บทความ: ความแตกต่างระหว่างพระไตรปิฎกฉบับปัจจุบันกับพระไตรปิฎกสมัยโบราณ

ได้ฟังคำบอกเล่าของผู้รู้ท่านหนึ่งในโซเชียล(ขอปิดชื่อเพราะไม่อยากหาเรื่องให้ท่านคนนั้น)ได้ตักเตือนให้อย่าได้ไปยึดพระไตรปิฎกทำนองว่าอะไรที่อยู่ในพระไตรปิฎกต้องเชื่อว่าเรื่องจริงแน่นอน ใครจะค้านไม่ได้

เพราะพระไตรปิฏกก็มีสิ่งที่ต่อเติมเข้ามาเหมือนกัน โดยท่านได้ศึกษาเปรียบเทียบพระไตรปิฎกฉบับปัจจุบันกับพระไตรปิฎกฉบับที่เก่าแก่กว่าแล้วพบความไม่เหมือนกันมากมาย

ท่านจึงว่าอยากให้พวกเราศึกษาให้ดีๆอย่ายึดให้มาก

ผมฟังแล้วก็ต้องตรวจสอบก่อนนะก่อนจะเชื่อท่าน และในความเป็นจริงแล้วผมเองก็เคยมีความปรารถนาอยากรู้เหมือนกันว่าพระไตรปิฎกฉบับแรกๆกับฉบับปัจจุบันนั้นมันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าวิธีตรวจสอบของผมก็คือค้นเอาจากกูเกิ้ล

๑ ตำนานหอพระสมุด หอมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แล หอสมุดสำหรับพระนคร (พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ส่วนหนึ่งหนังสือเล่มนี้เล่าถึงความเป็นมาของพระไตรปิฎกของไทย ท่านก็เล่าว่าตอนเสียกรุงให้พม่านะ ตำราพระไตรปิฎกก็ถูกเผาทำลาย แต่โชคยังดีพระเจ้าตากสิน (ในหนังสือเรียกว่าขุนหลวงตาก) พอท่านกู้บ้านกู้เมืองแล้วท่านก็ไปได้พระไตรปิฎกของเมืองนครศรีธรรมราช เพราะตอนพม่าตีเมือง พม่าตีไปไม่ถึงเมืองนคร พระไตรปิฎกเมืองนครก็ยังอยู่

ทีนี้พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๑ ก็สร้างหอมณเฑียรธรรมไว้เก็บพระไตรปิฎกแล้วก็ให้วัดทั้งหลายยืมไปคัดลอก ทีนี้วัดทั้งหลายยืมไปแล้วก็คืนบ้างไม่คืนบ้าง ก็มีคัมภีร์หายไปหาไม่เจออยู่บ้าง

แล้วพอสมัยรัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ คือพระจอมเกล้าสมัยท่านยังบวชท่านก็ทูลรัชกาลที่ ๓ ว่าท่านตรวจดูพระไตรปิฎกเห็นว่าไม่สมบูรณ์ ยังขาดตกบกพร่องอยู่ รัชกาลที่ ๓ ก็เลยส่งฑูตไปขอพระไตรปิฎกส่วนที่ไทยไม่มีจากต่างประเทศ ทั้งศรีลังกา พม่า เขมร และส่วนที่ประเทศนั้นๆไม่มีแต่ประเทศไทยมีก็ส่งให้เขาไป

แล้วมาตอนสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านก็คิดเปลี่ยนจากการจารใบลานเป็นพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม พอพิมพ์เสร็จแล้วก็เอาไปแจกต่างประเทศ นี่ก็เป็นที่มาคร่าวๆของพระไตรปิฎกไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕

เราก็สรุปได้ว่าเดิมทีพระไตรปิฎกบาลีของแต่ละประเทศนั้นก็มีส่วนไม่เหมือนกัน มาเหมือนกันเพราะการแลกเปลี่ยนคัมภีร์เมื่อตอนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ นี่เอง ก็นับว่าเป็นของใหม่ดังที่ผู้รู้ท่านนั้นกล่าวไว้

๒ เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ภาษาพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎก
(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๒ - ๑๘ มกราคม ๒๕๖๑
คอลัมน์    เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่    วันพุธที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑)

อันนี้น่าสนใจเพราะบอกว่าบาลีไม่ใช่ชื่อภาษาแต่เป็นชื่อหนังสือ คำว่า "ปาลิ" แปลว่าตำราดั้งเดิม พูดง่ายๆเป็นคำเรียกพระไตรปิฎก แล้วก็คงมีช่วงหนึ่งที่คนเราสับสนไปเรียกเอาภาษาในหนังสือบาลี ว่าภาษาบาลี

นักวิชาการเขาเถียงกันนะว่าภาษาที่พระพุทธเจ้าเผยแพร่ธรรมใช่ภาษาบาลีไหม พวกหนึ่งบอกใช่ พวกหนึ่งบอกไม่ใช่ ในที่สุดก็กำปั้นทุบดิน พระพุทธเจ้าจะใช้ภาษาอะไร ภาษาในหนังสือบาลีจะใช่ภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้หรือเปล่าไม่สำคัญ เอาเป็นว่าภาษาที่พระพุทธเจ้าเคยใช้ถูกสืบทอดกลายมาเป็นภาษาที่บันทึกในหนังสือบาลี หรือถูกเรียกภาษาบาลีในตอนนี้นี่แหละ

ก็กลายเป็นว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เผยแพร่ธรรมะหรือไม่ก็ไม่มีใครแน่ใจนะครับ

๓ เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระไตรปิฎกนานาภาษา – พระไตรปิฎกฉบับสันสกฤต
(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๖ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
คอลัมน์    เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่    วันพุธที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑)

อันนี้เป็นข้อมูลพระไตรปิฎกทางฝ่ายเถรวาทที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ผมจะหาได้ในตอนนี้

"หลักฐานเก่าแก่ที่สุดโยงไปถึงการทำสังคายนาสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่เมืองชลันธร มีพระปารศวะเป็นประธาน เมื่อ พ.ศ.๓๐๐ การสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายสรวาสติวาท (สัพพัตถิกวาท) พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป เข้าร่วม นัยว่ามีพระสงฆ์นิกายอื่นเข้าร่วมด้วย

หลายท่านกล่าวว่าการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายมหายาน ความจริงมิใช่ เพียงแต่สรวาสติวาท ใช้ภาษาสันสกฤตเท่านั้น สรวาสติวาท เป็นแขนงของหินยาน หรือเถรวาท"

จากนั้นท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ ก็เปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าพระวินัยเหมือนกันนะ แต่ตรงพระสูตรมีส่วนที่แตกต่างกัน บางส่วนก็คล้ายกัน บางส่วนก็แตกต่างกันออกไปอย่างมาก

ตรงส่วนพระอภิธรรมนี่น่าสนใจ เพราะระบุชื่อผู้แต่งตำราอันเป็นพระสาวกทั้งหมด และคัมภีร์ก็ไม่เหมือนกับทางฝ่ายพระไตรปิฎกบาลีเลย ผมจึงได้ตั้งสมมุติฐานเป็นการส่วนตัวว่าแต่เดิมตอนพระพุทธเจ้าท่านปรินิพพาน การสังคายนาแรกๆก็มีแค่พระธรรมและพระวินัยเท่านั้น ส่วนพระอภิธรรมเป็นคัมภีร์ที่พระสาวกแต่งขึ้นแน่นอน แล้วกาลเวลาและการแตกแยกกันทางความคิดก็ส่งผลให้ภิกษุแต่ละฝ่ายมีพระอภิธรรมที่ไม่เหมือนกัน

"พระอภิธรรมปิฎก ของฝ่ายสันสกฤต แบ่งดังนี้

– ชญานปรัสถานะ พระกาตยานีบุตรแต่ง

– สังคีติปรยายะ พระสารีบุตรแต่ง

– ปกรณปาทะ วสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังตอนไปอินเดียได้ศึกษาคัมภีร์นี้ กลับจีนแล้วแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.๑๒๐๒

– วิชญานกายะ ท่านเทวศรมันแต่ง เฮี่ยงจังแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.๑๑๙๒

– ธาตุกายะ ท่านวสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังแปลเป็นจีน เมื่อ พ.ศ.๑๑๙๒

– ธรรมสกันธะ พระโมคคัลลานะ (บางท่านว่า พระสารีบุตร) แต่ง เฮี่ยงจังแปล พ.ศ.๑๑๙๓

– ปรัชญัปติศาสตร์ พระโมคคัลลานะ (เสถียร โพธินันทะ ว่า ท่านธรรมปาละแต่งน่าจะสับสนกับผู้แปลเป็นจีนมากกว่า ผู้แปลคนแรกชื่อ ฟาหู คงคนเดียวกับธรรมปาละ"

การสืบค้นของผมก็เป็นอันสิ้นสุดที่ตรงนี้ครับ ก็เป็นอันว่าท่านผู้รู้ตอนต้นกระทู้นั้นท่านก็พูดความจริง พระไตรปิฎกของไทยเราก็มีอายุไม่นานจริง คือเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๓ และมีความแตกต่างกับพระไตรปิฎกฉบับเก่าๆจริง น่าเสียดายครับที่ผมไม่สามารถหาเนื้อหาในพระไตรปิฎกเก่าๆโบราณได้ เพราะเป็นสิ่งที่ผมสนใจมากว่าพระธรรมที่บันทึกในสมัยนั้นเหมือนหรือต่างกับสมัยนี้เพียงใด อย่างไรก็ตามผมก็เชื่อว่าพระไตรปิฎกฉบับที่พวกเราใช้กันอยู่นี้ก็มีพระสูตรที่สามารถเป็นเข็มทิศนำพาพวกเราสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้แน่นอนครับ ถ้ารู้จักขุดเพชรในพระไตรปิฎกกันนะ

ทิ้งท้ายตรงนี้ด้วยคำเตือนของท่านผู้รู้ครับ ควรศึกษาให้ดี แต่อย่าได้ยึดพระไตรปิฎกกันเสียเกินเลย

จบแล้วครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่