ค่าแรง 300 สู่ความท้าทายใหม่

กระทู้ข่าว
ภาคเอกต่างออกมาประณามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องมาถึงวันนี้ เพราะตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 ได้มีการประกาศใช้ใน 7 จังหวัดนำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว และก็ไม่เห็นว่าใน 7 จังหวัดที่ขึ้นค่าแรงไปก่อนนั้น จะมีผลกระทบอะไร

การขึ้นค่าแรงครั้งนี้ มาพร้อมกับการที่ภาครัฐ ลดภาษีนิติบุคคลให้เหลือ 20% รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว ยกระดับความสามารถในการผลิตของตนเองให้ก้าวขึ้นสู่อีกระดับของอุตสาหกรรม เพราะถ้าคุณไม่ปรับตัว คุณจะอยู่ในวังวนกับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น วันๆ เฝ้าแต่รอสิทธิพิเศษทางการค้า มาตรการช่วยเหลือ โดยไม่ปรับตัวเอง สักวันแม้จะไม่มีค่าแรง 300 บาท คุณก็ต้องพ่ายแพ้ตัวเอง เพราะการอยู่เฉยๆ คือการปล่อยให้คนอื่นวิ่งแซงหน้า

ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เคยตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับประเทศไทยที่เป็นแรงงานให้กับโลก แต่เมื่อภาครัฐมีนโยบายการในขับเคลื่อนประเทศอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในประเทศเหล่านั้นถูกถ่ายโอนมายังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงไทย ที่การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงยี่สามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เกิดจากการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อผลิตสินค้าป้อนกับผู้บริโภคทั่วโลก

การเติบโตของเศรษฐกิจ กำไรที่เจ้าของธุรกิจเคยได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของกิจการคุ้นชิน ไม่กล้าก้าวออกจากพื้นที่แห่งความสบายหรือ COMFORT ZONE ของตนเอง แต่ปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่จะทำให้ประเทศตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการเป็น MIDDLE INCOME TRAP COUNTRY คือประเทศที่ยังว่ายวนอยู่กับการใช้แรงงานราคาถูก ไม่สามารถผลักดันให้ตัวเองทะลุกับดักค่าแรงเหล่านั้นเพื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจอีกวงล้อหนึ่งได้

ปัจจุบัน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี ความรู้ขั้นสูง ทักษะของแรงงานสูง แน่นอนที่ผลตอบแทนสูง ความกินดีอยู่ดีก็จะสูงขึ้นตามมา ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทย ต้องตัดใจส่งต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศอื่น แล้วหันไปหาท้องสมุทรสีฟ้าอันกว้างใหญ่ว่า มีอะไรที่ท้าทาย เพื่อยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นไปกว่าที่เคยเป็น

เรื่องปัญหาค่าแรง 300 บาทที่วนเวียนและก่นด่ากันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนถูกนำเสนอมาจากมุมมองของนายทุนทั้งสิ้นว่าพวกเขาจะอยู่ไม่ได้อย่างไร แม้แต่ทีวีสาธารณะที่ก่อนหน้านี้ปวารณาตนเองเพื่อดูแลคนที่ด้อยกว่าในสังคม กลับโจมตีการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยหลายสิบล้านคน โดยแค่เอาโรงงานที่ปิดกิจการมาเป็นข้อวิจารณ์

ลองนึกถึงหัวใจคนที่ใช้แรงงานกันบ้าง ต้องถามว่าคนที่วิจารณ์นโยบายนี้ได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำงาน 26 วันต่อเดือน ก็ได้ประมาณ 7,800 บาทเท่านั้น คนที่วิจารณ์นโยบายค่าแรง สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเพียงเท่านี้หรือไม่ อย่าเอาความเป็นตัวตนและอภิสิทธิ์ชนมากดขี่คนไทยด้วยกันเองอีกต่อไปเลย ที่ผ่านมาการที่ค่าแรงในประเทศเดียวกัน ยังไม่เท่ากัน ก็ถือว่าเป็นการกีดกันคนไทยด้วยกันเองอยู่พอสมควรแล้ว คิดง่ายๆ นะครับว่าจังหวัดที่ค่าแรงถูกกว่า แต่ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ของใช้ในชีวิตประจำวัน แทบจะไม่ต่างกัน

การที่ทุกจังหวัดค่าแรงเท่ากัน ทำให้ลดการย้ายถิ่นฐาน ทำงานที่ไหนก็ได้ค่าแรงเท่ากัน ก็เท่ากับว่าไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดไปหางานในเมืองใหญ่ ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวก็จะมีมากขึ้น และอาจช่วยลดบรรยากาศแออัดตามช่วงเทศกาลที่คนจะแห่กลับบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย
เปิดใจกว้าง และยอมรับการเปลี่ยนแปลง คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จครับ

ธีรัตถ์ รัตนเสวี
8 มกราคม 2556 เวลา 14:37 น.
CR, ที่มา : ค่าแรง 300 สู่ความท้าทายใหม่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่