คำบรรยายพระไตรปิฎก (2) 2.บาลี : ภาษาพระไตรปิฎก

ที่มา    มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มีนาคม 2561
คอลัมน์    เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน    เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่    วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2561
คำบรรยายพระไตรปิฎก (2)

2.บาลี : ภาษาพระไตรปิฎก

– บาลีเป็นภาษาใดภาษาหนึ่งหรือไม่

– ภาษาบาลีที่ใช้เป็นภาษาพระไตรปิฎก มีความเป็นมาอย่างไร

คำตอบต่อคำถามนี้ มี 2 ทัศนะคือ

(1) บาลีเป็นภาษแน่นอน. บาลีมิใช่ชื่อภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ

ฝ่ายที่เชื่อว่า บาลีเป็นภาษา แบ่งออกเป็น 3 มติ คือ

(1) ชาวพุทธเถรวาทเชื่อกันว่า

ภาษาพระไตรปิฎก คือ ภาษามาคธี

ภาษาหลังพัฒนามาเป็นภาษาบาลี

(2) นักปราชญ์ตะวันตกพวกหนึ่งว่าภาษาพระไตรปิฎกมิใช่ภาษามาคธี

แต่เป็นภาษาอวันตี

(3) นักปราชญ์ตะวันตกอีกพวกหนึ่งเชื่อว่าภาษาพระไตรปิฎกเป็นภาษาอินเดียใต้

สรุป

มติทั้ง 3 ฝ่ายนี้เห็นตรงกันในประเด็นหลัก และต่างกันในประเด็นย่อย 2

ประเด็นตรงกัน

ไม่ว่าภาษาพระไตรปิฎกจะเป็นภาษาอะไรมาก่อนก็ตาม ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นภาษาที่รู้กันในปัจจุบันว่า ภาษาบาลี

แตกต่างกัน

1. ฝ่ายหนึ่งเห็นภาษาบาลีในปัจจุบันสืบสายมาจากภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้

2. อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสืบไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่า ภาษาพระไตรปิฎกเริ่มจาก พระเถระหรือคณะเถระที่ไปสืบทอดพระพุทธศาสนายังต่างแดน

(2) ฝ่ายที่เชื่อว่า บาลีมิใช่ภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ แบ่งออกเป็น 3 มติคือ

– อภิธานปฺปทีปิกา ว่า ปาลิ (บาลี) มี 3 นัย (ขอบ, แถวหรือแนว, บาลีธรรม หรือคัมภีร์หลัก)

– Pali-English Dictionary ว่าปาลิมี 2 นัยคือ (แถวหรือแนว, ปริยัติธรรม หรือตำราเดิม)

– Sanskrit-English Dictionary ว่าปาลิมี 7 นัย (ใบหู, ริมหรือขอบ, แถว, แนวหรือสาย, คูหรือสะพาน, หม้อหุงต้ม, มาตราตวงชนิดหนึ่ง)

จากหลักฐานทั้งสามนี้จะเห็นว่า ไม่มีแห่งไหนที่ระบุชัดลงไปว่า ปาลิเป็นภาษาที่ใช้พูดกับภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ

และที่น่าสังเกตก็คือ พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ดังกล่าว ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ว่า “คำพูด, ถ้อยคำ” โดยเฉพาะหมายเอาภาษาพื้นเมืองทั่วไป (ปรากฤต)


ตรงกันข้ามกับภาษาพระเวท ซึ่งภายหลังเรียกว่า สันสกฤต



สรุป

ปาลิ (บาลี) มิใช่ชื่อของภาษา

ถ้าใช้ในความหมายทั่วไป แปลว่า ขอบ, แถว, แนว, สาย, ใบหู เป็นต้น

ถ้าใช้ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ตำราชั้นต้น

หรือปฐมภูมิของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้นนี้จะจารึกด้วยภาษาอะไรก็ตาม เรียก ปาลิ หรือบาลีทั้งนั้น

3.โครงสร้างพระไตรปิฎก

พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก

พระจุนทะ

พระอานนท์

พระสารีบุตร

พระโสณะกุฏิกัณณะ

พระมหากัสสปะ

พระอุบาลี

1. พระจุนทะ เป็นน้องชายพระสารีบุตรได้ทราบข่าวว่า หลังจากศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) สิ้นชีวิต สาวกแตกแยกความคิดเห็นกันจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกัน จึงไปเล่าให้พระอานนท์ฟัง

ทั้งสองท่านไปกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า เพราะมิได้สังคายนาคำสอน สาวกนิครนถ์นาฏบุตรจึงทะเลาะกัน “ถ้าอยากให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ภิกษุทั้งหลาย พึงสังคายนาพระธรรมวินัย”

2. พระสารีบุตร เป็นบุตรนางสารี บ้านอุปติสสคาม เมืองราชคฤห์ ศึกษาในสำนักสัญชัยเวลัฏบุตร กับสหายรักนาม โกลิตะ ต่อมาพบพระอัสสชิเถระได้ฟังธรรม บรรลุโสดาปัตติผล จึงพร้อมกับโกลิตะมาบวชเป็นสาวกพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางมีปัญญามาก ได้ทราบพระพุทธดำรัส จึงทำการสังคายนา (ร้อยกรอง) พุทธวจนะเป็นหมวดหมู่ ชื่อ สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ต่อมาได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ สัณฐาคาร ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองปาวา ตามพุทธบัญชา

พระสารีบุตร เป็นผู้เริ่มทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นรูปแรก ต่อมาได้รับสืบทอดเจตนารมณ์โดยพระมหากัสสปะหลังพุทธปรินิพพาน

3. พระอานนท์ เป็นพุทธอนุชา และเป็นพุทธอุปฐาก เป็นผู้ได้สดับตรับฟังจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร เป็นผู้ชวนพระจุนทะเข้าเฝ้า และกราบทูลเรื่องของสาวกเชนให้ทรงทราบดังข้างต้น

เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่ 1 พระอานนท์เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดก่อนพุทธปรินิพพานแก่ที่ประชุมสงฆ์ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วิสัชนาเกี่ยวกับพระธรรม

4. พระโสณะกุฏิกัณณะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี เป็นศิษย์พระมหากัจจายนะ กว่าจะได้บวชก็เสียเวลาไปถึง 4 ปี เพราะหาพระมาทำพิธีอุปสมบทได้ไม่ครบจำนวน 10 รูป

เมื่อบวชแล้ว พระอุปัชฌาย์จึงส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน เพื่อทูลขอให้ลดหย่อนจำนวนพระทำพิธีอุปสมบท ที่เมืองชายแดน จาก 10 รูป เหลือ 5 รูป (และขอพรอื่นอีกด้วย) พระโสณะได้สวดธรรมในอัฏฐวรรค และปรายนวรรค ให้พระพุทธองค์ฟัง จนได้รับประทานสาธุจากพระพุทธองค์ว่าสวดสำเนียงไพเราะดี

5. พระมหากัสสปะ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ออกบวชเมื่ออายุมาก เป็นพระเคร่งครัด ถือธุดงค์ 3 ข้อ คือ บิณฑบาตเป็นนิตย์, ทรงผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ และอยู่ป่าเป็นนิตย์ ได้ยินพระขรัวตาชื่อ สุภัททะ พูดจาจ้วงจาบพระธรรมวินัย จึงรวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา 500 รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน

6. พระอุบาลี เป็นนายภูษามาลาของศากยวงศ์ออกบวชพร้อมเจ้าชายศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ อันมีพระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น หลังจากบวชแล้วได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเลิศกว่าภิกษุอื่นในด้านทรงพระวินัย ได้วินิจฉัยอธิกรณ์สงฆ์สำคัญๆ หลายเรื่อง

ในคราวสังคายนาครั้งที่ 1 ท่านได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมสงฆ์ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย
https://www.matichonweekly.com/column/article_86623
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่