‘เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง’ ที่กำลังจะ IPO ในตลาดหุ้นไทย

สรุปโมเดลธุรกิจ บริษัทเจ้าของ ‘เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง’ ที่กำลังจะ IPO ในตลาด หุ้น ไทย 


ใครจะคิดว่า “เฉาก๊วย” ขนมหวานธรรมดา ๆ ที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก จะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากถึง 400 ล้านบาทต่อปี 

ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจจนจะ IPO เข้าตลาดหุ้นไทย

เจ้าของ “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” คือ บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด (มหาชน) 

ปีที่แล้วบริษัทนี้ ทำรายได้ 458 ล้านบาท กำไร 33 ล้านบาท

โมเดลธุรกิจของเจ้าของ เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ 

จุดเริ่มต้นของ เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผู้ก่อตั้ง คือ คุณหมู-ทินพันธุ์ วัฒนอัครโภคิน เคยใช้ชีวิตเป็นเด็กวัด และมีโอกาสได้กินเฉาก๊วยที่คนนำมาถวายพระที่วัดอยู่บ่อย ๆ

พอได้ลองกินแล้วรู้สึกชื่นชอบในรสชาติ จึงมีความคิดที่จะนำเฉาก๊วยไปต่อยอดและขายในร้านข้าวมันไก่ของตัวเองที่ทำอยู่แล้ว

แต่พอไปหาแหล่งซื้อเฉาก๊วย กลับพบว่าไม่มีเจ้าไหนที่ขายเนื้อเฉาก๊วยเพียงอย่างเดียว มีแต่เฉาก๊วยในน้ำเชื่อมพร้อมรับประทานเท่านั้น

คุณหมูจึงตัดสินใจทดลองต้มเฉาก๊วยด้วยตัวเอง โดยเอาสูตรมาจาก Google และ YouTube 
และใช้เวลาทดลองอยู่ 1 ปีเต็ม ๆ ถึงจะได้สูตรที่ทำให้เฉาก๊วยเหนียวนุ่ม

ในช่วงแรกคุณหมูจะแจกเฉาก๊วยให้คนรอบข้างและลูกค้าลองชิมฟรีถึงบ้าน
เพื่อขอฟีดแบ็กกลับมาว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เพื่อนำมาปรับปรุงให้สูตรคงที่ 

ซึ่งวิธีนี้ได้ผลอย่างมากเพราะทำให้คุณหมูสามารถปรับปรุงสูตรได้อย่างลงตัว และเริ่มมีลูกค้าประจำมากขึ้น

จากขายได้วันละ 60 กิโลกรัม ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 100 กิโลกรัม ก่อนจะโตขึ้นเป็น 600 กิโลกรัม จนกระทั่งถึง 1,000 กิโลกรัมต่อวัน
 
เมื่อธุรกิจขยายตัว ก็เริ่มส่งออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น และก่อตั้ง บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2561

โดยในปีแรก ๆ บริษัทจะเน้นขายเฉาก๊วยและน้ำเฉาก๊วยเป็นหลัก ก่อนที่ในปีต่อ ๆ มาจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ขึ้นมาหลากหลายประเภทมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มพร้อมดื่ม, คาราเมล, น้ำผลไม้เข้มข้น, บุก และเจลลี

โดยสินค้าของ บริษัทสยาม ดีเสิร์ท จำกัด จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 

1. กลุ่มสินค้าขนมหวานพร้อมทานและเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (Ready-to-eat & Ready-to-drink)

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายของผู้บริโภค เช่น เฉาก๊วยในน้ำเชื่อมบรรจุถ้วยพร้อมทาน น้ำเฉาก๊วยบรรจุขวด หรือกาแฟบรรจุขวดพร้อมดื่ม

โดยสินค้ากลุ่มนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นร้านค้าที่มีตู้แช่ เช่น ร้านขายของชำ ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม ที่สามารถนำไปจำหน่ายหรือใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องดื่มได้ทันที 

2. กลุ่มสินค้าสำหรับประกอบเครื่องดื่ม (Beverage)

โดยสินค้ากลุ่มนี้ถูกออกแบบมาสำหรับร้านกาแฟและร้านอาหารโดยเฉพาะ เพื่อให้แต่ละร้านสามารถสร้างเมนูเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง 

โดยจะมีทั้งวัตถุดิบที่สามารถเก็บรักษาได้นานและอุปกรณ์ครบชุดสำหรับทำเครื่องดื่ม 
เช่น เนื้อเฉาก๊วยหั่นเต๋าบรรจุถุง, น้ำเชื่อมเข้มข้นรสชาติต่าง ๆ, บุกในน้ำเชื่อมกลิ่นต่าง ๆ หรือผงนมสำเร็จรูป

3. กลุ่มสินค้าที่เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย ผ้าเอี๊ยม, หมวก และ เสื้อโปโล ของแบรนด์เต็งหนึ่ง 

และอุปกรณ์สำหรับร้านค้า เช่น แก้วเป๊กสำหรับใช้ชง, แก้วขนาดต่าง ๆ สำหรับใส่น้ำขาย 

โดยบริษัทจะมีช่องทางในการจัดจำหน่ายอยู่ 3 ช่องทาง คือ 

- ขายให้กับตัวแทนจำหน่าย โดยช่องทางนี้จะเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายกระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย 

- ขายให้กับร้านจำหน่ายอุปกรณ์เบเกอรี ที่ต้องการเครดิตเทอม ซึ่งบริษัทจะขายสินค้าให้ร้านค้าเหล่านี้โดยตรง ในราคาที่สูงกว่าที่ขายให้ตัวแทนจำหน่าย 

- ขายให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มธุรกิจ หรือ OEM ที่ต้องการผลิตภัณฑ์เฉาก๊วยสำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบหรือจำหน่ายในรูปแบบเฉพาะตัว

จากข้อมูลจะเห็นว่า ช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทจะเป็นการขายสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่าย หรือเป็นลักษณะแบบ B2B 

ทำให้กลยุทธ์หลัก ๆ ของเฉาก๊วยเต็งหนึ่ง จะเน้นไปที่การสร้างและพัฒนาเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย (Dealer) และ เต็งหนึ่งแมน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะคัดเลือกพันธมิตรที่มีศักยภาพและมีความเข้าใจในตลาดท้องถิ่น

โดยมีโมเดลการทำธุรกิจ คือ บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด (มหาชน) จะส่งสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ที่มีสถานที่วางสินค้าหน้าร้าน, คลังเก็บสินค้าของบริษัท และทีมงาน 
ได้แก่ ผู้บริหารศูนย์ 1 คน, พนักงานคลังหรือแคชเชียร์ 1 คน, และเต็งหนึ่งแมนอย่างน้อย 1 คน

และให้ตัวแทนจำหน่าย (Dealer) เป็นผู้ดูแลเต็งหนึ่งแมน ซึ่งนั่นหมายความว่า เต็งหนึ่งแมน คือ พนักงานขายที่ทำงานให้กับตัวแทนจำหน่าย 

หลังจากนั้น เต็งหนึ่งแมน จะมีหน้าที่นำผลิตภัณฑ์ไปขายให้กับร้านชงเครื่องดื่มและร้านโชห่วยในพื้นที่ที่ตัวแทนจำหน่ายดูแลอยู่

ซึ่งโมเดลนี้ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่น และ เต็งหนึ่งแมนที่ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้โดยตรง

จนทำให้ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ 

ทีนี้เรามาดูผลประกอบการ 3 ปีล่าสุด ของ บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด (มหาชน)

ปี 2564 รายได้ 261 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท 
ปี 2565 รายได้ 359 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 458 ล้านบาท กำไร 33 ล้านบาท

โดยสัดส่วนรายได้ปี 2566 ประกอบไปด้วย 

1. รายได้จากการขายสินค้า แบ่งเป็น
- ขนมหวานพร้อมทานและเครื่องดื่มพร้อมดื่ม 63.47 %
- สำหรับประกอบเครื่องดื่ม 35.37 %

2. รายได้จากการขายอุปกรณ์ 0.76 %

3. รายได้อื่น ๆ 0.40 %

ปัจจุบันบริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด (มหาชน) มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ที่ 91 ราย และมีเต็งหนึ่งแมนอยู่ที่ 312 คน (ข้อมูลงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน ปี 2567)

โดยที่รายได้จากช่องทางการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายและพนักงานขายเต็งหนึ่งแมน คิดเป็น 96% ของรายได้จากการขายทั้งหมดในปี 2567

ในด้านการผลิต ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตมากถึง 17,000 กิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็น 510,000 กิโลกรัมต่อเดือน

และที่น่าสนใจคือ บริษัท สยาม ดีเสิร์ท จำกัด หรือ เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง 
กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นจดทะเบียนเตรียม IPO ในตลาดหุ้นไทย

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0MucyCsTftD44ACydL2BzCf1TLTWzoaKijXaaCdznpbbwyz3Uwx4q18wCtQDqK72El&id=100042176903654&mibextid=ZbWKwLhttps://www.facebook.com/share/p/19vkDj3cSr/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่