะเป็นการดีที่สุด ตรงความต้องการ และไม่ต้องทำให้ญาติๆรู้สึกผิดในการตัดสินใจ การตัดสินใจที่สำคัญเช่น
- อาหาร หากไม่สามารถกินทางปากได้อีกต่อไปควรจะใส่สายยางให้อาหารหรือไม่ หรือควรจะให้สารอาหารทางเส้นเลือดหรือไม่
- ท่อช่วยหายใจ หากไม่รู้ตัวแล้ว หากไม่สามารถหายใจเองได้ไหว จะใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่
แม้การกระทำเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือตามการแพทย์แต่สำหรับผู้ป่วยในวาระสุดท้ายนั้นอาจเป็นเพียงเครื่องมือที่ทรมานผู้ป่วยหรือไม่คงต้องพิจารณาให้ดี
นอกจากนี้ปัญหาอาจเกิดนอกเวลาหรือนอกโรงพยาบาลที่รักษาประจำจึงอาจไม่ได้พบกับหมอประจำตัวของท่านในขณะเกิดปัญหาการพูดคุยกับหมอของท่านล่วงหน้าอาจช่วยในการวางแผนตัดสินใจได้ดีกว่า


เมื่อวาระสุดท้ายกำลังมาเยือน
ผู้ป่วยระยะนี้มักจะได้รับการดูแลอยู่กับบ้าน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนที่ดูแลจะไม่รู้ว่าอะไรที่กำลังจะต้องเผชิญ และนั่นมักจะสร้างความกังวลใจในการที่จะดูแลผู้ป่วยใกล้วาระสุดท้าย ไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไร แก้ไขอย่างไร การดูแลที่เหมาะสมนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นยังช่วยให้การจากไปนั้นเป็นไปอย่างสงบ

สัญญาณบ่งบอกว่าวาระสุดท้ายกำลังใกล้เข้ามา
แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ท่จะระบุระยะเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยแต่ละคน แต่สัญญาณบางอย่างอาจช่วยบ่งบอกว่าบั้นปลายนั้นกำลังใกล้เข้ามา ไม่จำเป็นต้องพบตามลำดับหรือต้องพบทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ได้แก่
- ร่างกายอ้อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด
- ใช้เวลาส่วนมากไปกับการนอนเฉยๆหรือนอนหลับ
- น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง
- เบื่ออาหาร ไม่อยากกิน
- พูดคุยน้อยลง ขาดความสนใจต่อสิ่งต่างๆ
- ไม่สนใจสิ่งรอบข้างมากไปกว่าคนที่ต้องการเพียงไม่กี่คน
ผู้ป่วยที่มีสัญญาณเหล่านี้เป็นตัวบอกถึงภาวะร่างกายที่กำลังถดถอยอย่างต่อเนื่อง ผู้ดูแลสามารถให้การดูแลต่างๆเพื่อให้สร้างความสบายและลดความทรมานแก่ผู้ป่วยได้ดังนี้
- ใช้ที่นอนนุ่มๆเพื่อให้ผู้ป่วยพักอย่างสบาย ควรมีการเปลี่ยนท่าบ่อยๆอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ
- พยายามตั้งศรีษะสูงหรือนอนตะแคงเท่าที่ทำได้จะช่วยลดอาการเหนื่อยและการสำลัก
- ใช้ผ้าห่มให้ความอบอุ่น ควรหลีกเลี่ยงผ้าห่มไฟฟ้า กระเป๋าน้ำร้อนเพราะอาจจะร้อนเกินจนลวกเป็นแผลได้
- คอยพูดคุยยามผู้ป่วยตื่นถึงเวลา สถานที่ บุคคลต่างๆเพื่อช่วยให้สมองยังทำงานสะมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ไม่สับสน
- ถ้ายังกลืนไหวอาจให้ดื่มน้ำซุปผ่านหลอดหรือช้อน ปากที่แห้งอาจใช้ลิปมัน วาสลีนช่วยลดบรรเทาความแห้ง
- นวดเบาๆสามารถทำให้ผ่อนคลายและเสิรมการหมุนเวียนของเลือด
- บางทีแค่การนั่งอยู่ด้วย กุมมือเอาไว้ ลูบศรีษะเบาๆอาจเป็นสิ่งที่ช่วยผู้ป่วยได้ดีที่สุดและต้องการที่สุด
หากมีปัญหาอื่นใดควรปรึกษากับทีมที่ดูแล บางครั้งหมอของท่านอาจให้คำแนะนำคาดการณ์ถึงปัญหาเฉพาะของผู้ป่วยที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้

ในวาระสุดท้าย
ผู้ป่วยอาจมีอาการต่างๆเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามาถึงวาระสุดท้ายแล้วก็ได้ เช่น
- การหายใจจะช้าลง บางครั้งอาจมีช่วงที่หยุดนาน บางคนอาจหายใจแรงลึกเป็นเฮือกๆ
- มีเสียงหายใจกลุกกลักในลำคอซึ่งอาจดังจนคนรอบข้างได้ยิน
- ผิวหนังเย็น มือเท้าเย็น บางคนอาจดูเขียวๆได้
- ปากแห้ง ริมฝีปากแห้งแตก
- ปัสสาวะออกน้อย
- คุมอุจจาระไม่อยู่
- มีแขนขากระตุกเป็นระยะ
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ บุคคลต่างๆ
- เห็นหรือได้ยินภาพหลอน
- เริ่มไม่รู้ตัวเป็นระยะจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะโคม่า
ในระยะนีคือช่วงเวลาที่ร่างกายเริ่มยอมแพ้ต่อปัญหาต่างๆ อวัยวะต่างๆค่อยๆลดการทำงานเพื่อสงวนพลังงานไว้ที่อวัยวะที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรจะปลุกผู้ป่วยเพียงเพื่อให้ตื่นมากินเพราะโดยธรรมชาติร่างกายจะไม่ได้ต้องการอีกต่อไป คนไข้เองก็ไม่ได้รู้สึกหิวหรืออยากกินในทางกลับกันในรายที่หิวหรืออยากกินหากไม่ได้มีปัญหาอะไรก็สามารถทำได้ หากอยู่โรงพยาบาลหมออาจจะยุติยาและการตรวจทุกอย่างที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนมากที่สุดจวบจนวาระสุดท้าย หากผู้ดูแลไม่แน่ใจอย่าลังเลใจที่จะปรึกษาทีมที่ดูแลครับ

คำแนะนำเพิ่มเติม
บางครั้งการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับช่วงเวลานั้นนอกจากจะช่วยลดความกังวลความเครียดของผ้ดูแลยังช่วยให้ทุกคนใช้เวลาอย่างเหมาะสมไปกับการจากไปมากกว่าความวุ่นวายสับสน สิ่งที่อาจวางแผนการเตรียมตัว
- เตรียมรายชื่อคนที่อยากให้มาเยี่ยมหรือดูแลในช่วงวาระสุดท้าย
- ในบางรายบางศาสนาอาจต้องการพิธีกรรมหรือบุคคลทางศาสนาในช่วงวาระสุดท้าย
- เตรียมรายชื่อและเบอร์โทรให้แก่ญาติที่จะช่วยแจ้งข่าวภายหลังการจากไป
- วางแผนการจัดการร่างกายต่อจากนั้นเช่น การแต่งตัว พิธี สถานที่
- หากอยู่โรงพยาบาลควรแจ้งความต้องการแก่พยาบาลที่ดูแลเพื่อที่จะสามารถติดต่อดำเนินการได้สะดวก


หลังจากนั้น
แม้ว่าการเสียชีวิตจะคาดการณ์ไว้แล้ว และ เตรียมการไว้แล้วแต่ความรู้สึกช็อค ตกใจ ไม่อยากจะเชื่อสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบเร่งจัดการเรื่องต่างๆในทันที ญาติๆอาจใช้เวลาสักครู่ในการนั่งอยู่เงียบๆ พูดคุยด้วยเบาๆ กุมมือเอาไว้ และจดจำการจากไปอย่างสงบ ก่อนจะดำเนินการตามสิ่งที่วางแผนไว้ การจัดการจากจุดนี้หากไม่มีประสบกาณ์มาก่อนควรปรึกษากับทีมที่ดูแลว่าขั้นตอนต่างๆจะเป็นเช่นไร

ตอนเก่าๆครับ
http://ppantip.com/topic/30260174
http://ppantip.com/topic/30259559
http://ppantip.com/topic/30232170
http://ppantip.com/topic/30231737
http://ppantip.com/topic/30218427
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่