ใส่ใจ ‘ท้องผูก’ แก้อย่างไรให้ถูกวิธี และ ‘โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก’ คร่าชีวิตคนไทยแล้วมากถึง 4 หมื่นราย

ท้องผูกคือการทำงานผิดปกติของลำไส้ ทำให้เกิดปัญหากับระบบการขับถ่าย ส่งผลกระทบกับร่างกาย หรืออาจนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆตามมา

ปัญหาการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งรวมถึงอาการท้องผูก สามารถส่งผลกระทบกับร่างกาย หรืออาจนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆตามมา เราจึงควรใส่ใจพร้อมกับหาทางแก้ไขอาการดังกล่าว

“โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับลักษณะอาการและวิธีแก้ไขอย่างถูกต้อง โดย “ท้องผูก” คือการทำงานผิดปกติของลำไส้ซึ่งมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ

1) ถ่ายยากต้องเบ่งมากกว่าปกติ

2) ถ่ายอุจจาระแข็ง

3) ถ่ายไม่สุด

4) รู้สึกเหมือนมีอะไรมาอุดปลายทวาร

5) บางครั้งต้องใช้นิ้วล้วงอุจจาระออก

6) ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์


โดยมีอาการที่กล่าวมาอย่างน้อยร้อยละ 25 ของการขับถ่าย และเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ควรระวังว่าอาการท้องผูกดังกล่าว หลายครั้งอาจเกิดจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และยังไม่เคยรับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หรือมีอาการถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความจำเป็นในการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่

สาเหตุของอาการท้องผูก

– ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

– รับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำ

– ขาดการออกกำลังกาย

– โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ภาวะไทรอยด์ต่ำ โรคทางระบบประสาท

– ความเครียด และการใช้ยาบางประเภท


รักษาอาการท้องผูกอย่างถูกวิธี

– รับประทานอาหารที่มีกากใยทุกมื้อ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ถั่ว

– ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น

– หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้

– หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างถูกต้อง

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/4672144/



เปิดอาการ‘โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก’ คร่าชีวิตคนไทยแล้วมากถึง 4 หมื่นราย

 

รัฐบาลเตือนรู้เท่าทันสัญญาณอันตราย‘โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติก’ก่อนสายเกินแก้ พบคนไทยเสียชีวิตมากถึง 4 หมื่นราย

4 พฤษภาคม 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า "โรคลิ้นหัวใจ" คือโรคเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจเอออร์ติก แบ่งอาการออกเป็นดังนี้  แบบที่ 1 คือ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ลิ้นหัวใจมีลักษณะแคบลงเปิดไม่สุดและกีดขวางการไหลเวียนปกติของเลือด แบบที่ 2 ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทและมีเลือดไหลย้อนกลับห้องหัวใจ   สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวนี้มากถึง 4 หมื่นราย

นอกจากนี้ข้อมูลทางการแพทย์บ่งชี้ว่าอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ โดยเฉพาะ "โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ" เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น ลิ้นหัวใจเอออร์ติกก็อาจเสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการสะสมของแคลเซียมที่ลิ้นหัวใจ จนทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น แข็งขึ้น และเปิดได้ไม่เต็มที่ ส่งผลทำให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลง

สำหรับอาการของโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ จะมีอาการ เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืดเป็นลม มีอาการใจสั่นหรือเจ็บหน้าอก ข้อเท้า เท้าบวม และหัวใจเต้นผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หาก  ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

              แพทย์จะมีการพิจารณาในการเลือกชนิดของลิ้นหัวใจเทียมที่เหมาะสมสำหรับที่จะใส่ทดแทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งจะให้เลือกด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่
1. ลิ้นหัวใจชนิดโลหะ (Mechanical valve)

และ 2. ลิ้นหัวใจชนิดเนื้อเยื่อ (Tissue valve) ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันไป โดยจะพิจารณาเปลี่ยนลิ้นหัวใจตามมาตรฐานสากล

“โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ สามารถป้องกันได้มากถึง 80% โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลัก 4อ. 2ส. 1น. ดังนี้ อาหาร เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม อารมณ์ ควบคุมอารมณ์ ความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ออกกำลังกาย ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือสะสม 150 นาทีต่อสัปดาห์ อากาศ หลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศและอากาศที่มีฝุ่นควัน ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  นอนหลับ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวันการตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันหรือรักษาติดตามการเกิดโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบและหลอดเลือดได้ดีในระยะยาว ดังนั้น ประชาชนกลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-59 ปี สามารถตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ได้จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือประกันสังคมตามสิทธิการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นายอนุกูล ระบุ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่