หมอมะเร็งอยากบอก ตอน ทำอย่างไรดีเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง - สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับต้นๆ

กระทู้สนทนา
บทความต่อไปนี้แปลและดัดแปลงจากคำแนะนำ ในเรื่อง ข้อมูลและคำแนะนำที่หมอโรคมะเร็งรับรองว่าถูกต้องและเหมาะสมโดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา
*สาหตุที่ต้องมีการดัดแปลงบ้างนั้นเนื่องจากคำแนะนำนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของอเมริกาทำให้หลายคำแนะนำไม่สามารถปรับใช้อย่างเหมาะสมกับบ้านเราได้ครับ


เป็นธรรมดาที่ผู้ป่วยหรือญาติจะรู้สึกช็อคกับครั้งแรกที่หมอบอกคุณว่าเป็นมะเร็ง หลายคนทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พลาดโอกาสที่ดีที่สุดของเขาไปเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จนบางครั้งก็หลงทางไปเสียจนไม่สามารถย้อนกลับมาได้ คำแนะนำสั้นๆต่อไปนี้คือสิ่งแรกๆที่ควรพิจารณาทำ

ซึ่งจะมีรายละเอียดตามมาในบทความต่อๆไปครับ


1 เรียนรู้เกี่ยวกับมะเร็งของคุณ
สิ่งที่พบประจำในการตรวจรักษาผู้ป่วยคือเมื่อได้รับทราบว่าเป็นมะเร็งก็จะไม่รู้จะถามหมอต่อไปอย่างไร หลายคนแม้จะมาเจอกันเป็นครั้งที่สองหรือเป็นหมอคนที่สองก็ยังไม่รู้จักเกี่ยวกับมะเร็งของตนเอง ดังนั้น เมื่อพยายามไปหาข้อมูลเพิ่มเองก็จะสับสน ไม่แม่นยำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่อย่างน้อยจะต้องมีหนึ่งคนที่รู้ข้อมูลเหล่านี้โดยละเอียด อาจจะไม่ใช่ผู้ป่วยก็ได้ อย่างไรก็ดีผู้ป่วยควรจะได้ทราบการวินิจฉัยในระดับที่ผู้ป่วยอยากทราบ


เตรียมพร้อมที่จะถาม
- เป็นธรรมดาเช่นกันที่คำถามมากมายนอกห้องตรวจจะถูกลืมหมดสิ้นเมื่อนั่งอยู่ตรงหน้าหมอในห้องตรวจ การจดเตรียมคำถามไว้จะช่วยคุณได้เป็นอย่างดี
- ด้วยข้อจำกัดของเวลาโดยเฉพาะในรพ.ของรัฐ คุณอาจไม่มีเวลามากนักที่จะถามข้อมูลจากหมอ อาจร้องขอนัดหมายเวลาที่เหมาะสมกับหมอของท่านเพื่อการสอบถามทีละเอียดและไม่เร่งรีบจนเกินไป เช่น หลังตรวจผู้ป่วยทั้งหมดหมดแล้ว หรือนอกเวลาตรวจ การถามในช่วงเวลาจำกัดยังอาจเป็นการรบกวนเวลาของผู้ป่วยท่านอื่นๆด้วย
- เตรียมกระดาษปากกาให้พร้อมที่จะจดบันทึกข้อมูล หากต้องการบันทึกเสียงหรือภาพ ***ต้องขออนุญาตจากุณหมอของคุณเสียก่อน***
- บางคำถามอาจจะมีเอกสาร แผ่นพับ เตรียมไว้ให้ในระดับหนึ่งแล้วระหว่างรอตรวจอาจจะลองถามจากคุณพยาบาลเพื่อช่วยให้คำถามที่สำคัญและยังไม่มีคำตอบได้มีเวลาอธิบายครับ
- บางคำถาม พยาบาลหน่วยโรคมะเร็งอาจเป็นผู้ที่ให้คำตอบได้ดีเช่น การดูแล การปฏิบัติตัว การวางแผนที่จะถามทั้งจากสองที่นั้นอาจให้ข้อมูลที่ใช้งานได้จริงกว่าถามจากคุณหมอของคุณเพียงคนเดียว

ตัวอย่างคำถามที่น่าจะถาม (สำหรับครั้งแรกๆ)
- มะเร็งที่เป็นนั้นเป็นชนิดไหน (อาจขอให้คุณหมอจดศัพท์ทางการแพทย์ให้ด้วย) เกิดขึ้นที่ตรงไหน มีการลุกลามหรือแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง
- มีการตรวจใดที่จำเป็นต้องทำอีกบ้าง เพื่ออะไร และต้องรีบทำแค่ไหน
- หากตรวจชิ้นเนื้อมาแล้ว ขอให้คุณหมออธิบายผลการตรวจชิ้นเนื้อให้ฟังว่าตรวจพบอะไรและมีผลอย่างไรต่อตัวโรค หรือ การรักษา
- (ถ้าข้อมูลพอเพียงแล้ว) คุณหมอแนะนำการรักษาอย่างไร เป้าหมายของการรักษาคืออะไร มีทางเลือกอื่นด้วยหรือไม่
- ผลข้างเคียงของการรักษาน้ันๆเป็นอย่างไร  และ ถ้าไม่รับการรักษาจะมีผลเช่นไร
- ค่าใช้จ่ายครอบคลุมตามสิทธิ์หรือไม่ ถ้ามีการรักษาที่เกินกว่าสิทธิ์จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าใด
- ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เป็น เกี่ยวกับอาการที่เป็น
- ถ้ามีปัญหา หรือ คำถามจะสามารถสอบถามได้จากใคร อย่างไร (เช่นจะติดต่อทีมที่ดูแลได้อย่างไร)
- ถ้าต้องการของความเห็นจากแพทย์ท่านอื่น คุณหมอแนะนำใครให้ได้หรือไม่

ขยายความเสียหน่อยกับคำถามเหล่านี้ครับ 3 คำถามแรกจำเป็นอย่างมากในการที่คุณจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลและรักษาเพื่อช่วยให้คุณหาข้อมูลที่เหมาะกับผู้ป่วยได้มากที่สุด คำถามที่ 4 - 6 นั้นจำเป็นสำหรับการตัดสินใจการรักษาและวางแผนการรักษา บ่อยครั้งที่เรามีการรักษาหลายอย่างที่ได้ผลกัน ดังนั้นการถามถึงทางเลือกอาจช่วยให้คุณเข้าถึงการรักษาที่เหมาะกับคุณมากที่สุด คำถามที่ 7 สำคัญมากเพราะเมื่อเกิดปัญหานอกโรงพยาบาลอาจช่วยลดความกังวลหรือลดความจำเป็นที่ต้องมาโรงพยาบาลได้

ส่วนคำถามสุดท้ายแม้จะดูไม่เหมาะสมในสังคมไทยแต่เป็นเรื่องปกติของต่างประเทศที่ผู้ป่วยสามารถขอความเห็นจากแพทย์ท่านอื่นได้ซึ่งเรียกว่า Second Opinion เพราะแพทย์แต่ละคนก็ไม่ได้มีความชำนาญหรือประสบการณ์ที่เท่ากัน โดยมากแพทย์สาขาอายุรกรรมโรคมะเร็งจะยินดีแนะนำแพทย์ที่เขาคิดว่าเหมาะสมที่สุดกับโรคของคุณในการหาความเห็นที่สอง บางครั้งแพทย์ท่านนั้นอาจเป็นธุระถามให้แทนก็ได้ครับ


2 หาสถานที่สำหรับการรักษา
คำถามที่เจอบ่อยมากคำถามหนึ่งคือ รักษาที่ไหนดี มาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรพิจารณาครับในการเลือกสถานที่รักษา

- โรงพยาบาลนั้นควรมีที่พักอยู่ใกล้ๆโรงพยาบาล
    บ่อยครั้งที่การรักษานั้นจะไม่จบด้วยแค่การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจจะต้องไปโรงพยาบาลเดือนละหลายครั้ง(โดยไม่ได้นอนค้างโรงพยาบาล) ไปจนถึงต้องมาโรงพยาบาลทุกวันราชการในกรณีฉายรังสี ดังนั้นระยะทางมีผลอย่างมากต่อการรักษา คิดดูง่ายๆว่าผู้ป่วยซึ่งมักจะแข็งแรงน้อยกว่าปกติ ต้องเดินทางแต่เช้ามืด นั่งรถนานๆ รอการตรวจและรักษาอีกหลายชั่วโมง จนกลับบ้าน ผู้ป่วยจะเพลียจากการเดินทางมากกว่าการรักษาเสียอีกครับ บางครั้งการรักษาต้องนอนโรงพยาบาลญาติอาจจะไม่สะดวกที่จะมาเยี่ยมบ่อยๆผู้ป่วยก็เฉาหรือเหงาได้ไม่น้อยครับ

- สิทธิ์การรักษา
    การรักษาโรคมะเร็งอาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักล้าน หากคิดจะไม่ใช้สิทธิ์ควรคิดให้ดีๆ เพราะอีกทางเลือกที่ดีกว่าคือใช้สิทธิ์เท่าที่มีและจ่ายเงินเพื่อการรักษาที่เกินกว่าสิทธิ์ครับ เว้นเสียแต่ว่าคุณมีเงินมากมายเหลือเฟือ การใช้สิทธิ์แม้แต่สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า(สามสิบบาท หรือ บัตรทอง) ประกันสังคม ก็ครอบคลุมในการรักษาส่วนใหญ่แล้ว

- คุณควรรู้จักโรงพยาบาลแห่งนั้นดีพอควร
    ในกรณีที่เลือกได้ โรงพยาบาลที่คุณรู้จักดีจะช่วยให้คุณสะดวกในการรักษาภายในโรงพยาบาล แม้ว่าคุณจะสามารถเรียนรู้กับโรงพยาบาลใหม่ทั้งหมดได้ก็ตามที เนื่องจากการักษาโรคมะเร็งมักต้องยุ่งเกี่ยวกับแผนกต่างๆของโรงพยาบาลมากมาย อาจต้องมีการติดต่อหลายที่ในวันเดียวกัน นอกจากนี้หากคุณคุ้นเคยกับโรงพยาบาลใดอยู่แล้วก็จะเข้าใจปัญหาหรือข้อจำกัดของโรงพยาบาลนั้นๆได้และสามารถเตรียมพร้อมแก้ปัญหานั้นๆได้ดีครับ

- โรงพยาบาลนั้นควรจะสามารถให้บริการฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง
    ปัญหาระหว่างการรักษาทั้งจากตัวโรคเอง จากการรักษา ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงหากโรงพยาบาลสามารให้การดูแลรักษาที่พร้อม 24 ชั่วโมงจะช่วยให้คุณอุ่นใจได้มาก อย่างไรก็ดีหากโรงพยาบาลที่คุณมีสิทธิ์อยู่อาจไม่พร้อมด้วยปัจจัยนี้ทางแก้ที่ดีคือ ถามจากโรงพยาบาลของท่านว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินควรไปโรงพยาบาลใด และ ขอข้อมูลสรุปของผู้ป่วยติดตัวไว้กรณีที่จำเป็น

- ชื่อเสียงของโรงพยาบาลและแพทย์ที่รักษา
    ปัจจัยข้อนี้คือปัจจัยที่สำคัญน้อยที่สุดครับเพราะชื่อเสียงของโรงพยาบาลไม่ได้รับประกันว่าคุณจะได้พบสิ่งที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันคุณจะต้องเผชิญกับปัญหาผู้ป่วยล้นมือ (ก็เพราะชื่อเสียงมันดี) ทำให้มีเวลาในการดูแลต่อตัวคนไข้ลดลงอย่างมาก มีโอกาสผิดพลาดมากขึ้น รอนานมากขึ้น เดินทางลำบากขึ้น โปรดอย่ากังวลหากโรคของคุณเกินความสามารถ หมอจะแนะนำให้ท่านไปโรงพยาบาลเหล่านั้นเองครับ
(ประสบการณ์ส่วนตัว ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งตรวจ 30คนต่อ 4 ชั่วโมง อีก โรงพยาบาลรัฐตรวจ 10คนต่อ 3 ชั่วโมง)

3 เตรียมพร้อมผู้ป่วยและญาติสำหรับการรักษา
ผู้ป่วยและญาติจะต้องเผชิญปัญหารอด้านเมื่อได้ทราบว่าเป็นมะเร็ง ไม่ว่าจะเรื่องจิตใจ เรื่องความเจ็บป่วยทางกาย เรื่องเงิน เรื่องเวลา(ของผู้ป่วยและญาติที่ต้องมาโรงพยาบาล) คำแนะนำกว้างๆเหล่านี้อาจช่วยคุณได้

- รู้เท่าทันและจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น
    ความรู้สึกเช่น โกรธ ผิดหวัง รู้สึกผิด เศร้าเสียใจ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นปรกติเมื่อคนเราได้รับทราบข่าวร้าย บ่อยครั้งเราจะไม่รู้ตัวว่าเรากำลังรู้สึกเช่นนั้น สิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นอาจจะเป็นคำถามเหล่านี้ก็ได้เช่น ทำไมเราต้องเป็นมะเร็ง นี่ถ้าเราดูแลรักษาตัวเองดีกว่านี้ก็คงไม่เป็นมะเร็ง เพราะ......เราถึงเป็นมะเร็งใช่มั้ย คำถามเหล่านี้เป็นการสะท้อนอารมณ์ที่รู้สึกขึ้นมาหากเรารู้เท่าทันมันก็จะช่วยให้ผ่านพ้นไปได้ การพูดคุยและระบายออกมาเป็นยาที่ดีอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่คนในครอบครัวมักจะไม่กล้าพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง อาจกลัวทำให้เสียใจ อาจกลัวทำให้กังวล แต่ในความเป็นจริงมันยิ่งสร้างบรรกาศที่แย่ลงไปในครอบครัว อย่างไรก็ดีการพูดคุยนั้นเราอาจเลี่ยงคำบางคำที่ผู้ป่วยไม่ต้องการก็ได้ ในหลายครอบครัวจะใช้คำว่า "มะ" "เนื้องอก" "ก้อน" แทนคำว่ามะเร็งโดยตรง
    การพูดระบายออกมากับแพทย์ที่ดูแลหรือทีมที่ดูแลก็อาจเป็นอีกทางที่ดีในกรณีที่ในครอบครัวยังไม่พร้อม หากความรู้สึกนั้นมันรบกวนจิตใจมากเกินไป แพทย์อาจช่วยเหลือด้วยยาหรือทีมงานที่ได้รับการอบรมในการจัดการปัญหาเหล่านี้ครับ จะมีบทความเพิ่มเติมในประเด็นเหล่านี้ในอนาคตแน่นอนครับ

- วางแผนเรื่องการเงิน
    ค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ได้มีเพียงการรักษาตัวโรคมะเร็ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นยังอาจรวมไปถึง ค่าเดินทาง ค่าอาหารเสริม ค่ารักษาที่เกินกว่าสิทธิ์ และ ค่าเสียโอกาส เช่น การที่ต้องลางานเพื่อมาดูแลรักษา จึงจำเป็นไม่น้อยที่ควรจะคิดวางแผนเรื่องการเงิน ค่ารักษาพยาบาลอาจถามจากแพทย์ที่รักษาได้ว่าประมาณเท่าไร ในช่วงระยะเวลา เท่าไร คำนวนการเดินทางที่สะดวกและประหยัด จัดการเรื่องงาน ในบางที่อาจปรึกษานายจ้างว่าสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้างเช่น ขอหยุดในวันที่ตรวจ(ซึ่งมักเป็นวันธรรมดา) แล้วทำงานชดเชยในวันหยุด บางที่อาจอนุญาตให้หยุดได้ แต่ระวังบางที่อาจไม่ชอบใจนัก
             หากคุณมีประกันต่างๆควรรีบปรึกษาว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะคุ้มครองหรือไม่ และหากเป็นไปได้ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนจะเกิดค่าใช้จ่ายจริง บางครั้งจะเห็นปัญหาว่าไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลเอกชนแต่ประกันไม่ครอบคลุมภายหลังทำให้มีหนี้สินปริมาณมากได้
    นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาระงานหรือการเงินที่ต้องดูแลควรรีบจัดหาผู้ดูแลแทนชั่วคราวหรือตลอดไป เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลปัญหาเหล่านี้ระหว่างการรักษา

- มีส่วนร่วมในการติดตามการรักษา
      สิ่งหนึ่งที่ยังไม่นิยมทำในบ้านเราคือการมีส่วนร่วมในการติดตามการรักษา เริ่มแรกที่ควรทำคือ การมีข้อมูลของผู้ป่วยเป็นของตนเอง มาดูกันว่าทำไมเราจึงควรมีข้อมูลของผู้ป่วยติดตัวไว้
1 หมอแต่ละแผนกมีการแยกข้อมูลที่เกี่ยวข้องของตนเอง การรวบรวมไว้ด้วยกันจะสะดวกต่อการดูย้อนหลัง หรือ ช่วยให้หมอต่างแผนกดูและเข้าใจง่ายขึ้น
2 บางครั้งเวชระเบียนอาจหาไม่เจอ หรือ สูญหายได้ การมีข้อมูลประจำตัวไว้จะช่วยคุณได้เป็นอย่างดี
3 หากจำเป็นต้องไปพบหมอคนใหม่จะช่วยให้หมอคนใหม่เข้าใจคุณและนำไปสู่การตัดสินใจแนะนำและรักษาที่แม่นยำที่สุด
4 ญาติที่ดูแลอาจจะมีการเปลี่ยนตัวในบางขณะ หรือในกรณีผู้ป่วยเด็กอาจจดจำรายละเอียดไม่ได้เมื่อโตขึ้น ข้อมูลตรงนี้อาจมีประโยชน์อย่างมาก
5 ในบางคนอาจเป็นมะเร็งมากกว่าหนึ่งครั้ง ข้อมูลของการรักษาในอดีตซึ่งอาจยาวนานจนเวชระเบียนถูกทำลายไปแล้ว อาจมีผลอย่างยิ่งต่อการรักษาในครั้งต่อมาครับ

อะไรที่ควรจะมีในแฟ้มประวัติส่วนตัว
1 รายละเอียดการวินิจฉัย (ตามคำถาม 1-3 ข้างต้น)
2 วันที่ของการวินิจฉัยและการรักษาต่างๆ
3 สำเนาของผลการตรวจต่างๆเช่นผล เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผลชิ้นเนื้อ
4 ข้อมูลการรักษาโดยละเอียดรวมไปถึง ชื่อยา ขนาดยา วิธีให้ยาเคมีบำบัด ขนาดของรังสี และตำแหน่งที่ฉาย
5 ผลการรักษาและผลข้างเคียง

ในบ้านเราอาจจะไม่สะดวกที่ทำเช่นนี้ ดังนั้นอาจขอให้แพทย์ของท่านสรุปให้เป็นระยะๆเมื่อสิ้นสุดการรักษาหนึ่งๆ ยกเว้นผลสำเนาที่ควรขออนุญาตทำสำเนาไว้ครับ


นี่คือรายละเอียดต่างๆที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นเผชิญหน้าคำว่ามะเร็งครับ มีรายละเอียดอีกมากซึ่งคงจะได้นำมาบอกเล่ากันต่อไปในโอกาสหน้าครับ

บทความเก่าๆ
http://ppantip.com/topic/30218427
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่