JJNY : เท้งแนะแก้ไฟป่า-ช้างป่า│กัณวีร์ จับตาทักษิณ ลง 3 จังหวัดใต้│ขัดแย้งกันแต่ไม่ค่อยจริงจัง│เตือนไทยตอนบนอากาศแปรปรวน

เท้ง แนะรัฐแก้ไฟป่า-ช้างป่า ‘เป็นระบบ’ ชูตั้งทีมอาสาฯ ให้ค่าตอบแทน-สวัสดิการ หนุนอุปกรณ์ 
https://www.matichon.co.th/politics/news_5061775
 
 
‘ณัฐพงษ์’ หัวหน้าพรรคประชาชน ลุยติดตามสถานการณ์ไฟป่า – ช้างป่ากาญจนบุรี จี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
 
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วยคณะทำงานจังหวัดพรรคประชาชน จังหวัดกาญจนบุรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่า อำเภอสังขละบุรี และปัญหาช้างป่า อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
 
โดย นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ในช่วงเช้าผมได้เดินทางมายังอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่ารุดเข้าทำลายพืชผลการเกษตรและบ้านเรือนพี่น้องประชาชนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา
โดยแนวทางการแก้ไขช้างป่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการขยายตัวของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องอนุรักษ์สัตว์ป่าการแก้ไขปัญหาจึงต้องอย่างเป็นระบบ โดยต้องแบ่งการบริหารจัดการในระยะสั้นก่อน เพื่อนำไปสู่ระยะกลางและยาวต่อไป
 
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะสั้นควรปรับหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาให้เป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่า พร้อมชูตั้งทีมอาสาป้องกันช้างป่าในทุกหมู่บ้านรอบชายป่า และการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการให้กับทีมอาสารวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นและมีมาตรฐานในการควบคุมช้างป่า เช่น ไฟส่องสว่าง และอุปกรณ์อื่นๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการ
 
ในระยะกลางรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเร่งจัดหาเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามดูแลช้าง เช่น ปลอกคอ GPS โดรนจับความร้อน กล้องจับภาพสัตว์ รวมถึงการพัฒนาระบบ GIS และการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลช้างป่าในพื้นที่
 
และในระยะยาวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำแผนการจัดการช้างป่าให้อยู่ร่วมกับคนได้ เช่น การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ช้างป่าให้ชัดเจนเพื่อให้ชุดปฏิบัติการในพื้นที่มองเห็นทิศทางในการผลักดันช้างป่าไปในทางเดียวกันรวมถึงรัฐอาจมีอาจมีนโยบายในการจ้างให้ชาวบ้านไปปลูกพืชที่ใช้เป็นแหล่งอาหารช้างในบริเวณที่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างออกมาบุกรุกในที่ดินทำกินของเกษตรกรในอนาคตได้อีกด้วย
 
 
ทั้งนี้ในเบื้องต้นตนได้สั่งการให้พรรคประชาชนจังหวัดกาญจนบุรีได้มีการตั้งคณะทำงานช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกันระหว่างพรรคประชาชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อช่วยกันผลักดันข้อเสนอและมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องครับ
โดยณัฐพงษ์ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงบ่ายตนได้เดินทางมาที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อติดตามวิธีและการวางแผนทำแนวกันไฟของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่อำเภอสังขละบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากไฟป่าไม่ต่างจากจังหวัดทางภาคเหนือแต่ประชาชนสะท้อนว่าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก ตนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ติดตามปัญหาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีด้วย
 
และท้ายนี้ตนได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่ว่าขณะนี้สิ่งที่มีความต้องการมากสุด คือ วัสดุอุปกรณ์ในการทำแนวกันไฟ เช่น น้ำมันใส่เครื่องเป่า ไฟฉาย ฯลฯ และอาหารแห้งสำหรับการเดินทางเข้าป่าส่วนเรื่องกำลังคนขณะนี้ไม่มีปัญหามากเพราะเครือข่ายภาคประชาชนมีความเข้มแข็งซึ่งภาครัฐต้องเร่งพิจารณาสนับสนุนในส่วนของค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้โดยอาจอุดหนุนงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดและเผชิญกับปัญหาหน้างานในขณะนี้



กัณวีร์ จับตาทักษิณ ลง 3 จังหวัดใต้ รอบ 20 ปี งัดโครงการพาคนกลับบ้าน เตือนรบ.ใช้ 66/23
https://www.matichon.co.th/politics/news_5061523

กัณวีร์ จับตาทักษิณ ลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ รอบ 20 ปี งัดโครงการพาคนกลับบ้าน เตือนรบ.ใช้ 66/23 ต้องฟังคำพื้นที่ให้มาก – ทำเข้าใจคำว่า พหุวัฒนธรรม 
 
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง เอาจริงเหรอกับการคืนชีพ 66/23 ในพื้นที่ปาตานี และมาดูกันกับการกลับมาของคุณทักษิณในรอบเกือบ 20 ปี โดยมีเนื้อหาดังนี้ 
 
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายภูมิธรรม เวชยชัย และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จะจูงมือกันลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตารางแน่นเอี้ยดตั้งแต่เช้าจนเย็น ไปพบปะพูดคุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา และการศึกษา เพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้จงได้
 
ที่เห็นจากการใส่ตำแหน่งคุณทักษิณนี่ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะที่ปรึกษาประธานอาเซียน และเชื่อมกับหัวข้อ “การพัฒนา” มันเลยสะท้อนให้เห็นมิติที่ถูกวางไว้ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะพยายามเน้นการพัฒนาให้มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ เพราะใครๆ ก็ชอบการพัฒนาทั้งนั้น และการที่มีความมุ่งหมายมากๆ ที่จะใช้อาเซียนมาทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น
 
แต่มั่นใจขนาดนั้นเลยหรือ?
 
ก่อนอื่นคงต้องตีโจทย์ให้แตกว่าการพัฒนาที่จะใส่ในสมการของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมันตอบโจทย์คนในพื้นที่หรือไม่ การมีส่วนร่วมและการได้รับข้อมูลของคนในแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นมากๆ ต่อการสร้างการพัฒนาที่ถูกจุดและเหมาะสมกับบริบทท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่และรูปแบบการดำรงชีวิต
 
อย่าเอาการพัฒนารูปแบบมหภาคจากส่วนกลางทุ่มลงไปนะครับ มันจะผิดจุดเหมือนปี 2547 ที่ทุ่มงบทันทีสำหรับโครงการ/แผนงานด้านการพัฒนา 9,000 ล้านบาท หลังเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เพราะมันเหมือนกับเอาเงินไปโยนแล้วให้ส่วนราชการเอาโครงการมาใส่โดยไม่ศึกษาตรวจสอบจากคนท้องถิ่นเสียก่อน ว่าความต้องการที่แท้จริงคืออะไร
 
ผมจำได้แม่น เพราะต้องไปดูแผนงาน/โครงการด้านความมั่นคง 3,000 ล้านบาท ในเวลาเดียวกันนั้นเอง และสมัยนั้นคุณทักษิณก็เป็นนายกฯ “จริงๆ” ด้วย
ศอ.บต. เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีเพราะมีข้อมูลทั้งแผนงาน/โครงการการพัฒนาที่ต่อเนื่องมา 20 กว่าปี หากเอาข้อมูล 2 ทศวรรษนี้มาทำการวิเคราะห์ให้ดีว่าแผนงาน/โครงการไหนที่มันไม่ตอบโจทย์ ทำแล้ว ทำเล่า และยังทำต่อไป นี่ก็ยุติได้ สามารถผันเงินไปทำอย่างอื่นที่ทำให้การพัฒนามันสามารถมาต่อยอดสู่สันติภาพที่ยั่งยืนได้ต่อไป
 
ช่วงนี้ผมหูแว่วบ่อย แว่วมาว่า แนวทางนโยบาย 66/23 จะถูกนำกลับมาใช้ ซึ่งก็คือคนที่กลับเข้ามาร่วมพัฒนาชาติไทย ในช่วงการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ แต่คงต้องเอามาอาบน้ำแต่งตัวกันใหม่ให้ตอบโจทย์ต่อปี 2568 และเหมาะสมกับพื้นที่ปาตานีนะครับ
 
ถ้าจะนำนโยบาย 66/23 มาใช้ คำถามคือ “จะพาใครกลับบ้าน“ หมายรวมถึงใคร BRN อย่างเดียวหรือคนในพื้นที่หรือใคร บริบทคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อนกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. มันต่างกันชนิดมืดฟ้ามัวดิน แค่คิดออกมาก็หลงทางแต่แรกแล้ว จึงอยากรู้ว่า ใครเป็นคนคิด สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ รองนายกรัฐมนตรี

แปลกมากหากเป็น รองนายกฯ ภูมิธรรม เพราะตัวเองก็อยู่ในช่วง 66/23 ใช่มั้ยครับ “สหายใหญ่” มันคนละเรื่องกันเลย หากเป็น สมช. นำและเสนอนี่ ผมจะเสียใจกับบ้านหลังนี้ของผมมาก เพราะทั้งๆ ที่ตัวเองทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายมาตลอดเวลา ทำไมถึงเสนอเรื่องนี้มาให้รัฐบาล ท่านต้องเสนอว่า รัฐบาลชี้ธงมาว่าอยากให้ทำอะไร แล้วจะไปเร่งการจัดทำนโยบายที่เหมาะสมมาให้ ต้องให้การเมืองรับผิดชอบให้มากครับ“
 
แต่ความดื้อและไม่ฟังของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ตนจึงจะขอดักไว้ก่อนว่า หากเอามาใช้จริงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงบริบทกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่มีอยู่ และรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ยังถูกนำมาใช้หากไอ้ตัว 66/23 เวอร์ชั่นใหม่มันออกมาจริง
 
หากดึงดันเอามันออกมาและปรับใช้จริงๆ และดันมีผู้เห็นต่างเข้าร่วมจริงๆ อย่างช่วงคอมมิวนิสต์ในช่วงอดีตนั้น ขอแจ้งในแง่มุมกฎหมายว่า มันก็จะมีกฎหมายอื่นๆ ที่บังคับและจำกัดไม่ให้การ “เข้าร่วม” นี้เป็นการเข้าร่วมแบบเท่าเทียมและจริงใจ มันจะมีกฎหมายซ้อนกฎหมายอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดตามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐต่อผู้เข้าร่วม การจำกัดบริเวณพื้นที่ที่สามารถอยู่อาศัย การติดกำไล EM ฯลฯ
 
แต่กลับกันมันจะไม่มีการสนับสนุนด้วยกฎหมายต่างๆ จากการไปจำกัดสิทธิของพวกเค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยาจากการจำกัดพื้นที่ที่อาศัยหากไม่สามารถทำงานได้ ผลกระทบทางจิตวิทยาสังคมต่อครอบครัว เป็นต้น คงยังมีรายละเอียดอีกเยอะครับที่ต้องศึกษากันให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
 
แต่หากเป็นไปได้ ปล่อย 66/23 ให้อยู่ในประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า มันเป็นเครื่องมือในช่วงต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เถิด ซึ่งปัจจุบันยังมีการเรียกร้องของพี่น้องที่เข้าร่วมโครงการ “พาคนกลับบ้าน” ว่ายังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้อยู่อีก
 
การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปาตานีคงไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการพาณิชย์เท่านั้น แต่ต้องพูดเรื่องการพัฒนาทางสังคม ระบบและกระบวนการยุติธรรม และการพัฒนาการตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเสียด้วย และที่สำคัญหากจะพูดเรื่องการพัฒนา มันต้องเป็นแบบ bottom up น่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ จชต. มากที่สุดครับ
 
ฟังเค้าให้เยอะ เข้าใจบริบทของความหลากหลายให้เยอะ ตอบสนองต่อความเท่าเทียมกันให้มาก เข้าใจและทราบซึ้งความหมายของคำว่า “พหุวัฒนธรรม” ได้อย่างแท้จริงครับ
 
เมื่อเมื่อสองวันที่แล้ว เจอปราชญ์ท้องถิ่นผู้ที่ตนนับถือมากๆ แบนายิบ บอกว่าหากยังไม่เข้าใจคำว่าพหุวัฒนธรรมอย่างง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง ยังไงก็จับหัวใจของการสร้างเอกภาพบนความหลากหลายไม่ได้ “นล จำไว้ ภาษา อาหาร และการแต่งกาย
 
จึงฝากไปถึง คนที่จะลงไปทำงานในพื้นที่ทุกท่าน

https://www.facebook.com/NolKannavee/posts/pfbid0nMWpjgyBgjX9GeTRqmPxNGWYTYsbzNDG1y4rY7SkdEitvKLATMsfRE2BNSf321zel
 

 
"นิด้าโพล" เผยประชาชนมอง "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย" ขัดแย้งกันแต่ไม่ค่อยจริงจัง เชื่อสุดท้ายตกลงกันได้
https://siamrath.co.th/n/603157
 
วันที่ 23 ก.พ.68 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “เพื่อไทย VS ภูมิใจไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยในช่วงที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.85 ระบุว่า มีความขัดแย้งกัน แต่ไม่ค่อยจริงจังเท่าไร รองลงมา ร้อยละ 32.91 ระบุว่า มีความขัดแย้งกันอย่างจริงจังพอสมควร ร้อยละ 17.40 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งกันเลย ร้อยละ 10.38 ระบุว่า มีความขัดแย้งกันอย่างจริงจังมาก และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่