JJNY : สื่อเมียนมาเผย ฝั่งลาวลดจ่ายไฟ│ระเบิดป้อมตำรวจดอนยาง│แถลงจุดยืนสนับสนุน“พิรงรอง”│"ต๊ะนารากร"ตอบกลับดราม่าวิจารณ์

สื่อเมียนมา เผย ฝั่งลาวลดจ่ายไฟ ท่าขี้เหล็ก เหลือ 13 เมกะวัตต์ จาก 30 เมกะวัตต์ ลั่นใช้เกินตัดไฟทันที
https://www.matichon.co.th/foreign/news_5037666

 
สื่อเมียนมา เผย ฝั่งลาวลดจ่ายไฟ ท่าขี้เหล็ก เหลือ 13 เมกะวัตต์ จาก 30 เมกะวัตต์ ระบุ หากใช้เกินตัดไฟทันที
 
จากกรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ทยอยตัดไฟทีละจุด เริ่มที่จุดแรกในเวลา 09.00 น. กฟภ.ได้เริ่มตัดไฟ เริ่มจากจุด 1.จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์-เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2-เมืองเมียวดี และ 5.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-เมืองเมียวดีนั้น
 
มีรายงานล่าสุดจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แจ้งว่า หลังการตัดไฟฟ้าแล้วประชาชนในจังหวัดท่าขี้เหล็กต่างพากันออกมาซื้อน้ำมันเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องปั่นไฟ ทำให้รถติดยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร
 
ขณะเดียวกัน Tachileik News Agency สำนักข่าวอิสระเมียนมา ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ของ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา หลังไทยตัดไฟฟ้าแล้ว ระบุว่า ลาวได้ลดการจ่ายไฟฟ้าให้ท่าขี้เล็กเหลือ 13 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ต้องจัดลำดับความสำคัญในการแจกจ่ายใหม่
 
เนื่องจากการที่รัฐบาลไทยตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังประเทศเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการเพื่อป้องกันเครือข่ายอาชญากรรมของแก๊งจีนที่แฝงตัวอยู่ตามแนวชายแดน ส่งผลให้เมืองท่าขี้เหล็กต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากลาวแทน โดยก่อนหน้านี้ได้ตกลงซื้อมากถึง 30 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ทางฝั่งลาวได้แจ้งว่า จะลดปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายให้เหลือเพียง 13 เมกะวัตต์ โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน
 
คณะกรรมการไฟฟ้าเมืองท่าขี้เหล็กจึงต้องวางแผนกระจายไฟฟ้าที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยแบ่งเป็น 5 เมกะวัตต์ ให้กับคณะกรรมการไฟฟ้าหลัก และ 8 เมกะวัตต์ให้สำนักงานสาขา เพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ตามลำดับความสำคัญ
 
การจัดลำดับความสำคัญของผู้ใช้ไฟฟ้า

1. กลุ่มที่ได้รับความสำคัญสูงสุด (Priority 1)
• สถานศึกษา หน่วยงานด้านสังคม และสถานพยาบาล
• หน่วยงานราชการ
• อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เช่น โรงน้ำดื่ม โรงน้ำแข็ง และระบบโทรคมนาคม
• ธนาคารและสถาบันการเงิน
• ไฟฟ้าจะถูกจ่ายให้กลุ่มนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ
 
2. กลุ่มที่ได้รับความสำคัญรองลงมา (Priority 2)
• โรงแรม โรงแรมม่านรูด และเกสต์เฮาส์
• ร้านอาหาร บาร์ คาราโอเกะ และสถานบันเทิง
• การจ่ายไฟให้กับกลุ่มนี้จะเป็นแบบหมุนเวียนตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับปริมาณไฟฟ้าที่สามารถจ่ายได้
 
3. ประชาชนทั่วไปในเขตที่อยู่อาศัย
• บ้านเรือนทั่วไปที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้ามาตรฐานยังคงได้รับไฟฟ้าตามปกติ
• ร้านอาหารขนาดใหญ่จะได้รับไฟฟ้าตามสถานการณ์ หากมีไฟฟ้าเพียงพอก็จะสามารถจ่ายให้ได้เต็มที่
 
ผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจในพื้นที่
 
ก่อนหน้านี้ เมืองท่าขี้เหล็กได้รับไฟฟ้าจากทั้งไทย (20 เมกะวัตต์) และลาว (30 เมกะวัตต์) รวม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการจ่ายไฟให้แก่ 11 เขตในเมืองและ 7 กลุ่มหมู่บ้าน โดยมีผู้ใช้ไฟฟ้ารวมกว่า 22,500 ครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากว่า 600 ตัว แต่การที่ลาวลดการจ่ายไฟเหลือเพียง 13 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง
 
ตัวแทนจากคณะกรรมการไฟฟ้าเมืองท่าขี้เหล็ก เปิดเผยว่า “ทางลาวแจ้งว่า หากใช้ไฟฟ้าเกิน 13 เมกะวัตต์ จะตัดไฟทั้งหมดทันที ซึ่งขณะนี้เราได้รายงานเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานระดับรัฐและรัฐบาลกลางของเมียนมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบแน่ชัดว่ามีแรงกดดันจากฝ่ายใดที่ทำให้ลาวลดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งมาให้ ทั้งที่มีข้อตกลงขายไฟให้เราถึง 30 เมกะวัตต์
 
นอกจากนี้ ในช่วงก่อนปี 2019 คณะกรรมการไฟฟ้าท่าขี้เหล็กเคยอยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าราชการอำเภอ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านความโปร่งใสและการดำเนินงานที่ล่าช้า แต่หลังจากปรับโครงสร้างให้เป็นการบริหารโดยภาคประชาชน ก็สามารถพัฒนาและบริหารจัดการไฟฟ้าได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตัดไฟจากทั้งไทยและลาวในครั้งนี้ส่งผลให้เมืองท่าขี้เหล็กต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการพลังงานอีกครั้ง
 
ปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงเมืองท่าขี้เหล็กเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงเมืองต่าเหล่และเมืองเชียงลับในรัฐฉานตะวันออก ซึ่งต้องซื้อไฟฟ้าจากลาวเช่นกัน ทำให้เกิดความกังวลว่าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจเกิดวิกฤตไฟฟ้าขาดแคลนในวงกว้าง


 
ด่วน! ระเบิดป้อมตำรวจดอนยาง ตำรวจบาดเจ็บ 4 นาย
https://www.matichon.co.th/region/news_5037672

ด่วน! ระเบิดป้อมตำรวจดอนยาง ตำรวจบาดเจ็บ 4 นาย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 68 เวลาประมาณ 08.08 น. เกิดเหตุระเบิดขึ้น บริเวณป้อมตำรวจดอนยาง ถนนสาย43 ฝั่งเข้าหาดใหญ่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมจะรายงานให้ทราบต่อไป


 
นิเทศจุฬาฯ - สื่อสารมวลชน มช. แถลงจุดยืนสนับสนุน “พิรงรอง”
https://ch3plus.com/news/social/morning/432557

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ อ.พิรงรอง รามสูต
 
จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จำคุก 2 ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ในความผิดมาตรา 157 ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันชั่วคราว วงเงิน 1.2 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อตำแหน่ง กสทช.นั้น
 
ล่าสุด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง โดยแถลงการณ์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า
 
ตามที่ บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น
 
คณะนิเทศศาสตร์ตระหนักดีว่า มิอาจวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลอันจะเป็นการล่วงละเมิดอำนาจศาลได้ กระนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ก็มิอาจนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ มิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
 
ปัจจุบันนี้ สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการกำกับดูแลสื่อในสภาพการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อโดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายยิ่งขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ
 
ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช. และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช.ในอนาคต อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว
 
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอแสดงจุดยืนของคณะ สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ยึดมั่นในหลักการ และปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของสาธารณะต่อไป
 
ด้านแถลงการณ์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงจุดยืนสนับสนุน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการการสื่อสารและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนดโดยสุจริต
 
คณะการสื่อสารมวลชนเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. ควรดำเนินการไปตามหลักนิติธรรม และมีความเป็นอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิการสื่อสารขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างระบบการสื่อสารที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะเป็นหลักประกันสำคัญในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต และสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนต่อไป
 
คณะการสื่อสารมวลชนจึงขอแสดงความเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่