“ไอติมจีน” อาจไม่ปังอย่างที่คิด เมื่อทุกแบรนด์ทำได้ไม่ต่าง

“ไอติมจีน” อาจไม่ปังอย่างที่คิด เมื่อทุกแบรนด์ทำได้ไม่ต่าง
นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่าตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาบุกตลาดของแฟรนไชส์ไอศกรีมและชาจาก จีน อินโดฯ

อย่าง Mixue, Ai-Cha ตามมาด้วย Wedrink และ Bing Chun ชูกลยุทธ์ราคาถูก ขายไอศกรีมโคน 15 บาท สามารถสร้างสีสันให้กับตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยได้อย่างมาก

ทำเอาหลายๆ แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ด้วยมูลค่าตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยสูงถึง 25,000 ล้านบาท

เป็นสินค้าตลาด Mass ทานทุกเพศทุกวัย ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ กระโดดเข้ามาชิมลางในตลาดอย่างต่อเนื่อง จนสร้าง Volume ในการขายได้เป็นอย่างดี

แต่รู้หรือไม่ว่า? ปัจจุบันไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟที่ว่าเป็นกระแสเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน เริ่มที่จะซาลงไปบ้างแล้ว ตลาดไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน สังเกตได้ว่าคนสนใจซื้อแฟรนไชส์น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่แฟรนไชส์จีนเข้ามาเปิดตลาดในไทย

สาเหตุที่ทำให้ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยไม่เป็นกระแสเหมือนเดิม หรืออาจมองได้ว่าไอศกรีมจีนไม่ปังอีกแล้ว อาจเป็นเพราะ "แบรนด์ไทย" หรือ "ผู้ประกอบการไทย" สามารถทำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟได้ไม่ต่างจากจีน

แถมหลายๆ แบรนด์ทำรสชาติออกมาอร่อยกว่าไอศกรีมจีนเสียอีก ใช้วัตถุดิบที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ทั้งใช้นมสด น้ำเต้าหู้ วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล

มาดูกันว่า..ในตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไทย มีผู้เล่นหน้าเก่าและหน้าใหม่ ที่เป็นคู่แข่งหลักๆ ของแฟรนไชส์ไอศกรีมจากจีน มีแบรนด์อะไรบ้าง?

-  KFC ราคา 12 บาท/โคน
-  McDonald’s ราคา 15 บาท/โคน
-  BURGER KING ราคา 12 บาท/โคน
-  Dairy Queen ราคา 12 บาท/โคน
-  IKEA ราคา 8 บาท/โคน
-  Mos Burger ราคา 20 บาท/คน
-  CJ เปิดตัวแบรนด์ เถียน เถียน ราคา 15 บาท/โคน
-  Tops daily ราคา 12 บาท/โคน
-  Makro - เมจิ ราคา 8 บาท/โคน
-  ร้านกาแฟอินทนิล ราคา 29 บาท/ถ้วย
-  โต้ว ร้านน้ำเต้าหู้ ราคา 39 บาท/ถ้วย

จะเห็นได้ว่าแบรนด์ที่ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟข้างต้น ไม่ได้ใช้ไอศกรีมเป็นสินค้าหลักของร้าน แต่ใช้เป็นสินค้าทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการที่ร้าน จะเห็นว่าหลายๆ แบรนด์ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟถูกกว่าแบรนด์จีนด้วยซ้ำ

บางแบรนด์โดยเฉพาะ “แดรี่ควีน” มีไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟน้ำเต้าหู้ขายด้วย หรืออย่างร้านสะดวกซื้อ CJ ปั้นแบรนด์ "เถียน เถียน" ทำสินค้าเหมือน Mixue อีกต่างหาก ขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและชาผลไม้ ราคาเริ่มต้น 15 บาทเหมือนกัน

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในอนาคตตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟและเครื่องดื่มในไทย จะกลายเป็นตลาดที่แข่งขันกันแบบ “สงครามราคา” หรือเรียกว่า Red Ocean หรือไม่

เหมือนกับตลาดขนส่งพัสดุในช่วงที่ผ่านมา กรณี Flash Express กับ Kerry Express สู้รบด้วยราคากันดุเดือด ยอมแม้กระทั่งตัวเองขาดทุน สุดท้ายเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย

ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในไทยก็เช่นกัน จะเห็นว่าแบรนด์จากจีนมีสินค้าชูโรง 2 ตัว คือ ไอศกรีม กับ เครื่องดื่ม ขายไอศกรีม 15 บาท/โคน หลายคนอาจรู้สึกว่าสินค้าที่เป็นของจีนราคาถูก

แต่ถ้าดูให้ดีจะแพงกว่าแดรี่ควีน เคเอฟซี อีเกีย ท็อปส์ เม็คโคร-เมจิ ที่ขายแค่ 12 บาท ที่สำคัญแบรนด์ในไทยเหล่านี้ขายไอศกรีมเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า ไม่ได้หวังจะได้กำไรจากไอศกรีมมากนัก

ถ้ามองสงครามในตลาดไอศกรีมไปยาวๆ แบรนด์ที่น่าเป็นห่วงและมีโจทย์ที่ท้าทาย น่าจะเป็นแบรนด์จากจีนมากกว่า ถ้าไม่หาลูกเล่นใหม่ๆ มารับมือ

ที่มา :  ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ Thailand's Franchising Solution & Media

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่