ใครติดตำราอ่าน​หลวง​ตา​บัว​พูด​ถึง​ปริยัติธรรม​

กระทู้คำถาม
"ปัญญาเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในธาตุในขันธ์แล้ว
ย่อมปล่อยวางลงๆ 
จิตใจ ยิ่งสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นโดยลำดับ 
ปัญญา ยิ่งคล่องตัวจนกลายเป็นปัญญาอัตโนมัติ 

ในปัญญาอัตโนมัตินี้ ทางด้านปริยัติท่านแสดงไว้ว่า...ภาวนามยปัญญา  ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ นี่เราไม่เคยเห็น 

 เราเรียนที่ไหน เราก็จำได้แต่ว่า...ภาวนามยปัญญาตามที่ปริยัติท่านบอกไว้ว่า...ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ

 เราก็เรียนได้แต่ความจำ 

ความจริงเราไม่เคยเห็น

 เราไม่เคยรู้ ก็ได้แต่ความจำ 

กิเลสก็ ไม่ถลอกปอกเปิกจากการเรียนรู้มากน้อย 

กิเลสยังคงเส้นคงวา ยิ่งหนาแน่นขึ้นกว่าคนที่ยังไม่เคยเรียนเสียอีก

เรียนมากเท่าไร ได้มากเท่าไรยิ่งสำคัญตน 
เขายกยอปอปั้นขึ้นให้บ้างเล็กน้อย ว่านี่คือตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่นะ 

โห เป็นบ้าไปเลย นี่ความจำมันกลายเป็นกิเลสสวมรอย

 ทีนี้ความจริง คือ​ รู้​ตรงไหน ละตรงนั้น ปล่อยตรงนั้น 

เช่นปัญญาแทงทะลุในสกลกายนี้ออกหมด 
แล้วปล่อยวางสกลกาย  

ปัญญานี้กลายเป็นปัญญาอัตโนมัติ
 รู้ขึ้นภายในตัวเอง

ไม่ต้องไปศึกษาตามตำรับตำราที่ไหน

 ตำราที่เราเรียนมามากน้อยกลายเป็นเรื่องผิวเผินไปหมด 

ส่วนปัญญาที่จะแก้กิเลสจริงๆ
เกิดขึ้นที่ใจของเรา 

แก้กิเลสที่ใจของเรา 

กิเลสเกิดขึ้นมากน้อย ปัญญา ก็เกิดขึ้นตามกัน ทันกัน  

แก้กันในเวลานั้นๆเป็นลำดับลำดา

 จนก้าวถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา เรียกว่า...ปัญญาที่แกล้วกล้าสามารถ รวดเร็วที่สุด ทันกับกิเลสทุกประเภท

กิเลสจะเป็นประเภทใดก็ตาม
คำว่า...กิเลส หมายถึงสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของเรามานาน 

คำว่า...ธรรมก็หมายถึงสิ่งซักฟอกจิตใจของเราให้สะอาดสะอ้านไปโดยลำดับ

ตามต้อนกิเลส ซักฟอกกิเลส ตามฆ่ากิเลสไปด้วยสติปัญญาอัตโนมัติแล้ว ก็กลายเป็นมหาสติมหาปัญญา

ทำลายกิเลสโดยลำดับลำดา

จนกระทั่งไม่มีกิเลสอันใดเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว 

โลกธาตุนี้ว่างไปหมด 

 ท่านว่า...สุญฺญโต โลกํ 
อเวกฺขสฺสุ  โมฆราช สทา สโต ดูก่อน โมฆราช 

เธอจงพิจารณาโลกนี้ให้เป็นของว่างเปล่า 

และถอนอัตตานุทิฏฐิเสียได้

 เธอจะไม่กลับมาเกิดโลกนี้อีกต่อไป

 นี่ก็รู้ชัดแก่ผู้ปฏิบัติ นี้คือ...

รู้จริงเห็นจริงเป็นอย่างนี้

รู้ด้วยความจำ  รู้เท่าไร กิเลสเกิดขึ้นมากน้อยตามความรู้ความเห็นความจำมานั้นแล 

ทีนี้ความจริงนี้รู้ไปตรงไหน ไม่มีใครบอกก็ตาม

ไม่ต้องจำเป็นหาใครมาบอก

พระพุทธเจ้ารู้ธรรมไม่มีใครบอกท่าน ตรัสรู้ธรรมเสร็จเรียบร้อยแล้วสอนโลกทันที

ไม่ต้องไปถามใคร

พระอรหันต์ท่าน ก็รู้อย่างนั้น ท่านรู้ธรรมมากน้อยเพียงไรท่านไม่ต้องไปถามใคร สิ้นกิเลสท่านก็ไม่ต้องไปถามใคร

ท่านรู้ในตัวของท่านเอง เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วจากการภาวนาในขั้นที่สาม

ขั้นที่ ๑ คือศีล  
ขั้นที่ ๒ คือสมาธิ 
 ขั้นที่ ๓ คือปัญญา

ปัญญานี้เป็นขั้นๆขึ้นไป 

เริ่มต้นตั้งแต่ปัญญา
ที่เราฝึกหัดเบื้องต้น ซึ่งไม่รู้จักการจักงาน คอยแต่จะเถลไถล และบังคับให้สู่การพินิจพิจารณา จนกระทั่งเห็นโทษเห็นภัยขึ้นมา เห็นคุณค่าแห่งการพิจารณาขึ้นมาโดยลำดับแล้ว  ปัญญานั้น ก็กลายเป็นปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวไปเอง 

เช่นเดียวกับกิเลส มันหมุนตัวของมันภายในหัวใจของสัตว์ไปเองเหมือนกัน กิเลสทำงานบนหัวใจของสัตว์นี้มันหมุนติ้วๆ ตลอดเวลา ไม่ต้องมีใครมาเป็นครูเป็นอาจารย์ก็ตาม เพราะมันเป็นครูเป็นอาจารย์คล่องแคล่วในตัวของมันพอแล้วเป็นอัตโนมัติของกิเลสหมุนหัวใจสัตว์

ทีนี้พอธรรมได้ก้าวขึ้นมาสู่ขั้นนี้แล้วก็เป็นขั้นที่สังหารกิเลส เป็นปัญญาอัตโนมัติ 
ภาวนามยปัญญา เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน

 ไปที่ไหนอยู่ที่ใด อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน มีแต่อิริยาบถที่ ฆ่ากิเลสๆ เป็นอัตโนมัติโดยลำพังตนเองไปโดยลำดับๆ  

จนกระทั่งถึงกิเลสพังทลายลงไปจากใจแล้ว สิ้นหมด ไม่มี...อะไร 
นิพพานอยู่ที่ไหนไม่ต้องถาม 

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนไม่ต้องถาม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหนไม่ต้องถาม

 เพราะประจักษ์เป็นอันเดียวกันแล้วกับภายในจิตใจของเรา เช่นเดียวกับแม่น้ำสายต่างๆ ไหลเข้าไปสู่มหาสมุทร แล้ว

กลายเป็นน้ำมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกันหมด

จิต เมื่อก้าวเข้าไปถึงความบริสุทธิ์แล้ว 
ก็กลายเป็นแม่น้ำมหาวิมุตติมหานิพพานไปหมดด้วยกัน 

ศาสนาของพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้มาโดยลำดับลำดา คงเส้นคงวาหนาแน่นตลอดกาล เรียกว่า...อกาลิโก 

สอนโลกสอนสงสาร แต่กิเลสมันสวมรอย มันปิดมันบัง มันลบมันล้างไม่ให้ธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นมา 

มีแต่กิเลสออกตีตลาดแหลกเหลวไปหมด
เวลานี้มีแต่กิเลสทั้งนั้นตีตลาด 
ธรรมความจริงนั้นแทรกออกมาไม่ได้ ถูกกิเลสบีบบังคับ 

ถูกกิเลสผลักไสตกทะเลหลวงโดยไม่รู้สึกตัว
 
คนเราจึงได้รับความทุกข์มาก เพราะกิเลสไม่ได้สร้างความสุขให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด 

นอกจากสร้างความล่อลวงให้สัตว์โลกทั้งหลายติด ติดแล้วก็เหมือนปลาติดเบ็ดนั่นแหละ 

มีเหยื่อนิดหน่อยติดไว้ที่ปลายเบ็ด พองับเข้าไปเท่านั้นตวัดทีเดียวเลือดสาดเลย ติดเบ็ดแล้วๆ

กิเลสมันหลอกให้เราทะเยอทะยาน อันนั้นก็ดี 
อันนี้ก็ดี อันไหนก็มีแต่ของดีๆไปหมด  

ครั้นเวลางับเข้าไปแล้วมีแต่เบ็ด เบ็ดตวัดเอา จึงมีแต่กองทุกข์เต็มโลกเต็มสงสาร 

ใครเป็นคนโลภมาก ยิ่งมีทุกข์มาก 
ความโกรธมาก ทุกข์มาก 
ราคะตัณหามาก ยิ่งทุกข์มาก 

เรื่องราคะตัณหา  มันชอบ มันรักมันใคร่ 
มันอยากได้ให้สมใจ นี้คือความล่อลวงของกิเลส ครั้นเวลาได้มาแล้วมันผิดหวัง  มันไม่ได้สมใจ มันเป็นเบ็ดเกาะปากเสียแล้วมันก็สร้างแต่ความทุกข์ขึ้น​มา

เพราะฉะนั้นชาวเราทั้งหลายซึ่งเป็นชาวพุทธ 
ขอให้ระลึกรู้เสมอว่า...ธรรมนั้นเป็นธรรมชาติที่ไม่สูญสิ้นไปไหน 

เหมือนน้ำมหาสมุทรทะเลหลวงนั้นแล ครอบโลกธาตุอยู่เวลานี้คือ น้ำมหาวิมุตติ น้ำมหานิพพาน ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้แล้ว 

กลายเป็นน้ำมหาวิมุตติมหานิพพานอยู่อย่างนั้น นั้นแลคือธรรมครองโลก ธรรมที่ให้ความร่มเย็นแก่โลก คือมหาวิมุตติมหานิพพานครอบโลกธาตุ

เราทั้งหลายสร้างคุณงามความดี
ก็เพื่อธรรมดวงนั้น ให้พากันพยายามสร้างความดี สู้กิเลสต้องมีการฝ่าฝืน  การทำความดีนั้น ใครๆก็ไม่อยากทำ เพราะกิเลสไม่อยากให้ทำ จะทำทานก็เสียดาย จะรักษาศีลก็เห็นว่าเป็นความลำบาก

ลำบน จะเจริญภาวนายิ่งแล้วเหมือนจูงหมาใส่ฝน จูงหมาใส่ฝนเป็นยังไง หมาไม่อยากตากฝน พอจูงไปใส่ฝนมันร้องแหง็กๆ นี่จูงเราให้ภาวนา ก็ร้องแหง็กๆ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าจูงลงใส่หมอนแล้วหลับครอกทันที อย่างนี้ไม่ดีเลย ถูกแต่กิเลสหลอกลวงต้มตุ๋น ต้องฝ่าฝืนกันบ้าง 

ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่ฝ่าฝืน ไม่ได้ 
พูดแล้วก็ขอมีการเทียบเคียงยกตัวอย่าง
ให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ พอเป็นคติเครื่องเตือนใจ ในการที่มาเป็นผู้นำคราวนี้ 
เรามาเป็นผู้นำเพราะเหตุผลกลไกอะไร เราก็รอดตายมาแล้วในการฆ่ากับกิเลส เราไม่มีอะไรเหลือในชีวิตจิตใจของเรานี้ เริ่มต้นแต่ขึ้นเวที คือเข้าป่าเข้าเขา  ในถ้ำเงื้อมผา ฟัดกับกิเลสตลอดมาไม่มีเวลายับยั้ง ถ้าเป็นนักมวยก็ไม่มีกรรมการแยก ไม่มีการให้น้ำ 
ระหว่างกิเลสกับธรรมบนหัวใจเราฟัดกัน
เอากันตลอด ใครดีใครเก่ง กิเลสดีให้กิเลสอยู่บนเวที กิเลสไม่ดีให้กิเลสตกเวที เราอยู่บนเวที 
ถ้าเราไม่ดีให้เราตกเวที มีการตกเวทีเท่านั้น ที่จะให้ยกมือไหว้ว่ายอมแล้วนี้ไม่มี นั่นละฟัดกัน หนักหรือไม่หนัก ขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ."
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
จากธรรมเทศนา “ธรรมชาติที่ไม่สูญสิ้น”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.  ๒๕๔๑ 
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กทม.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่