ไม่แพ้ แม้อากาศเปลี่ยน! รู้จัก “โรคแพ้อากาศ” และวิธีรับมือ



ไม่แพ้ แม้อากาศเปลี่ยน! รู้จัก “โรคแพ้อากาศ” และวิธีรับมือ

เคยเป็นไหม? อากาศเปลี่ยนนิดเดียว ก็เริ่มจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไม่สบายตัวไปทั้งวัน อาการเหล่านี้คือสัญญาณของ “โรคแพ้อากาศ” หรือที่เรียกทางการแพทย์ว่า “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย



สาเหตุของโรคแพ้อากาศ

โรคแพ้อากาศเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองไวเกินไปต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ควัน หรือมลภาวะต่างๆ เมื่อร่างกายสัมผัสสารเหล่านี้เยื่อบุจมูกจะอักเสบ และทำให้เกิดอาการแพ้ที่หลายคนต้องเผชิญ 

อาการของโรคแพ้อากาศ อาการหลักที่พบได้บ่อย
· จามบ่อย คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
· น้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา
· คันจมูก คันตา หรือแสบตา
· น้ำตาไหล คันคอ หรือมีเสมหะในลำคอ
อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม เช่น มีผื่นคันตามตัว มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ไม่มีไข้



แพ้อากาศ vs ไข้หวัด ต่างกันอย่างไร?
ไข้หวัด : น้ำมูกใสแล้วข้น มีไข้ เจ็บคอ อาการดีขึ้นใน 3-10 วัน
โรคแพ้อากาศ : น้ำมูกใส คันจมูก คันตา ไม่มีไข้ และมักเป็นเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ 
 
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
หากมีอาการต่อเนื่อง หรือสงสัยว่าแพ้อะไร แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือตรวจเลือดดูว่าร่างกายแพ้อะไรบ้าง เพื่อช่วยวางแผนการรักษาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก โรคหอบหืด



วิธีรับมือกับโรคแพ้อากาศ
ปัจจุบันมี 3 แนวทางหลักที่ช่วยให้อาการดีขึ้น
· การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และดูแลสุขภาพ เป็นวิธีที่สำคัญที่สุด ช่วยลดโอกาสเกิดอาการและทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
· การใช้ยา เช่น ยากินและยาพ่นจมูก เพื่อลดอาการและควบคุมการอักเสบ
· การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้
 
โรคแพ้อากาศสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ ขึ้นอยู่กับการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และความแข็งแรงของร่างกาย
 
วิธีป้องกันโรคแพ้อากาศ
· หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ และมลภาวะ
· รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
· ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้สะอาด ลดฝุ่นละอองและสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน
· ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ป่วยและแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตัวเองของผู้ป่วยและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมจะช่วยทำให้อาการของโรคทุเลาลงมากจนไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติและอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกับผู้อื่นได้ ถ้าสามารถปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
 


แม้อากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้โรคแพ้อากาศกำเริบ แต่หากเราหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ดูแลสุขภาพ และรักษาอย่างเหมาะสม ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายขึ้น
 
** ใครที่มีอาการแพ้อากาศบ่อยๆ มาแชร์ประสบการณ์กันได้นะคะ หรือถ้ามีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้เลยค่ะ

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ อันตรายมากไหม? อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/290
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่