“สุขภาพจิตในที่ทำงาน” สัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังเผชิญ “โรคซึมเศร้า” และ เทคนิคนวด5จุด ช่วยผ่อนคลายออฟฟิศซินโดรม

“สุขภาพจิตในที่ทำงาน” สัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังเผชิญ “โรคซึมเศร้า”

พาสำรวจตัวเองกับ "สุขภาพจิตในที่ทำงาน" อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับ "โรคซึมเศร้า" โดยไม่รู้ตัว!
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “Healthy Clean” มีโอกาศได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจาก พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH ที่ได้เผยถึง สถิติสุขภาพจิตในประเทศไทยประจำปี 2567 จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า “ประชากรในประเทศไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการสุขภาพจิตในที่ทำงานในประเทศไทย” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักพบปัญหาความเครียดจากการทำงาน การต่อสู้กับความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

วันนี้เราจึงขอพาไปเจาะลึกในเรื่องนี้กัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า “จากข้อมูลของ BMHH พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการสูงที่สุดของโรงพยาบาลคือวัยทำงานอายุ 25-40 ปี” โดย 5 โรคที่พบมากที่สุดในวัยนี้ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะเครียดสะสม โรคแพนิค และโรคไบโพลาร์ เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีงานเครียดสูง หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดันสูง ทั้งจากความคาดหวังในงานและความยากลำบากในการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน

“การใส่ใจสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญขององค์กรและสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับสุขภาพกายและใจอย่างสมดุลส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป การดูแลสุขภาพจิตคือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ไม่ได้เพียงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น แต่กำลังสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน สุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง” พญ.ปวีณา กล่าว

สำหรับ “โรคซึมเศร้าภัยเงียบในที่ทำงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของอารมณ์ที่แปรปรวน แต่เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่เผชิญอยู่” การมีความเครียดสะสมจากการทำงาน หรือสภาพแวดล้อมที่กดดันสามารถกระตุ้นหรือทำให้โรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในหลายกรณี ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในที่ทำงานมักไม่แสดงอาการอย่างชัดเจน เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าตนเองต้องแสดงออกถึงความเข้มแข็ง และไม่อยากให้คนอื่นเห็นความอ่อนแอ แต่ความเครียดที่สะสมจากการทำงานหนัก ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต และปัญหาภายในองค์กรสามารถผลักดันให้โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ จนกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

ผลกระทบจากโรคซึมเศร้าในที่ทำงาน
อาการของโรคซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบทั้งในด้านการทำงานและความสัมพันธ์ภายในที่ทำงานได้อย่างลึกซึ้ง โดยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ขาดสมาธิ และมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งทำให้การตัดสินใจหรือการทำงานเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความขัดแย้งในทีมอาการซึมเศร้าอาจทำให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยวหรือหงุดหงิดได้ง่าย จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในทีม และทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่ดี พนักงานที่มีอาการซึมเศร้าอาจขาดงานบ่อย หรือมีปัญหาในการทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา

วิธีการจัดการสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้าในที่ทำงาน
-สร้างพื้นที่ให้พนักงานสามารถเปิดใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต พนักงานควรรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการทางจิตเวชโดยไม่ต้องกลัวการตัดสิน หรือผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
-ให้การสนับสนุนด้านจิตวิทยา องค์กรสามารถจัดให้มีบริการคำปรึกษาจิตวิทยาภายในองค์กร หรือส่งพนักงานที่มีอาการซึมเศร้าไปหาผู้เชี่ยวชาญ
-ส่งเสริมการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดการกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือการกำหนดเวลาทำงานที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน จะช่วยลดความเครียดและบรรเทาความวิตกกังวลที่เกิดจากงาน
-ส่งเสริมการออกกำลังกายและกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย การให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น โครงการโยคะในที่ทำงาน การเดินเล่น หรือกิจกรรมสันทนาการสามารถช่วยลดระดับความเครียดได้
-อบรมและให้ความรู้แก่ผู้บริหารและหัวหน้างาน การอบรมให้หัวหน้างานและผู้บริหารเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและสัญญาณต่างๆ จะช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม พญ.ปวีณา ได้ทิ้งท้ายเพิ่มเติมด้วยว่า “โรคซึมเศร้าเป็นภัยเงียบที่กำลังกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองข้ามได้ในที่ทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะในปี 2567 ที่สถิติโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานและการจัดการกับโรคซึมเศร้าในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่องค์กรไม่สามารถมองข้ามได้ หากองค์กรสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและมีการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต พนักงานก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรก็จะเติบโตไปอย่างยั่งยืน..... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/4254279/



แจกเทคนิคนวด5จุด ช่วยผ่อนคลายออฟฟิศซินโดรม

เปิดเทคนิคนวด 5 จุด คลายปวดเมื่อยช่วยผ่อนคลาย "ออฟฟิศซินโดรม" ได้ง่ายๆด้วยตัวเอง
“ออฟฟิศซินโดรม” แค่ได้ยินชื่อก็สัมผัสได้ถึงความปวดเมื่อยที่สุดแสนจะทรมาน อาการที่ตึงร้าวกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ หากสะสมเป็นเวลานานก็ทำให้บางคนมีอาการลามไปถึงการปวดหัวร่วมด้วย โดยออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น ซึ่งเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ การที่มีอาการสะสมยิ่งส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจจนกลายเป็นความเครียดได้ และการปวดเมื่อยก็อาจทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับวิธีช่วยให้ผ่อนคลายอาการปวดกล้ามเนื้อที่นิยมมีทั้ง การประคบเย็น การประคบร้อน การนวดด้วยเครื่องความถี่สูง รวมไปถึงการทานยา เช่น ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาบรรเทาอาการปวด แต่การใช้ยาในการรักษาก็อาจมีผลข้างเคียงตามมาได้ เมื่อรับประทานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การนวด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย แต่เวลาก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ไม่ได้มีเวลาไปนวดได้อย่างเป็นประจำ จะดีแค่ไหนถ้านวดผ่อนคลายตัวเองได้เบื้องต้น ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ปวดเมื่อยน้อยลงเพราะมีเทคนิคในการนวดตรงจุด

5 จุดนวด บรรเทาปวด คอ บ่า ไหล่ ที่ทำเองได้ง่ายๆ โดยมีวิธีดังนี้
1.ใช้ปลายนิ้วมือขวาทั้ง 4 กดคลึงไปทั่วหน้าอก และหัวไหล่ด้านซ้าย
2.ใช้ปลายนิ้วมือขวาทั้ง 4 กดนวดบริเวณกล้ามเนื้อบ่า และเกลียวคอ พร้อมหันศีรษะไปด้านตรงข้ามให้มากที่สุด จากนั้นสลับข้างนวด
3.ใช้หัวแม่มือนวดไปตามแนวเกลียวคอทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่ฐานคอจนถึงใต้ฐานกะโหลกศีรษะ โดยนวดขึ้นอย่างเดียว
4.นวดกดจุดฐานใต้กะโหลก 3 จุด โดยใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้นวด ประคองหน้าผากไว้ กดจุดค้างไว้ จุดละ 5 วินาที ทำซ้ำ 2-3 รอบ
5.ใช้ปลายนิ้วกลางและนิ้วนาง คลึงขมับเบา ๆ ตามเข็มนาฬิกา และใช้นิ้วหัวแม่มือกดและดันเบา ๆ ที่หัวคิ้ว 2-3 ครั้ง

นอกจากการนวดให้ตรงจุดแล้ว ยังสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น ด้วยสมุนไพรไทยที่คนไทยนิยมใช้มาตั้งแต่โบราณในหลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดช่วยบรรเทาอาการปวดได้
-ไพล : ช่วยลดอาการปวด บวมแดงร้อน บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการอักเสบและเส้นตึง แก้อาการเคล็ดขัดยอก
-น้ำมันระกำ : มีฤทธิ์เป็นยาชาแบบอ่อน ๆ ช่วยต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะตึง หรือเคล็ด ข้อต่ออักเสบ ช้ำ หรือปวดหลังได้
-กานพลู : มีสรรพคุณในการลดอาการปวด มีฤทธิ์เป็นยาชา ช่วยต้านการอักเสบ
-เกล็ดสะระแหน่ : ลดอาการปวดเมื่อยทำให้ผ่อนคลาย ช่วยให้อุณหภูมิที่ผิวหนังลดลง เช่นเดียวกับการประคบน้ำแข็งหรือประคบเย็น ลดการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือด
-การบูร : ช่วยลดอาการปวด นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดความเย็นและอุ่น รวมถึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด..... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/4142641/


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่