คุณมั่นใจหรือว่าจะเอาชนะ “กระแสเปรียบเทียบ” บนโลกนี้ได้?

คุณมั่นใจหรือว่าจะเอาชนะ “กระแสเปรียบเทียบ” บนโลกนี้ได้?


E-Mail : siam_shinsengumi@hotmail.com
Facebook : Siam Shinsengumi

“ขอยกตัวอย่างจริงๆ นะครับ ผมเคยทำโครงการจุฬาชนบท เราให้ทุนนักเรียนยากจน ผมต้องลงพื้นที่ เอาเด็กมาติวเข้มช่วงซัมเมอร์ มีเงินเดือนด้วยนะ สมัยนั้น 2 พันบาทต่อเดือน เด็กก็ดีใจ กินนิดเดียวที่เหลือส่งกลับบ้าน แต่ถามว่าล้มเหลวตรงไหนครับ คือมีรายหนึ่งมาจากอีสาน จนมาก แต่อยากเรียนพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เราก็ติวให้ แล้วเขาก็ได้เข้าเรียนจริงๆ แต่ท้ายที่สุดล้มเหลวครับ
เราให้โอกาสเขาได้เรียน เพิ่มโอกาสให้เขา แต่ล้มเหลวเพราะ เด็กบัญชีของเรา ใครอยู่ที่นี่คงรู้ดี กระเป๋าใบนึงเท่าไหร่ รองเท้าแบรนด์เนมเท่าไร เขาล้มเหลวครับ คือสายตาที่มองเขา มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เด็กพาณิชยศาสตร์ของเรา นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก”
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.naewna.com/scoop/38690 (ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน - ความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย “แข่งขันเข้มข้น”  ใช่คำตอบจริงหรือ? – สกู๊ปหน้า 5 นสพ.แนวหน้า วันที่ 23 ม.ค.2556)
-------------------------------------

2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกลังเลว่าจะเขียนหรือไม่เขียนดี หลังจากที่กระแส “เสรีภาพส่วนบุคคล” มาแรงเหลือเกิน โดยเฉพาะประเด็นทรงผมและเครื่องแบบนักเรียน ที่ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ รมว.ศึกษาธิการ (คุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา) ประกาศยกเลิก “ข้อบังคับ” เรื่องทรงผมเกรียนและติ่งหูของนักเรียนไทย ตามมาด้วยกระแสทั้งสนับสนุน และต่อต้าน ขณะที่ผมเอง ณ เวลานั้น ยังรู้สึกท้อแท้ เพราะแนวร่วมสาย Conservative + Meritocracy ค่อยๆ แผ่วลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับฟาก Liberal ที่โตวันโตคืน แต่ท้ายที่สุดผมก็ต้องเขียนครับ ไม่งั้นมันรู้สึกคาใจ และไม่สบายใจ (เข้าขั้นหงุดหงิด ฟุ้งซ่านด้วยซ้ำ-ผมเป็นโรคจิตแบบนี้แหละครับ อยู่เงียบๆ แล้วอีดอัด)

ก่อนอื่น กลับไปดูย่อหน้าบนอีกรอบ ผมใช้คำว่า “ยกเลิกข้อบังคับ” เพราะจริงๆ แล้ว กฏหมายหรือกฏกระทรวงที่บังคับให้นักเรียนต้องไว้ “เกรียน-ติ่งหู” นั้นไม่มีมาตั้งนานแล้ว ถ้าอ้างประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับแก้ไขปี พ.ศ.2518 ก็ระบุเพียงว่า “นักเรียนชายไว้ผมยาวด้านข้างและด้านหลังได้ไม่เกิน Teen ผม” (ขอใช้ภาษาคาราโอเกะ เพราะไม่รู้ว่าเว็บมันจะ censor หรือเปล่าถ้าใช้ภาษาไทย) และ “นักเรียนหญิงไว้ผมยาวห้ามเกินต้นคอ แต่ถ้าสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวกว่านั้นได้ ก็ให้รวบให้เรียบร้อย” ดังนั้นทรงผมเกรียนแบบขาว 3 ด้าน หรือติ่งหูกะลาครอบ จึงเป็นเพียงข้อบังคับที่ทำกันจนเคยชินเท่านั้น และแน่นอน ผมต้องขอชมเชยท่าน รมต. ที่ไปถามราชบัณฑิตยสถานว่า “Teen ผม” มันคือขนาดไหน ทำให้ปิดโอกาสพวกที่อยากเรียนร้องผมทรงประหลาดๆ หรือทำสีผม เพราะหมดสิทธิ์อย่างแน่นอน (สะใจเป็นการส่วนตัว ตามประสา Conservative)

กลับมาที่ประเด็นทรงผม-เครื่องแบบนักเรียน ฝ่ายที่ไม่อยากให้มี บ้างก็บอกว่าปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก บ้างก็บอกว่าไม่สามารถฝึกระเบียบวินัยได้ บ้างก็บอกว่าไม่สามารถแก้ปัญหาการเปรียบเทียบกันในหมู่เด็กนักเรียนได้ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้ ผมดูจากบรรดาความคิดเห็นบนโลกออนไลน์แล้ว ประเด็นการลดการเปรียบเทียบกันของเด็กนักเรียน เป็นประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนทรงผม-เครื่องแบบ ให้น้ำหนักมากที่สุด ดังนั้นผมจะขอพูดถึงประเด็นนี้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แน่นอน “ผมสนับสนุนให้ยังมีต้องมีทรงผม-เครื่องแบบต่อไป”

สมัยผมยังเป็นเด็ก ผมนั้นผ่านทั้งสังคม ร.ร.เอกชน (ในวัยประถม) และ ร.ร.รัฐบาล (ในวัยมัธยม) ทั้ง 2 แบบ แม้ว่าทั้ง 2 สถานศึกษาที่ผมผ่านมานั้นจะไม่ใช่โรงเรียนเกรด S หรือ A ในเมืองใหญ่ แต่เป็นเพียงเกรด B เท่านั้น ก็ยังพบว่า..แม้จะมีการสวมเครื่องแบบนักเรียน แต่ก็ยังมีการอวดกันในสิ่งอื่นๆ ตั้งแต่ยี่ห้อรองเท้า เชื่อว่าคนที่อายุ 25 ขึ้นไป น่าจะจำกันได้ ว่าเด็กฐานะล่างๆ จะใส่รองเท้ายี่ห้อ N (ซึ่งสมัยนั้นจะไม่มีแถมของเล่น) ส่วนเด็กฐานะปานกลางขึ้นไป จะใส่รองเท้ายี่ห้อ B หรือ P หรือ S (ซึ่งสมัยนั้นมีแถมของเล่นแปลกๆ ใหม่ๆ ทุกปีที่เปิดเทอม และของเล่นพวกนี้ก็เอามาอวดกัน ก่อนจะโดนครูยึดไว้ - -!) , ยี่ห้อชุดนักเรียน ไปจนถึงกล่องดินสอและอื่นๆ ที่เป็นอุปกรณ์การเรียน และพอมายังสมัยมัธยม ยุค พ.ศ.254X ในสมัยนั้นมือถือยังไม่แพร่หลาย แต่ที่แพร่หลายมากมี 2 สิ่งที่มีราคา คือ “เพจเจอร์” ใครจำกันได้บ้างครับ หนุ่มๆ ส่งข้อความไปจีบสาวผ่าน Operator หรือบางทีสาวๆ ก็ส่งข้อความหวานๆ มาหาหนุ่มที่คุณเธอแอบชอบ (ส่วนผมเป็นพวกที่อิสตรีทั่วหล้ารังเกียจ จึงไม่เคยมี ปสก. พวกนี้ T_T) กับ “ทามาก็อตจิ” เกมกดเลี้ยงมอนสเตอร์ ต้องเขย่า ต้องคอยให้อาหารมันตามเวลา จำได้ไหมครับ สมัยนั้นใครพกเจ้า 2 สิ่งนี้ ดูเก๋ โก้ ไฮโซ ยังไม่นับเป้สะพายยี่ห้อ Outdoor ที่หนุ่มคนไหนสะพาย รับรองเพิ่มความหล่อได้มากทีเดียว

เห็นไหมครับ..นี่ขนาดสมัยนั้น Option ยังไม่มาก แต่เด็กมันก็ยังพยายามจะเอาของพวกนี้มาอวดกัน และวันนี้เวลาผ่านไป 10 ปี นอกจากการอวดกันแบบนี้จะไม่ลดลงแล้ว มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ดังที่เราได้ยินข่าวกันว่า มือถือ S ตัวท็อป ราคาและสมรรถนะพอๆ กับมือถือ I แต่เยาวชนวันนี้ไม่สน S จะเอา I อย่างเดียว เพราะใช้แล้วเท่ ล้ำ (ท่านศาสดาเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว โดยทิ้งลัทธิของท่านให้สาวกสืบทอดต่อไป) และไม่ต้องพูดถึงมือถือที่ราคาต่ำกว่านั้น เด็กมันไม่สนใจ ไม่เอา จะต้องโวยวาย อ้อนให้พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อให้ และก็ได้จนได้..ด้วยความรักลูกของพ่อแม่ อย่างที่เพลงของน้าแอ๊ด-เจ๊ปานเขาว่า “สุดท้ายต้องพามันไปซื้อ ลูกมีมือถือ แม่ทำงานมือพัง” (บัวผัน-คาราบาว,ปาน ธนพร)

ผมไม่รู้จะโทษใคร พ่อแม่ หรือตัวเด็ก เพราะด้วยความเป็นเด็กมาก่อน จำได้ว่าหลายกรณีก็รู้สึกอิจฉาคนอื่นๆ เหมือนกัน อย่างตอน ม.ปลาย อยากได้มอเตอร์ไซค์ แต่พ่อไม่ยอมซื้อให้ ซึ่งเพื่อนในกลุ่มผมมีกันเกือบทุกคน (เป็นเด็กแวนซ์มันเท่ มีสาวสก๊อยซ้อนท้ายด้วย และวันนี้ก็ยังไม่เลิกอิจฉาวัยรุ่นพวกนี้ครับ เอิกๆ ^_^) พอไม่มี บางทีมันก็อึดอัด มันดูไม่เท่ หรือมือถือเครื่องแรกของผมคือ Nokia 3310 (พ.ศ.2545) ขณะที่คนอื่นเวลานั้น ใช้ Nokia 8210 หรือ 8310 (8210 เท่ด้วยความบาง ส่วน 8310 มีวิทยุ FM ซึ่งล้ำหน้ามากในสมัยนั้น) แน่นอนว่าพอโตมา แม้ปากจะบอกว่าไม่อิจฉาใคร แต่ใจของสารภาพ..บางครั้งผมก็อิจฉาคนมีรถหรูๆ ใช้มือถือแพงๆ กินร้านอาหารดีๆ และมีสาวงามเคียงข้างอยู่เหมือนกัน (สงสัยเพราะแบบนี้ ผมถึงเกลียดนโยบายรถคันแรก เพราะวันนี้ผมยังต้องโหนรถเมล์-รถไฟฟ้าไปทำงานอยู่ ขณะที่พรรคพวกในกลุ่ม ออกรถมากันทุกคนแล้วครับ)

ดังนั้นผมจึงเข้าใจว่า การต้องทนอยู่ในสังคมที่คนรอบข้างเขามีของดีๆ แพงๆ ใช้ โดยเฉพาะถ้าเป็นวัยรุ่นแล้ว มันเป็นเรื่องที่ “ทรมาน” มาก เพราะเราจะเหมือน “คนนอก” ทันที แม้จะอยู่ร่วมกับผู้คนมากมายก็ตาม ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมหลายคนถึงบอกว่า “ถ้าท่านไม่รวย อย่าให้ลูกเรียน ม.เอกชน” ไม่ใช่ ม.เอกชนสอนไม่ดีนะครับ แต่สิ่งที่ท่านต้องจ่าย มันมากกว่าแค่ค่าเทอม แต่รวมถึงแฟชั่น เครื่องแต่งตัว Option ต่างๆ ถ้าไม่มีตรงนี้ ลูกท่านจะเป็นปมด้อยทันที (ซึ่งตรงนี้จะไปล้อกับบางคณะเช่นบัญชี-บริหารธุรกิจ อย่างตัวอย่างข้างต้น ที่แม้จะเป็นจุฬาฯ ก็ยังไม่พ้นการแบ่งชนชั้น และที่น่าสังเกตคือสาวๆ 2 คณะนี้ ทุกสถาบันไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ล้วนแต่งตัวเก่ง ใช้ของแพงเหมือนกันหมด)

และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะสอนลูกหลานให้ “อยู่ได้โดยไม่กลัวการเปรียบเทียบทางวัตถุ” เพราะการสอนเด็กคนหนึ่งนั้น เป็นอะไรที่ “ปัจเจก” สุดๆ คือต้องทุ่มทั้งเวลา ความรู้ และความใส่ใจอย่างที่สุด และต้องไม่มากไปจนเป็นการบังคับขู่เข็ญ หรือน้อยเกินไปจนเป็นการตามใจจนเสียนิสัย ดังนั้นจึงมีเด็กที่ถูกหล่อหลอมให้มีสภาวะจิตเช่นนี้เป็นผลสำเร็จได้น้อยมาก เพราะความเป็นจริง จะหาพ่อแม่ที่ใส่ใจแบบนี้ได้ยาก เพราะด้วยภาวะค่าครองชีพสูง ทำให้ต้องทำงานหาเงินทั้งวันทั้งคืน (คนรวยก็ทำงานหนักแบบหนึ่ง คนชั้นกลาง-ล่าง ก็ทำงานหนักอีกแบบหนึ่ง แต่ทุกชนชั้นส่วนใหญ่ให้เวลากับงานมากกว่าครอบครัว) อย่าว่างั้นงี้เลยครับ..พ่อแม่วันนี้ผลักภาระให้ครูรับผิดชอบทั้งหมด ทั้งที่ครูมีเวลากับเด็กไม่กี่ ชม. ต่อวัน นอกนั้นอยู่นอกโรงเรียน รวมถึงต้องรับผิดชอบเด็กหลายสิบหลายร้อยคน โดยพ่อแม่ไม่เข้ามาร่วมพูดคุยประสานงานด้วยเลย แต่พอเด็กทำผิด เกิดปัญหา ก็โทษกันแต่ครูฝ่ายเดียว

นี่แหละครับ ด้วยความเป็นจริง ที่พ่อแม่ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่รอบข้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ไม่สามารถสอนให้ลูกหลานของท่านมีภูมิคุ้มกัน “กระแสเปรียบเทียบ” แบบนี้ได้ และยิ่งไม่มีวันเป็นไปได้เลย ที่จะทำให้มนุษย์เลิกเปรียบเทียบกัน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ “กลัวการรั้งท้าย” ดังนั้นถ้าได้เห็นคนที่ด้อยกว่า ก็จะทำให้ตัวเองรู้สึกดี..ว่าอย่างน้อยตัวเองก็ไม่ใช่คนที่แย่ที่สุดในสังคมนั้นๆ ตั้งแต่อนุบาล-ประถม เราอวดเครื่องเขียน , มัธยม-มหา’ลัย เราอวดเครื่องแต่งกาย-เครื่องประดับ , วัยทำงาน เราอวดเครื่องแต่งกาย-เครื่องประดับ-ตำแหน่งงานที่ทำกับรายได้-Connection กับคนใหญ่คนโต , และวัยมีลูก ก็มาอวดกันว่าลูกฉันเกรดเท่านี้ สอบเข้าที่นี้ได้ ฯลฯ บลาๆๆ พูดง่ายๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย คุณถูกเปรียบเทียบทุกเรื่อง ทุกวัย..หนีมันไม่พ้น

ด้วยเหตุทั้งหมดทั้งปวง ผมจึงยังสนับสนุนให้บ้านเรา ยังต้องคงเครื่องแบบและทรงผมไว้เช่นเดิม เพราะไม่งั้น การแข่งขันจะมากขึ้น (ดูจากวัยมหา’ลัยจนถึงวัยทำงาน ที่ไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องเครื่องแต่งกายมาก ปรากฏว่าประชันกันสุดฤทธิ์) หากแต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยน ให้มันดูเข้ายุคสมัยมากขึ้น แต่ยังคงดูสุภาพเช่นเดิม เหมือนกับที่ทรงผมนักเรียน ผู้ชายอนุญาตให้ไว้รองทรงได้ ผู้หญิงไว้ยาวได้แต่ต้องรวบให้เรียบร้อย แต่ยังห้ามไว้ทรงแปลกๆ นอกเหนือจากนี้ หรือไว้หนวดเครารุงรัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นระเบียบมาตรฐานที่ข้าราชการทุกหน่วยพึงปฏิบัติอยู่แล้ว

การแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม เพราะฐานะเรามันสู้เขาไม่ได้ มันน่าเจ็บปวดนะครับ จำกัดกันไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน ถึงจะห้ามไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ควบคุมกันไว้ไม่ให้มากเกินไป

พบกันใหม่เดือนหน้า..เดือนแห่งความรัก (สำหรับผมมันคือเดือนแห่งความปวดร้าว) ครับ
.............................................

Siam Shinsengumi
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 9
เราขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ

    คือเรารู้สึกว่าคนที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมมักจะเข้าใจไปเองว่า ตัวเองมีสิทธิและอำนาจเหนือร่างกายและจิตใจของผู้อื่น โดยอ้างว่า "เพราะว่าเราหวังดีต่อคุณและสังคม" ด้วยความหวังดีอันนี้พวกคุณก็เลยทึกทักเอาเองว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะบงการ ร่างกายและจิตใจของคนอื่นยังไงก็ได้ เช่น ต้องตัดผมเกรียน ต้องแต่งเครื่องแบบ ซึ่งร่างกายที่จะต้องตัดผมเกรียนและแต่งเครื่องแบบนั้น ไม่ใช่ร่างกายของคุณมันเป็นร่างกายของคนอื่น
    เรามีความรู้สึกว่าคนพวกนี้ชอบคิดแทนคนอื่น เช่น กลัวเด็กมีปมด้อยเพราะเพื่อนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีราคาแพงกว่า เราว่าดีซะอีกให้เด็กได้เห็นโลกที่แท้จริงว่าความเท่าเทียมมันไม่มีจริงหรอก อยากสบายเหมือนเพื่อนก็สมควรจะต้องรีบตั้งใจเรียนแล้วขยันทำงานให้ได้เหมือนกับพ่อแม่ของเพื่อน ที่สามารถส่งเสียเลี้ยงดูเพื่อนเราได้ขนาดนี้
    ดังนั้นการที่เด็กจะแต่งกายอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเด็กคนนั้นไม่ใช่เรื่องของคุณ และก็เป็นเรื่องที่เด็กคนนั้นจะต้องอยู่ในสภาพแบบนั้นให้ได้

ต้องขอโทษไว้ก่อนนะคะที่ความคิดเห็นอาจจะดูก้าวร้าวไปบ้าง ขออย่าได้ถือสาหาความเลยนะคะ ขอบคุณคะ
ความคิดเห็นที่ 23
มองต่างมุม

คิดว่าพวกอนุรักษ์นิยมนั่นแหละคือต้นตอของค่านิยมแบ่งชนชั้นวรรณะ เหยียดเชื้อชาติ และบ้าวัตถุนิยม ต่างหาก
ถ้าคุณจะว่าพวกเสรีนิยม จริง ๆ แล้วเสรีนิยมต่างหากที่จะทำลายเรื่องเหลวไหลไร้สาระพวกนี้ เช่น แบ่งวรรณะ บ้าแบรนด์เนม คลั่งเจ้า คลั่งชาติ คลั่งศาสนาความเชื่อ คลั่งประเพณีเผด็จการ ฯลฯ

ลัทธิบ้าเจ้าขุนมูลนายในรั้วในวัง ซึ่งส่งผลออกมาสู่ประชาชนไทยคือ การบ้าการมีคนใช้ในบ้าน จริง ๆ คือเขาเป็นลูกจ้างทำงานบ้าน แต่คนไทย
เรียกว่า "คนใช้" นี่แหละคือผลสะท้อนด้านจิตวิทยาที่พวกอนุรักษ์นิยมปลูกฝังและถ่ายทอดมากจากชนชั้นวรรณะ เริ่มจากพวกขุนนางและคนชั้นปกครองข้างบน ที่ชอบระบบทาส คือมีคนที่ด้อยกว่าและไม่มีวันจะได้ดีมารับใช้ทำงานต่ำ ๆ เหล่านี้คือมันสะสมในจิตสำนึกแห่งความมีวรรณะชนชั้นมาแต่โบราณ  

ง่าย ๆ คือทำให้คนกลุ่มอนุรักษ์นิยมเหล่านี้รู้สึกว่า ถ้าคนระดับล่างได้อยู่ดีกินดีหรือมีโอกาสก้าวหน้าในชีวิตขึ้นมากแล้ว หรือมีชีวิตที่ดีแล้ว จะหาทาสหรือคนใช้ที่ไหนมารับใช้ตัวเองได้อีก หรือจะหาคนด้อยกว่าที่ไหนมาเปรียบเทียบให้ตัวเองดูสูงส่งกว่าได้มาก ๆ อีกต่อไป
ความคิดเห็นที่ 7
ต้องสร้างเด็กให้รู้คุณค่าในตัวเองให้ได้ แล้วปัญหาจะไม่เกิด ไม่ว่าจะเรียนชั้นไหน เพื่อนมีแค่ไหน สังคมมีแค่ไหน เค้าจะไม่นอยด์ไปกะมัน

เราเป็นเด็กที่ถูกสร้างมาให้รู้คุณค่าของตัวเอง เราบ้านจนแต่บังเอิญได้เรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อนรวยๆ มากมาย แต่ไม่มีใครกดเราลงได้ เพราะเราไม่เคยกดตัวเองลง

คนรวยนิสัยดีมีเยอะแยะ ถึงเราไม่บ้าจี้วิ่งตามจะใช้วัตถุแบบที่เค้ามีเค้าใช้ เค้าก็ยังเห็นเราเป็นเพื่อนสนิทเค้ากันนะ ส่วนคนไหนนิสัยไม่ดีก็ปล่อยมันไปเถอะ อย่าไปลดตัวเองลงไปคบกะมันเลย
ความคิดเห็นที่ 49
อ่านจนตาลาย ..

ความเห็นเรานะ ไม่ต้องยกเลิกหรอก ผมสั้นน่ะดีแล้ว ใส่ชุดนักเรียนยิ่งดี
ตอนเราเด็กๆ บ้านอยู่ชุมชนแออัด หนังสือเรียน มาถึงเรา ก็มือห้าพอดี
มองในแง่ดีนะ ต้องมีสมาธิในการเปิดอ่าน มิฉะนั้น หนังสือแตกคามือ
ไม่ต้องขีดไฮไลท์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพี่คนโตขีดสีน้ำเงิน คนที่สองขีดสีแดง
คนที่สาม ที่สี่ ก็แล้วแต่จะจินตนาการกันไป   ไม่ต้องแยกแยะอะไร เพราะมันเละเทะไปหมด
ชุดนักเรียนยิ่งแล้วใหญ่  เพราะบ้านเรามีพี่สาวคนโต  ต่อมาพี่ชายอีกสาม แล้วค่อยเป็นเรา
เสื้อนักเรียนที่เราใส่ แม่จะไปขุดจากกรุที่สลบไสลมาแล้วอย่างน้อยสี่ปี
พี่เราอ้วน เราดันผอม สมัยนั้น ซื้อครั้งเดียวใส่จนเรียนจบ
เราเป็นไม้แขวนเสื้อที่เกือบจะแขวนเสื้อไม่ได้
กระโปรงก็หลวมโครก..ต้องเอาเข็มกลัดมากลัดแล้วกลัดอีก
ยาวมาก ก็พับเอวแล้วพับเอวอีก
พี่สาวใส่อนุกาชาด  รร.เราดันใส่ยุวกาชาด
แม่บอกว่า ให้ไปถามครูว่า ใส่อนุฯ ได้มั๊ย
ครูบอกว่า "ได้"   (เป็นคำตอบที่สะเทือนใจอย่างแรง)
นึกถึงวันนั้นสิ  วันที่ทั้งโรงเรียนใส่ยุวกาชาดกันฟ้าทั้งโรงเรียน
เราใส่อนุฯ สีขาวอมเหลือง ตัวใหญ่โฮก  เดินคอตกๆ อับอายขายหน้า
เรียนกันไปอย่างนั้นแหล่ะ  ไม่ได้โวยวายอะไรกับแม่
น้ำตาก็ไม่ไหลนะ  (อาจมีสะเทือนใจนิดหน่อย หึ หึ)
แต่เชื่อสิ  มันสอนอะไรให้เรานะ
ทุกอย่างที่เป็นความรันทด อึดอัดคับข้องใจ
มันให้บทเรียนที่ดีกับเราเสมอ

จากย่อหน้าข้างบน คงเข้าใจได้ใช่มั๊ยว่า
สำหรับเราแล้ว เรื่องทรงผมเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย

ถ้าถามว่า ให้ย้อนอดีตไปมีเสื้อขาวๆ  มีชุดยุวฯ มั๊ย
เฮ้ย.. ไม่ต้องหรอก  แบบนี้แหล่ะ  มันน่าจดจำดี

ดันมาสอบเข้าได้คณะที่หรูสุดอีก บัญชีไง อยู่แถวสามย่าน
เราก็จนไป (ตามฟอร์ม)   มองในแง่ดีนะ
เราไม่ต้องแย่งที่จอดรถใคร  เลยไม่มีศัตรู

คนเรามีความสามารถในการปรับตัวนะ
ของพวกนี้ มันเป็นทักษะ ฝึกมากได้มาก
ตอนอยู่ประถม ก็เจ็บช้ำแบบเด็กประถม
วัยกลางคน ก็จะได้ทนเจ็บช้ำเรื่องใหญ่ๆ ได้ไง

ตอนนี้ มีเงินฟุ่มเฟือยได้สบายๆ
ก็ยังทำตัวจนเหมือนเดิม
ใครจะมองยังไงก็ช่าง
เราชอบซะอีกนะ จะได้รู้ว่า ธาตุแท้ใครเป็นยังไง

พล่ามซะยืดยาว
คนเราควรอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

กระแสเปรียบเทียบ เราหนีไปพ้นหรอก
แต่เชื่อเถอะ  เรื่องแบบนี้ ฝึกกันได้
ความคิดเห็นที่ 28
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่