คุณเชื่อข้อมูลใครระหว่างฮุนเซน vs อภิสิทธ์เรื่องส่งสุเทพไปเจรจาลับผลประโยชน์ทางทะเลกับฮุนเซน

กระทู้โพล
มติชน

จำนวนคนอ่านล่าสุด 6286 คน
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 00:44 น. ข่าวสดออนไลน์

เขมรออกคำแถลงจวก "มาร์ค"

รายงานพิเศษ

ท่ามกลางปัญหา ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา เรื่องเขาพระวิหาร ที่ปะทุขึ้นรอบใหม่

ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะเริ่มไต่สวนการตัดสินในเดือนเม.ย.นี้

ขณะที่กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ชุมนุมต่อต้านศาลโลกต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 13-14 ม.ค. ที่จ.ศรีสะเกษ ล่าสุด เป็นการชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา

ในวันเดียวกัน สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ให้สัมภาษณ์โจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โยงกัมพูชาเข้ากับประเด็นการเมืองในไทย

พร้อมระบุ การปะทะกันเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องพื้นที่เกิดในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หากแต่นายอภิสิทธิ์และเครือข่ายยังมีความพยายามก่อให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

วันเดียวกับที่สมเด็จฮุนเซนให้สัมภาษณ์ สำนักคณะรัฐมนตรี กองการข่าว และปฏิกิริยาฉับพลัน ประเทศกัมพูชา ก็ออกแถลงการณ์ถึงคำให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุนเซน

พร้อมแผยแพร่แถลงการณ์ของการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ที่มีเนื้อหาระบุกรณีการขอเปิดเจรจาลับกับรัฐบาลกัมพูชา ในยุคของนายอภิสิทธิ์

สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศกัมพูชา ได้แปลเอกสารดังกล่าวเป็นภาษาไทย รายงานมายังกระทรวงการต่างประเทศ

มีเนื้อหา ดังนี้

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ
(คำต่อคำ)
ราชอาณาจักรกัมพูชา
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สำนักคณะรัฐมนตรี
กองการข่าว และปฏิกิริยาฉับพลัน

ที่ 001/13 สถก. ปบห.

แถลงการณ์
กองการข่าว และปฏิกิริยาฉับพลัน

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2556 นี้ ในพิธีมอบเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ประชาชนที่ อ.โอฤเส็ย อ.เซียมโบก จ.สตรึงแตรง สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล (OCA) กัมพูชา-ไทย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเกียรติยศของประเทศชาติ และชี้แจงนโยบายต่างประเทศของกัมพูชาที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

สมเด็จฮุนเซน ได้กล่าวย้อนหลังเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ว่า ตลอดมาอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้เชื่อมโยงกัมพูชากับปัญหาการเมืองภายในไทยอย่างไม่หยุดยั้ง

และพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มคนสุดโต่ง (เกินเหตุ) เสื้อเหลืองของไทย มักกล่าวหาและโยนความผิดอื่นๆ ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเร้นกับกัมพูชา ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

แต่ในความจริงกลับเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ ที่ได้ใช้นโยบายสกปรก โดยสั่งการให้อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเจรจาลับๆ กับสมเด็จฮุนเซน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลไทยชุดที่แล้วได้เจรจากันในปัญหานี้อย่างเปิดเผย

เกี่ยวกับปัญหาที่มีความสำคัญเช่นนี้ กองการข่าว และปฏิกิริยาฉับพลัน มีหน้าที่ ความจำเป็นในการเผยแพร่แถลงการณ์ของการปิโตรเลียมแห่งชาติ กัมพูชา ที่ได้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2554 อีกครั้ง

ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างชาติได้รับทราบอุบายอันเลวร้าย และนโยบายสกปรกอย่างที่สุดของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ ในการโฆษณาหลอกลวงประชาชนชาวไทยและชาวกัมพูชา รวมทั้งสาธารณชนต่างชาติ เกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา-ไทย และพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่มีเนื้อหาดังนี้

การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้คำสั่งและการกำกับดูแลของรัฐบาลกัมพูชา มุ่งมั่นและตั้งใจอย่างยิ่งในการหาทางออก ด้วยความเสมอภาค และโปร่งใส ในปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล

รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อเดือนมิ.ย. 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้กำหนดพื้นที่ที่ต้องกำหนดการแบ่งเขตทางทะเล (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area)

บันทึกความเข้าใจปี 2544 ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษความตกลงเท่านั้น แต่ทั้งสองประเทศได้ใช้งบประมาณและเอาใจใส่อย่างมากในการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิค (JTC) คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค และคณะทำงานอีก 2 คณะ เกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเลและพื้นที่พัฒนาร่วมกัน

การอธิบายดังกล่าวยังไม่รวมถึงการวิจัยเชิงวิชาการและกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกร้องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลระหว่างสองประเทศ

การหารือและการเจรจาระหว่างสองประเทศได้รับผลลัพธ์ที่ดีหลายประการในระหว่างปี 2554-2550 และทั้งสองประเทศได้มีข้อเสนอ 2 ข้อสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (JDA) คือ ข้อเสนอก้าวข้าม (Break-Through Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 3 ส่วน (Three-Zone Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายไทย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ไม่มีการประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการด้านเทคนิค อย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้ประสานมายังรัฐบาลกัมพูชา เพื่อทำการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลหลายครั้ง

ได้แก่ การพบปะระหว่างสมเด็จฮุนเซน กับอดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย นายสุเทพ และอดีตรมว.กลาโหมของไทย พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา

และการพบปะลับระหว่างนายสุเทพ กับรองนายกรัฐมนตรี สุข อาน ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 และต่อมาที่เมืองคุนหมิง วันที่ 16 ก.ค. 2553

ซึ่งระหว่างการพบปะกันนั้น นายสุเทพได้แสดงความจำนงอยากแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นภายในวาระสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยการพบปะเจรจาลับทำขึ้นตามการร้องขอของอดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ ที่ได้ยืนยันว่าเป็นคำสั่งการและได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์

ซึ่งกัมพูชาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเจรจาลับ เนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ทุกการเจรจาล้วนทำขึ้นอย่างเปิดเผย แต่กลับถูกกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จึงต้องเจรจาลับ และประชาชนไทย หรือส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทราบเรื่องการเจรจาลับนี้หรือไม่

ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบันคือนายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศเกี่ยวกับความโปร่งใสตลอดจนกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ทำงานอย่างเปิดเผยกับกัมพูชาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกัมพูชา และกีดขวางการดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐบาลชุดใหม่ของไทยกับรัฐบาลกัมพูชา

ดังนั้น กัมพูชาจึงมีความจำเป็นต้องเผยความลับนี้เพื่อปกป้องกัมพูชา และพ.ต.ท.ทักษิณ จากการใส่ร้ายของพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้พบหารือ หรือมีข้อเสนอใดกับรัฐบาลกัมพูชาในการแก้ไขพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ไขข้อพิพาทเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตัวตามการ กล่าวหาของนางอานิก อัมระนันทน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีขึ้นระหว่างการอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 23-24-25 ส.ค. 2554

รัฐบาลกัมพูชาพร้อมและยินดีต่อการเริ่มต้นเจรจาอย่างเปิดเผยและอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปัญหานี้ และสานต่องานนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศทั้งสองต่อไป

ราชธานีพนมเปญ วันที่ 21 ม.ค. 2556
กองการข่าว และปฏิกิริยาฉับพลัน
สำนักคณะรัฐมนตรี

การให้สัมภาษณ์ตอบโต้ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่แปลกใจการพูดจาของผู้นำกัมพูชา ซึ่งตนพูดความจริงเสมอ ไม่เคยพูดต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง ซึ่งคนจำนวนมากก็ทราบถึงความน่าเชื่อถือของสมเด็จฮุนเซน

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะอธิบายว่า 1.สมเด็จฮุนเซนสับสนเรื่องกรอบเวลาและข้อ เท็จจริง หรือแกล้งสับสนก็ไม่ทราบ เพราะกรณีที่วิจารณ์เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณมีผลประโยชน์ทรัพยากรในทะเล เรื่องแก๊สและน้ำมันนั้น เนื่องจากพ.ต.ท. ทักษิณเคยสนใจทำธุรกิจนี้ 2.หลักฐานในวิกิลีกส์เขียนถึงความสนใจของพ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ามาทำตรงนี้ และ 3.ในแถลงการณ์ของกัมพูชาวันนี้ยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐบาล ไปเจรจาเรื่องนี้ ทั้งที่ขณะนี้เอ็มโอยูเรื่องนี้ยังถูกแขวนอยู่ ซึ่งการเรียกหาหลักฐาน ต้องดู 3 เรื่องนี้ก่อน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในรัฐบาลพรรคประชา ธิปัตย์ เคยไปพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล แต่พูดอย่างโปร่งใส ซึ่งตอนที่เริ่มต้นรัฐบาลพยายามเรื่องพระวิหารและเรื่องเขตแดนที่ยืนยันมาตลอดจะต่อสู้ทุกเวที แต่ไม่เคยยกเลิกการพัฒนากรอบความร่วมมือ โดยมอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในฐานะอดีตรองนายกฯ ไปเจรจา แต่เมื่อกัมพูชากับไทยมีปัญหามากขึ้น ก็นำเอ็มโอยูปี 2544 เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมาดู รวมทั้งมีคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาและหลายฝ่ายศึกษาเรื่องนี้เห็นว่าเอ็มโอยูดังกล่าวนำไปสู่ความเสียเปรียบหรือไม่ถูกต้อง จึงเสนอให้ยกเลิก แต่กระบวนการยกเลิกยังไม่เสร็จ เพราะต้องเข้าสภา และก่อนเข้าสภา กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าถ้ายกเลิกตัวเก่า ควรมีกรอบเริ่มต้นตัวใหม่อย่างไร แต่ยังไม่เสร็จเท่านั้น ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนและไม่ได้โกหกประชาชน เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครเชื่อสมเด็จฮุนเซนบ้าง แต่คิดว่ารัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยคงจะเชื่อ

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้คนไทยฉุกคิดว่าในภาวะที่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนอยู่ การที่รัฐบาลที่เป็นคู่กรณีกับเรา พยายามกล่าวหาฝ่ายค้าน เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามหยิบมาเป็นเงื่อนไขตอบโต้ฝ่ายค้าน มันบ่งบอกว่าสมเด็จฮุนเซน ไม่พอใจรัฐบาลที่แล้ว เพราะเขาไม่ได้อย่างที่ต้องการ แต่การที่เขาไม่ได้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลที่แล้วไม่รักษาความสัมพันธ์ เราไม่ให้ดินแดน สู้เต็มที่ เขาก็ไม่พอใจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรแสดงความชัดเจนว่าจะเดินไปตาม กรอบเอ็มโอยูเดิมหรือไม่ หรือจะตั้งต้นหาเอ็มโอยูใหม่ ทั้งนี้อยากย้อนถามสมเด็จฮุนเซน การที่ว่าตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัพลังงาน แล้วพ.ต.ท.ทักษิณมีหรือไม่ ความจริงสมเด็จฮุนเซน ควรตอบคนกัมพูชาด้วยว่าตัวเองมีหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงหารือเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารว่า เชื่อมั่นว่าคนที่ทำงานจะต้องปกป้องประโยชน์ของชาติ และฝ่ายนโยบายจะต้องสนับสนุน และกล้าแสดงจุดยืนที่จำเป็น ทั้งนี้รัฐบาลต้องปรับท่าที เพราะที่ผ่านมาสังคมรับไม่ได้กับท่าทีของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ในการต่อสู้คดี

"ทุกย่างก้าวของสมเด็จฮุนเซน มีเป้าหมาย เวลานี้คิดว่าการที่เขาเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ต่อสู้หรือแสดงจุดยืนที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งอ้างว่ามีสัมพันธ์ พยายามจะโยงเป็นเรื่องการเมืองว่ารัฐบาลที่แล้วทำให้ความสัมพันธ์ไม่ดี จุดนี้ทำให้เขาได้เปรียบและตอกย้ำ ถ้ารัฐบาลไทยรับลูกไปอีก ก็เป็นการไปช่วยกัมพูชา ดูให้ดีว่ารัฐมนตรีคนไหนไปคิดเรื่องการเมืองในประเทศมากกว่าคิดปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม" นายอภิสิทธิ์กล่าว
1.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่