แฉ ‘บอร์ดแพทย์’ แดนสนธยา งบ 70,000 ล้านใครห้ามแตะ ‘บอร์ด สปส.’ แค่อนุมัติตาม!?

การออกมาแฉของ ‘ไอซ์ รักชนก’ พรรคประชาชน ถึงความไม่โปร่งใสในประกันสังคม เรียกว่าออกมาถูกจังหวะ สามารถบีบ ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รมว.แรงงาน ที่กำลังจะแต่งตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่แทนชุดเดิม ต้องมีตัวแทน ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ นั่งเป็นบอร์ด สปส.ฝ่ายผู้ประกันตน เข้าไปเป็นกรรมการด้วย เพราะบอร์ดแพทย์ถือเป็นแดนสนธยา มีหน้าที่กำหนดทิศทางงบ 70,000 ล้านต่อปี แถมมีผลประโยชน์ทับซ้อนใช่หรือไม่?  

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน’กรรมการ สปส. ระบุมีการเสนอให้ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเข้าไปนั่งถูกปฏิเสธทุกครั้ง อีกทั้งยังเล่นตลกยอมให้ไปนั่งชุดอนุกรรมการฯ แต่ไม่มีอะไรเป็นสาระ ส่วนการเสนอของบอร์ดแพทย์ เพื่อให้บอร์ด สปส.อนุมัติทำแบบมัดมือชก ถ้าไม่อนุมัติผู้ประกันตนถูกลอยแพ หวั่นหากเสนอให้ สปสช.เข้ามาดูแลด้านรักษาพยาบาลเพื่อให้ได้สิทธิเทียบบัตรทองและบางส่วนมากกว่า เชื่อถูกเตะตัดขาจากบอร์ดแพทย์ เพราะเกี่ยวพันผลประโยชน์จริงหรือไม่ ต้องจับตา!!

การออกมาแฉด้วยการตั้งคำถามถึงการใช้งบประกันสังคมแบบไม่ชอบมาพากลของ น.ส.รักชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ทำให้สังคม โดยเฉพาะผู้ประกันตน 24 ล้านคน ได้รับรู้ว่า ‘เงิน’ ของพวกเขาถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ ตั้งแต่ทริปดูงานต่างประเทศ นั่งเฟิสต์คลาสที่พักราคาระดับ 5 ดาว รวมทั้งมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินปีละ 70 ล้านบาท หรือโครงการที่ส่งกลิ่นเหม็น คือการทำ Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้าน 850 ล้านบาท และความจริงที่ปฏิเสธได้ยาก ซึ่งมีการนำเสนอมาอย่างต่อเนื่องว่าเหตุใดจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน แต่ทำไมสิทธิประโยชน์ในการรักษาไม่เท่าบัตรทองหรือด้อยกว่าบัตรทอง! จนดูเหมือนว่าประเด็นปัญหาจะอยู่ที่คณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดแพทย์) เป็นสำคัญ
“บอร์ดแพทย์คือคนที่เคาะว่า ประกันสังคม จะให้สิทธิผู้ประกันตนรักษาอะไรได้เท่าไหร่บ้าง เป็นผู้กำหนดทิศทางเงิน 70,000 ล้านต่อปี ว่าจะถูกใช้ไปกับโรคไหน ใช้ได้กี่บาท”
 
อย่างไรก็ดี กลไกที่ทำให้ข้อมูลต่างๆ พรั่งพรูออกมาให้สังคมได้รับรู้ น่าจะมาจากการที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม : บอร์ด สปส.) ที่มีทั้งตัวแทนของฝ่ายผู้ประกันตน และฝ่ายนายจ้างเข้าไปอยู่ในบอร์ด สปส.ซึ่งมีกรรมการฝ่ายนายจ้าง 7 คน ฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน และฝ่ายรัฐ 7 คน รวม 21 คน

ที่สำคัญข้อมูลต่างๆ ถ้ารับรู้กันแค่ภายในบอร์ด สปส. และบอร์ดแพทย์ โอกาสจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนน่าจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการออกมาแฉของ “ไอซ์ รักชนก” จึงถือว่าเป็นผลดีและคุณูปการต่อผู้ประกันตนทั้ง 24 ล้านคน โดยเฉพาะสิ่งที่ “ไอซ์ รักชนก” พูดย้ำถึงบอร์ดแพทย์ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีแรงงานทั้ง 16 คน ซึ่งมีหน้าที่เสนอนโยบายด้านการแพทย์ต่อบอร์ด สปส. กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา ระยะเวลารับประโยชน์ทดแทน พร้อมให้คำแนะนำทางการแพทย์ รวมทั้งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ใช่หรือไม่?

สำหรับการออกมาโหมกระหน่ำของ ‘ไอซ์’ ถือว่ามาได้จังหวะ เพราะบอร์ดแพทย์กำลังจะหมดวาระ 2 ปี ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ และกำลังจะมีการตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่!
 
นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) บอกว่า ตัวเขาและกรรมการ สปส.อยากให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลจากบอร์ดแพทย์ที่มีการประชุมทุกครั้ง แต่ในความเป็นจริงพวกเราไม่เคยรู้เรื่องอะไร ยกเว้นเมื่อบอร์ดแพทย์ต้องการจะนำเรื่องนั้นๆ ที่พวกเขาได้ข้อสรุปมาขอมติจากบอร์ดใหญ่ คือบอร์ด สปส.จึงจะรู้เรื่อง

“เรื่องที่มาขอส่วนใหญ่จะมีผู้ประกันตนได้ประโยชน์ และมีโรงพยาบาลเอกชนได้ประโยชน์พ่วงไปด้วย เช่น สิทธิในการรักษาเฉพาะทาง มีแค่บางโรงพยาบาลรักษาได้ ก็จะเป็นโรงพยาบาลเอกชนนั่นแหละที่มีเครื่องมือพร้อม เช่น การผ่าตัดหน้าท้องกับคนไข้บางเคสมีบ้าง การผ่าตัดโรคอ้วนก็มีบ้าง แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ หรือเรื่องของการขยายวงเงินการรักษา บอร์ดแพทย์ชอบมัดมือชก เช่น การรักษาในโรคร้ายแรง ประกันสังคมกำหนดอยู่
ที่ 12,000 บาทต่อเคส แต่ถ้ามากกว่านั้นก็ขอได้ แต่บอร์ดแพทย์เปิดประเด็นให้ขอแบบ Unlimit คือไม่จำกัด ไม่มีที่สิ้นสุด หากบอร์ดใหญ่ไม่อนุมัติตามวันที่กำหนดจะไม่มีการทำสัญญาระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับประกันสังคม เท่ากับเอาเงื่อนไขนี้มาบีบ จะลอยแพผู้ประกันตนเป็นหมื่นๆ คน”

ประเด็นอยู่ที่ว่า สิ่งที่บอร์ดแพทย์จะเสนอเข้ามานั้น กรรมการ สปส.จะรู้เรื่องก่อนแค่ 1-2 วันเท่านั้น คือทำทุกอย่างกระชั้นชิด!
“ใช่สิ่งที่บอร์ดแพทย์เสนอ แม้ผู้ประกันตนได้ประโยชน์ แต่ย้อนดูนะ โรงพยาบาลเอกชนได้ประโยชน์กว่าหรือไม่ โดยเฉพาะถ้ามีเอกชนแห่งนี้เท่านั้นที่มีเครื่องมือรักษาได้ คือเปิดช่องให้มารักษาที่โรงพยาบาลนี้ ซึ่ง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มี connection กับบอร์ดแพทย์อยู่แล้วใช่หรือไม่ เรื่องนี้บอร์ดใหญ่จึงต้องตรวจสอบเข้มงวด ถ้าเปิดแบบ unlimited จริงๆ อย่าง รพ. เอกชน ก็มีอยู่นะในรูปแบบการเบิกทุจริต เยอะอยู่แล้ว เพราะคนที่ตรวจสอบ คือ คนที่อยู่ในบอร์ดแพทย์เอง ซึ่งเรามีข้อมูลทุจริตอยู่นะ”

ส่วนโรคที่จะให้มีการรักษาแบบ unlimited เช่นโรคไต โรคมะเร็ง!
ทั้งนี้ บอร์ดแพทย์จะมีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เหมือนบอร์ดใหญ่ และถ้าจะมีการขยายสิทธิการรักษาเพิ่มอย่างไรจะเสนอเข้าบอร์ดใหญ่
 
นายธนพงษ์ บอกว่า บอร์ดแพทย์ทั้ง 16 คน มาจากการแต่งตั้งของ รมว.แรงงาน คนเดียว บอร์ด สปส.ไม่มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้อง จะมีอำนาจแค่พิจารณาตามวาระที่บอร์ดแพทย์เสนอมาเท่านั้น สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาใด ๆ ที่ต้องการแก้ไข ก็คงต้องรอเพราะจะมีการเปลี่ยนบอร์ดแพทย์ชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาบอร์ดแพทย์ล้วนแต่เป็นคนหน้าเดิม ๆ ใครมี Power ก็ได้รับการเสนอเข้ามานั่งเป็นบอร์ดแพทย์ เป็นเจ้าของโรงพยาบาลก็มีบ้าง อยู่ในสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็มี คงต้องไปดูใครเป็นใครกันบ้าง

“จริง ๆ เราอยากให้บอร์ดแพทย์มาจากการเลือกตั้งเหมือนบอร์ดใหญ่ แต่เวลานี้ทำอะไรไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกันสังคม กำหนดให้มีการเลือกตั้งแค่บอร์ดใหญ่ ซึ่งเราเห็นว่าต้องเสนอร่างแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้มีการเลือกตั้งทุกบอร์ด ซึ่งตอนนี้ที่จะทำได้จริง ๆ คืออยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลทุกบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ให้ได้มากที่สุด”

ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏออกมาจึงดูเหมือนว่า บอร์ดแพทย์จะถูกตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาและความไม่โปร่งใสมากที่สุดใช่หรือไม่ ก็เพราะว่าบอร์ดแพทย์เป็นผู้พิจารณาเรื่องการรักษาทางการแพทย์และค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ทั้งสิ้น

“เราเคยเสนอไปหลายครั้ง ที่จะให้ทั้งตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง เข้าไปนั่งในบอร์ดแพทย์ หลายครั้งก็ไม่มีคำตอบ เขาอาจจะมองว่าเรื่องทางการแพทย์พวกเราไม่รู้เรื่อง ไม่ให้เรานั่งบอร์ดแพทย์ ก็ขอไปเป็นอนุกรรมการ ที่พิจารณาเรื่องสิทธิการรักษา เขาก็ตั้งอนุกรรมการพิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลขึ้นมา 90 วัน ให้ฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง ฝั่งละ 2 คน ไปนั่งฟัง แต่ที่ตลกที่สุด เขาเอาวาระอะไรก็ไม่รู้ เพื่อมาให้เรานั่งฟังเฉยๆ ตอนนี้ครบ 90 วันก็หมดวาระกันไปแล้ว”

กรรมการบอร์ด สปส.ระบุว่า สิ่งที่บอร์ดแพทย์บอกพวกเรา คือพวกเราไม่มีความชำนาญทางการแพทย์ และผู้ประกันตนก็ต้องการการรักษาทางการแพทย์มากกว่า ซึ่งในความเป็นจริง เราไม่ก้าวล่วงด้านการรักษา เพียงแต่ต้องการนำข้อมูลที่ผู้ประกันตนต้องการไปบอกกล่าวมากกว่าที่จะให้บอร์ดแพทย์กำหนดอะไรไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงิน ทั้งที่เวลาต้องลงมติใด ๆ เสียงโหวตฝ่ายแพทย์ก็ชนะอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตัวแทนผู้ประกันตนคาดหวังในการแต่งตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่ ควรมีตัวแทนของผู้ประกันตนเข้าไปเป็นกรรมการด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้รับปากต่อ สส.ไอซ์ ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.นี้ว่าจะมีการตั้งตัวแทนของผู้ประกันตนไปอยู่ในบอร์ดแพทย์แน่นอน
 
นอกจากนี้การที่บอร์ดใหญ่มาจากการเลือกตั้งและเข้าไปเปิดประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล ก็อาจจะทำให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมไปเป็นการแต่งตั้งเหมือนเดิมนั้น เรื่องนี้นายธนพงษ์ ระบุว่า หากบอร์ดใหญ่ชุดนี้ครบวาระในปี 2569 และชุดใหม่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ภาคประชาชน และภาคแรงงาน ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้บอร์ด สปส.มาจากการเลือกตั้งให้ได้

ที่สำคัญสิ่งที่กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนรู้ว่าเราไม่สามารถไปก้าวก่ายบอร์ดแพทย์ ได้ แต่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิการรักษาที่เท่ากับบัตรทอง หรือมีส่วนที่มากกว่าบัตรทอง เพราะผู้ประกันตนมีการจ่ายเงินสมทบ จึงได้ไปหารือกับ สปสช.เบื้องต้นว่าจะทำอย่างไร ต้องมีการรวมกองทุนหรือไม่ แต่ก็ยังไม่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เต็มที่ เพราะถ้าเราเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ โอกาสจะถูกบอร์ดแพทย์คัดค้านมีแน่นอน และมักจะบอกว่า ประกันสังคม ยังไม่พร้อมที่จะทำเหมือน สปสช.

“ต้องไม่ลืมว่า บอร์ดแพทย์มีผลประโยชน์จากโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างเยอะ จริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบกับโรงพยาบาลเอกชนด้วยใช่หรือไม่ เราพูดเฉพาะเรื่องการรักษา ถ้า สปสช. จะพัฒนาเรื่องการรักษาในสิทธิบัตรทอง ประกันสังคมก็จะต้องพัฒนาไปด้วย ถ้าให้ สปสช. ดูแล เราอยากให้ สปสช. ดูแลมาก ส่วนเราก็ไปดูแลในสิทธิอื่น ๆ ให้ดียิ่งขั้น ทำกองทุนประกันสังคมให้มีผลตอบแทนสูงขึ้น เพื่อนำดอกผลที่ได้มาเพิ่มให้กับผู้ประกันตน ทั้งเรื่องเงินว่างงาน เบี้ยชราภาพ หรืออื่น ๆ ที่บัตรทองไม่มี”

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีสถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการประกันสังคม บอกว่าการทำปฏิทินของสำนักงานประกันสังคม ที่มีบางส่วนไปแจกเกษตรกรนั้น ก็เพราะมีจุดประสงค์ที่จะดึงเกษตรกรเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม ม.40 ภาคสมัครใจ ปัจจุบัน มาตรา 40 มีประมาณ 11 ล้านคน

“ถ้าเกษตรกรเข้าเป็นผู้ประกันตน ซึ่งในมาตรา 40 มีให้เลือก 3 แบบ ผู้ประกันตนจ่ายและรัฐสมทบ ซึ่งไม่ใช่แค่เกษตรกร กลุ่มพ่อค้า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ก็เข้ามาประกันตนได้ และมีสิทธิประโยชน์ให้เลือก”

แต่การที่จะให้เกษตรกร และหาบเร่แผงลอยเข้าสู่ระบบได้ ภาครัฐก็ต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรให้เขามีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งประกันสังคมก็ต้องหาทางไปลงทุนทางตรง เช่นลงทุนในปั๊ม ปตท. บางจาก หรืออาคารต่าง ๆ ที่จะให้เกษตรกรนำข้าวสาร หรือสินค้าเกษตรต่าง ๆ ไปขาย ให้เกิดรายได้มั่นคง ก็จะทำให้คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้สะดวกขึ้น โดยกองทุนประกันสังคมไม่จำเป็นต้องลงทุนในตลาดทุน หรือตลาดหุ้น เท่านั้น ควรไปลงทุน direct investment บ้าง

โดยผู้ประกันตน ม.40 สามารถใช้บัตรทองในการรักษาพยาบาล ส่วนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับเลือกแบบ 1 หรือ 2 และ 3 โดยหากเลือกแบบที่ 1 จ่าย 100 บาท ผู้ประกันตน จ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท แต่ถ้าเลือกแบบที่ 2 จ่าย 150 บาท เป็นผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท แบบที่ 3 จ่าย 450 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐสมทบ 150 บาท (ดูตารางประกอบ)
“มาตรา 40 ยืดหยุ่นมาก เลือกที่จะรับประโยชน์อะไร ไม่รับประโยชน์อะไร จ่ายเท่าที่คุณรับประโยชน์ จะขอหยุด ตรงนั้นก็ได้ ขอรับเบี้ยชราภาพก็ได้ หรือ เราจะขออยู่ต่อก็ได้ คือ คุณจ่ายน้อยก็ได้น้อย ใช้สิทธิบัตรทองรักษาพยาบาลได้ทุกแผน”
 
 
“มาตรา 40 ยืดหยุ่นมาก เลือกที่จะรับประโยชน์อะไร ไม่รับประโยชน์อะไร จ่ายเท่าที่คุณรับประโยชน์ จะขอหยุด ตรงนั้นก็ได้ ขอรับเบี้ยชราภาพก็ได้ หรือ เราจะขออยู่ต่อก็ได้ คือ คุณจ่ายน้อยก็ได้น้อย ใช้สิทธิบัตรทองรักษาพยาบาลได้ทุกแผน”
สำนักงานประกันสังคม จึงต้องประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นชาวนาอยู่ประมาณ 8 ล้านคน และถ้ารวมเกษตรกรทุกประเภท กลุ่มชาวสวน ชาวไร่อีก 12 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบได้เพียงแค่ 10% ก็จะทำให้กองทุนประกันสังคมโตขึ้น และถ้าบริหารดี ๆ ก็จะได้ผลประโยชน์ที่มากขึ้นมาตอบแทนผู้ประกันตนเช่นกัน!

Cr. https://mgronline.com/specialscoop/detail/9680000017637


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่