ประกันสังคม ฝ่าด่านความโปร่งใส เผือกร้อนถลุงงบ?

ประกันสังคม ฝ่าด่านความโปร่งใส นักการเมืองฝ่ายค้าน แฉเผือกร้อนถลุงงบไปต่างประเทศ “สภาลูกจ้าง” มอง ควรเขย่าโครงสร้างบริหาร ให้มีการตรวจสอบอย่างอิสระ และลงทุนอย่างมืออาชีพ อนาคตกองทุนชราภาพเสี่ยงสะเทือนหนัก ส่วนบอร์ดแพทย์ ตั้งข้อสังเกตจุดกระแสใกล้หมดวาระ

มนุษย์เงินเดือนตั้งคำถามความคุ้มค่าของการจ่ายเงินประกันสังคมในแต่ละเดือน หลัง “รักชนก ศรีนอก” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ตั้งคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ “ทำไมสิทธิ์ประกันสังคมที่บังคับจ่ายเงินทุกเดือนถึงแย่กว่าสิทธิ์บัตรทอง หรือสิทธิ์ สปสช. ที่ได้ฟรี?”

ประเด็นที่ 2 ในการใช้งบประมาณในการพิมพ์ปฏิทิน ปีละ 70 ล้านบาท และประเด็นที่ 3 คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ เคยขอตัวเลขที่พิจารณากลั่นกรองงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี แต่ประกันสังคมไม่มีใครรู้อะไรเลยว่าที่ผ่านมาคุยอะไรกัน
 
ล่าสุดวันนี้ “บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์” ปลัดกระทรวงแรงงาน ออกมาโต้ว่า ไม่รู้สึกหนักใจที่มีการปล่อยข้อมูลรายวันโจมตีการทำงานของสำนักงานประกันสังคม ทั้งเรื่องการฮั้วประมูล หรือใช้งบไปดูงานต่างประเทศไม่เหมาะสม โครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application มูลค่า 850 ล้าน ก็เป็นไปตามการจัดซื้อจัดจ้างมีคณะกรรมการตรวจสอบถูกต้อง เมื่อส่งงานช้าต้องมีค่าปรับ ไม่ปรับไม่ได้ ขอยืนยันว่าการจัดซื้อจัดจ้างหรืองบประมาณรายจ่ายต่างๆ รวมทั้งการไปดูงานต่างประเทศดำเนินตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด หากจะมีการตรวจสอบก็พร้อมชี้แจง
...
 
ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามถึงกองทุนประกันสังคม เรื่องความคุ้มค่าในการรักษาพยาบาล สภาพคล่องในอนาคต เนื่องจากมีแรงงานผู้สูงอายุในไทยเพิ่มขึ้น ทีมข่าวสอบถามไปยัง “มนัส โกศล” ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ให้ข้อมูลว่า เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ผ่านมามีการเรียกร้อง และมีการเพิ่มสิทธิเป็นที่น่าพอใจ แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยง จนทำให้ขาดทุนเป็นหมื่นล้านก็มี
 
ส่วนความกังวลเรื่องการเพิ่มเพดานการจ่าย ตามอัตราเงินเดือน อยู่ที่ 5% โดยจ่ายเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเดือน สิทธิประโยชน์ คนที่จ่ายค่าประกันตนสูงเพิ่มขึ้น เช่น เงินเดือน 20,000 บาท เดิมหักเงิน 750 บาท ปรับมาเป็นหักประมาณ 1,000 บาท ตามอัตราเงินเดือน จากเดิมเพดานการจ่ายอยู่ที่ 750 ต่อเดือน
ประเด็นที่หลายคนยังสับสนคือ การต่ออายุการทำงานของผู้ประกันตน เดิมกำหนดอายุ 15 – 60 ปี แต่พอสังคมสูงวัยเพิ่มมากขึ้น คิดเฉลี่ยกว่า 30% และในอนาคตมีแต่จะเพิ่มขึ้น เลยมีการขยายคุณสมบัติเป็น 15 – 65 ปี การจ่ายเงินของผู้ประกันตนหลังครบกำหนดอายุ 60 ปี แล้วสามารถทำงานต่อได้ โดยต่ออายุการจ่ายในมาตรา 33
 
ส่วนความกังวลว่า อนาคตเงินบำนาญชราภาพผู้สูงอายุไม่พอจ่าย ตอนนี้กองทุนที่อยู่ในส่วนชราภาพของผู้ประกันตน มีอยู่ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท โดยมีเงินเข้าส่วนนี้ปีละ 2 แสนล้านบาท ถ้ามีแรงงานสูงอายุมากขึ้น เงินส่วนนี้ถูกนำมาใช้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ไม่อย่างนั้นอาจประสบปัญหาได้
เรื่องของความโปร่งใสของกองทุน ผู้ประกันตนสามารถเข้ามาตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่และผู้ประกันตน ควรมีการตรวจสอบในส่วนที่เป็นข้อสงสัย
 
สิ่งที่อยากให้ประกันสังคม มีการพัฒนาเป็นธนาคารของผู้ใช้แรงงาน ถ้ามีส่วนนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรมผ่านธนาคารทั่วไปได้ และผู้ประกันตนจะมีสิทธิในการกู้เงิน การฝาก การออม ใช้เงินบำนาญชราภาพเป็นหลักประกันได้

หากจำแนกเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายให้กับประกันสังคมในแต่ละเดือน “มนัส” ขยายภาพให้เห็นว่า สามารถแบ่งได้เป็นกองทุนใหญ่ ๆ ได้ 3 กองทุนดังนี้
1. เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดลูก โดยเก็บจากลูกจ้างและนายจ้าง 1.5% รัฐบาลช่วยอีกบางส่วน ตอนนี้ยังมีสภาพคล่อง 
2. บำนาญชราภาพ ที่เก็บจากลูกจ้างและนายจ้าง 3% ส่วนนี้เป็นกองทุนใหญ่ที่ออมไว้ใช้ในช่วงชราภาพ
3. ว่างงาน โดยเก็บลูกจ้างและนายจ้าง 0.50% ยังมีสภาพคล่องดี หากอนาคตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นก็ยิ่งมีสภาพคล่องดี แต่ถ้าแรงงานลดลงก็จะมีส่วนได้รับผลกระทบ
 
ความวิตกกังวลเรื่องความโปร่งใส ยังเป็นประเด็นที่กองทุนประกันสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ด้วยการมีระบบตรวจสอบ เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ในเรื่องการใช้งบประมาณแต่ละกองทุน ซึ่งตอนนี้เราใช้การบริหารจัดการสูงสุดแบบระบบราชการ เพี้ยนหืม

ทั้งนี้ หลังมีกระแสข่าวในเรื่องบอร์ดแพทย์ ของกองทุนประกันสังคม บินไปดูงานต่างประเทศ ทีมข่าวสอบถามไปยังแหล่งข่าวระดับสูง ให้ข้อมูลว่า บอร์ดดังกล่าวคณะกรรมการทุกคนมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีบอร์ดดังกล่าว อาจมีการเกี่ยวโยงกับการที่บอร์ดชุดเก่ากำลังจะหมดวาระ และมีการเลือกตั้งใหม่ จึงพยายามทำให้เกิดกระแส เพื่อให้ฝ่ายตนได้เข้ามาหรือไม่.

Cr. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2843053


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่