หมอมะเร็งอยากบอก ตอน พาผู้ป่วยโรคมะเร็งไปเที่ยว

กระทู้สนทนา
บทความต่อไปนี้แปลและดัดแปลงจากคำแนะนำ ในเรื่อง ข้อมูลและคำแนะนำที่หมอโรคมะเร็งรับรองว่าถูกต้องและเหมาะสมโดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา
*สาหตุที่ต้องมีการดัดแปลงบ้างนั้นเนื่องจากคำแนะนำนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของอเมริกาทำให้หลายคำแนะนำไม่สามารถปรับใช้อย่างเหมาะสมกับบ้านเราได้ครับ

หลายคนอาจจะเคยหรือกำลังมีความคิดที่จะพาผู้ป่วยโรคมะเร็งไปท่องเที่ยว แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เคยได้พาไป นอกจากข้อจำกัดทางด้านตัวโรคและสุขภาพ ปัญหาหนึ่งคือความกลัวต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จนไม่กล้าที่จะวางแผนพาไปเที่ยวที่ไหนเพราะขนาดคนปกติแข็งแรงดีไปเที่ยวบางครั้งก็มีปัญหามากมายได้

เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับการไปท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยคือ คาดการณ์ล่วงหน้าและเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจจะเกิด ดังนั้นมันหมายความว่าคุณจะต้องปรึกษาคุณหมอของคุณเสียก่อนว่า สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวเช่นนั้นได้หรือไม่ ถ้าได้อะไรที่อาจจะเป็นปัญหาได้บ้าง เช่น อาจจะห้ามเดินทางโดยทางเครื่องบินแต่สามารพาไปทางรถได้

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนวางแผนการเดินทาง
- ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    ถ้าคุณกำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่าลืมถามหมอของคุณในเรื่องความเสี่ยงจากการเดินทางโดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ เนื่องจากสำหรับผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจจะมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจนสามารถเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการหาหมอระหว่างท่องเที่ยวโดยเฉพาะในต่างแดน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจำนวนมากที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดนั้นมีความเสี่ยงต่ำพอที่หมอจะอนุญาตให้ไปได้

- การเดินทางโดยเครื่องบิน
    ผู้ป่วยหลายคนจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางด้วยเครื่องบินเนื่องจากปัญหาจากระดับออกซิเจนที่ลดต่ำลงรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศ ตัวอย่างของผู้ป่วยที่ไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบินเช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมอง(โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีสมองบวมอยู่แล้ว) ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดใหม่ๆ ผู้ป่วยที่มีปอดรั่วในระยะเวลาไม่นาน ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องออกซิเจน(ระดับออกซิเจนต่ำ)อยู่แล้วในสภาพปกติ
    สำหรับผุ้ป่วยที่เคยผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออกด้วยอาจมีปัญหาอาการบวมได้ เช่น แขนบวมในคนที่เคยผ่าตัดมะเร้งเต้านมแบบเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกหมด

- ความเสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตัน
    การที่ต้องอยู่นิ่งนานๆระหว่างการดินทางอาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้โดยเฉพาะบริเวณเส้นเลือดดำใหญ่ บางครั้งลิ่มเลือดเหล่านี้อาจอันตรายถึงชีวิตได้ แม้ คนไทยเราจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าชาวตะวันตก(พวกคอเคเซียน)มาก แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะในระยะแพร่กระจายอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดสูงกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันลิ่มเลือดเช่น การขยับและลุกเดินเป็นระยะอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง การดื่มน้ำให้พอเพียง เป็นต้น

- ความแข็งแรงของผู้ป่วย
    การรักษาหลายอย่างๆเช่น เคมีบำบัด ฉายรังสี อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยหมดเรี่ยวแรงได้ง่าย ปัญหาเรื่องความอ่อนเพลียนี้อาจจำกัดระยะเวลาในการท่องเที่ยวรวมถึงความรวดเร็วในการท่องเที่ยว ดงนั้นชะโงกทัวร์ หรือ ทัวร์แหลกเช้าจรดค่ำอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเหล่านี้ ผู้ป่วยจำนวนมากวางแผนท่องเที่ยวเป็นการฉลองการสิ้นสุดการรักษา อาจเป็นการดีที่จะอดใจรอซักระยะหนึ่งให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นก่อนการท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้นจากการท่องเที่ยวอันแสนสุขอาจกลายเป็นว่าเหนื่อยและหมดแรงเกินกว่าจะสนุกกับมัน

- แสงแดดแรงกล้า
    เคมีบำบัดบางตัวและการฉายรังสีอาจมีผลทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดด หากในแผนการเดินทางจะต้องมีการสัมผัสแสดงแดดมากๆเช่น ชายทะเล หรือ หิมะ(แสงสะท้อนจากหิมะ) ควรปรึกษากับหมอของท่านว่าการรักษาที่ได้รับอยู่จะมีผลหรือไม่ การป้องกันเบื้องต้นเช่น หลีกเลี่ยงเวลาแดดจัดเช่นช่วง 10โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น หาเสื้อผ้าปกคลุม สวมแว่นกันแดด และอาจทาครีมกันแดด อย่างไรก็ตามควรปรึกษาหมอเช่นกันว่าสามารถใช้ครีมกันแดดได้หรือไม่

- เตรียมเรื่องเงินสำรอง
    อาจมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่วางแผนทั่วไปได้เช่น การเปลี่ยนแผนการเดินทางกระทันหัน ค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกบางอย่าง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการนำอุปกรณ์การแพทย์บางอย่างติดตัวไปด้วยเช่น รถเข็นผู้ป่วย ควรสอบถามให้ดีและกันงเนสำรองเผื่อเอาไว้ด้วย



เมื่อทุกอย่างพร้อม อย่าลืม
- ดูแลยาประจำตัวเป็นพิเศษ
    ยาประจำตัวทุกอย่างโดยเฉพาะยาที่ไม่ใช่ยาสามัญทั่วไปควรพกติดตัวไปด้วยตลอด เนื่องจากกระเป๋าเดินทางที่โหลดเข้าเครื่องบิน ฝากไปกับรถทัวร์อาจชำรุด สูญหาย หรือ มีความล่าช้าของกระเป๋าได้ นอกจากนีในต่างประเทศยาจำนวนมากจะไม่สามารถซื้อได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์(ต่างจากบ้านเรา) เป็นความคิดที่ดีที่จะนำยาไปเกินกว่าวันเดินทางเพราะอาจมีความล่าช้าที่ควบคุมไม่ได้  ยาทั้งหมดควรอยู่ในหีบห่อเดิมแม้จะเปลืองเนื้อที่เพราะอาจจำเป็นต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรหรือตำรวจ หากจำเป็นต้องนำยาที่เป็นสารต้องห้าม ยาน้ำ หรือ เข็มและกระบอกฉีดยาติดตัวขึ้นเครื่อง อย่าลืมขอให้หมอเขียนหนังสือรับรอง(ภาษาอังกฤษและไทย)แสดงความจำเป็นในการพกพาขึ้นเครื่องครับ สำหรับยาที่ต้องกินตามเวลาอย่าลืมคำนวนเวลาให้ดีหากต้องเดินทางไกลจนเวลาท้องถื่นไม่ตรงกัน

- นำประวัติการรักษาติดตัวไปด้วย
    ควรขอให้หมอของท่านสรุปประวัติการรักษาที่จำเป็นทั้งหมดติดตัวไปด้วย รวมถึงช่องทางการติดต่อกรณีฉุกเฉินเช่นเบอร์ติดต่อหรืออีเมล หากจำเป็นอาจเตรียมการแปลเอกสารไปด้วยเป็นภาษาที่ประเทศปลายทางสามารถเข้าใจได้โดยง่าย (ภาษาอังกฤษอาจจะยังเป็นปัญหาสำหรับหลายประเทศได้) บางครั้งอาจพบไปในรูปแบบอิเลคทรอนิคเช่น ฝากผ่านเว็บ หรือ ใส่แฟลชไดร์ฟไปด้วย

- จดบันทึกช่วยจำเรื่องการดูแลสุขภาพที่จำเป็น
    เวลาท่องเที่ยวเพลินมักจะลืมเวลาหรือข้อควรปฏิบัติที่สำคัญได้ง่าย นอกจากนี้การที่ต้องมาคอยนึกถึงอาจเป็นความเครียดแทนความสนุกได้ดังนั้นการมีบันทึกช่วยจำ(โดยเฉพาะที่สามารถตั้งเตือนได้)อาจช่วยคุณได้ ตัวอย่างสิ่งที่ควรบันทึกช่วยจำเช่น คำเตือนคอยเดินหรือขยับทุกๆชั่วโมงของการเดินทางนานๆ คำเตือนข้อควรระวัง เช่นเวลาท้องถิ่นที่ต้องกินยา รวมทั้งข้อควรปฏิบัติพื้นฐานเช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ

- ขอความช่วยเหลือจากเอเจนซี่ที่ดูแล(หากเลือกการเดินทางผ่านเอเจนซี่เหล่านั้น)
    อย่าลืมปรึกษาถึงปัญหาและข้อจำกัดกับเอเจนซี่ก่อนตกลงการเดินทาง เพราะบางครั้งอาจช่วยให้ข้อจำกัดต่างๆเป็นไปได้สะดวกขึ้นเช่น สิทธิ์ขึ้นเครื่องหรือเดินทางก่อน เลี่ยงอาหารที่ทานไม่ได้ รถเข็น การมีคนที่เดินทางไปด้วยที่สามารถดูแลปัญหาางๆได้เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก (บางครั้งอาจให้ผู้ร่วมเดินทางได้เรียนรู้การดูแลปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นเบื้องต้นจากทีมแพทย์ที่ดูแล)

***** สุดท้ายสำคัญที่สุดคือ วางโปรแกรมให้เรียบง่ายเหมาะสม วางแผนช่วงเวลาพักเป็นระยะ พยายามผ่อนคลาย และ สนุกกับการเดินทางครับ *****

บทความเก่าๆ
- ตอนทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง
http://ppantip.com/topic/30231737

- ตอนอาหารการกินระหว่างรักษาโรคมะเร็ง
http://ppantip.com/topic/30218427
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่