ศึกษา อนุปุพพิกถา ๕ ให้ดี ก่อนที่จะศึกษาอริยสัจ ๔ นะครับ

กระทู้สนทนา

อนุปุพพิกถา ๕



นั้นเป็นธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อฟอกอัธยาศัยของบุคคล   ผู้ฟังให้มีความประณีตขึ้นไปโดยลำดับ
ถ้าหากว่าผู้ฟังสามารถที่จะชำระกิเลสของตนให้เบาบางลงได้ ตามที่ทรงแสดงแล้ว ต่อไปก็จะแสดงอริยสัจ ๔

ธรรมะทั้ง ๙ ข้อนี้  จึงเรียกว่า พหุลานุศาสนี  คือพระธรรมที่พระองค์แสดงมากที่สุด เนื่องจากเป็นการค่อย ๆ  ขัดเขลาจิตใจของผู้ฟังไปโดยลำดับ แต่เวลาแสดงจริง ๆ นั้น ไม่จำเป็นแสดงครบหมดทั้ง ๕ ข้อ  ผู้ฟังสามารถจะเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติได้ในระดับใด ก็จะทรงแสดงไปในระดับนั้น

1. ทานกถา กถาว่าด้วยทาน คือการให้
                        1) ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
                        2) สัปบุรุษ ผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
                        3) เกียรติคุณของผู้ให้ทาน ย่อมขจรไป
                        4) ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
                        5) ผู้ให้ทานเมื่อล่วงลับไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
และเมื่อทรงแสดงทานไป ตามสมควรแล้ว อัธยาศัยของบุคคลพร้อมที่จะปฏิบัติธรรมเบื้องสูงขึ้นไปก็จะแสดงในเรื่องศีล

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
2. สีลกถา คือกถาที่ว่าด้วยคุณของศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย  ไม่มีโทษ
                            1) ผู้มีศีลย่อมได้โภคสมบัติ
                            2) เกียรติคุณอันงามของผู้มีศีล ย่อมขจรไป
                            3) ผู้มีศีลเมื่อเข้าไปในสมาคมใด ย่อมองอาจ กล้าหาญ  ไม่ครั่นคร้านขามเกรง ไม่เก้อเขินในสมาคมนั้น
                            4) ผู้มีศีล เมื่อจะตาย ก็ไม่หลงตาย คือมีสติตาย หรือตายอย่างมีสติ
                            5) ผู้มีศีล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
3. สัคคกถา คือ สวรรค์ แปลว่า อารมณ์เลิศ
                 - ซึ่งอาจหมายถึงสภาพชีวิตของบุคคลที่มีความสุขกายสบายใจ การมีคุณธรรมภายในใจของบุคคลผู้นั้น  เช่น มีหิริ มีโอตตัปปะอยู่ภายในใจ ชื่อว่าเป็นเทวดา

                 - ที่มุ่งหมายจริง ๆ นั้น หมายถึง ปรโลก  คือโลกที่บุคคลจะไปอุบัติบังเกิดด้วยผลแห่งกุศลกรรมที่เขาได้กระทำเอาไว้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
4. กามาทีนวกถา กถาว่าด้วยโทษแห่งกามทั้งหลาย
                 - เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประโลมใจผู้ฟังด้วยเรื่องสวรรค์ จนเกิดความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนานและปรารถนาที่จะเสพสุข ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า สวรรค์นั้นเป็นกามสุข แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ หรือเป็นทิพย์ก็ตาม

                 - แต่ว่าที่แท้จริงแล้วก็มากไปด้วยเวร มากไปด้วยภัย ทิพยสุขเหล่านั้น ก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แม้สวรรค์เองก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ควรจะไปหลงนิยมยินดี

                 - และทรงชี้ให้เห็นโทษของกามไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น  อุปมาเหมือนหัวฝีที่กลัดหนองบ้าง อุปมาเหมือนการถือคบเพลิงทวนลมบ้าง อุปมาเหมือนศีรษะอสรพิษ เมื่อบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวังอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตน  เปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อนาบไฟ   เปรียบเหมือนกับผลไม้ซึ่งเป็นที่ต้องการของสัตว์ทั้งหลายด้วย และก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเป็นต้น

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
5. เนกขัมมานิสงส์  คืออานิสงส์แห่งการออกจากกามว่าเป็นที่ปลอดเวรปลอดภัย ยุติเวรภัยด้วยประการต่าง ๆ มีความสงบมีความโปร่งเบา มีความเป็นอิสระ  ไม่ไปเกี่ยวเกาะผูกพันกับกามคุณทั้งหลายมากเกินไป

                 การออกเพื่อคุณอันใหญ่นั้น คนในโลกนี้ก็มีอยู่  ๔ ประเภทคือ

                       1) กายก็ไม่ออก ใจก็ไม่ออก หมายถึงคนที่มัวเมาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย

                       2) กายออก แต่ว่าใจไม่ออก หมายถึงคนที่ออกบวชเป็นนักบวชประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว แต่ว่าใจก็ยังหมกมุ่นวุ่นวายครุ่นคิดอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย

                       3) ใจออก แต่กายไม่ออก หมายถึงคนที่แท้จะอยู่ในบ้านในเรือน  แต่ว่าจิตใจไม่เกี่ยวเกาะห่วงใยอาลัย โหยหาถึงกาม จิตใจของบุคคลนั้นก็เป็นอิสระจากกามทั้งหลาย กามไม่สามารถจะโยกคลอนสร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของท่านได้   แม้จะอยู่ในบ้านในเรือนก็ตามแต่ว่าจุดประสงค์ในพระพุทธศาสนานั้น ก็เน้นไปที่เป้าหมายสูงสุด

                       4) ออกทั้งทางกายและใจ คือกายตนเองก็ออกไปจากการเกี่ยวเกาะกับวัตถุกามทั้งหลาย จิตใจก็จะไม่หมกมุ่นคิดห่วงใยอาลัยหาอยู่กับวัตถุกามนั้นอีกต่อไป ท่านที่จะออกจากกามได้ทั้งกายและใจเช่นนี้จำต้องอาศัยการปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ

จากนั้นก็จะทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการเป็นลำดับไป.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพื่อฟอกจิตของตัวเอง ก๋อนที่ท่านจะ ศึกษาธรรมะชั้นสูง เช่น อริยสัจ ๔ เป็นต้น ควรที่จะเพียร ศึกษา อนุปุพพิกถา ๕ เสียก่อน มากบ้าง น้อยบ้างก็ยังดี

ทาน, ศีล, คุณของกาม, โทษของกาม, และอานิสงส์แห่งการออกจากกาม (หรือประโยชน์ที่ได้จากการภาวนา)

http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/BUDDA/A-nu-pu-pi-ka-ta5.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่