ทำไมพระสมัยก่อนนั่งยองๆ หรือ 'นั่งกระโหย่ง' สมัยนี้อาจจะบอกว่าไม่เรียบร้อย?



วันนี้อยากมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับคำในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เราอาจคุ้นหูกันดีอย่าง "นั่งกระโหย่ง" และ "ประคองอัญชลี" ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความสำคัญในบริบทของพระพุทธศาสนา แต่หลายคนอาจไม่ทราบถึงความหมายหรือที่มาที่แท้จริง

นั่งกระโหย่งคืออะไร?
คำว่า "อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา" ในพระบาลี แปลว่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการนั่งแบบยองๆ โดยเข่าทั้งสองข้างงอ และไม่แตะพื้น เป็นท่าที่ใช้ในพิธีกรรมของพระภิกษุ เช่น การอุปสมบท การแสดงอาบัติ และการสวดสังฆกรรม

ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก:
        :อรรถกถาพระธรรมบท: กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูที่ "นั่งกระโหย่ง" ก่อนจะกระโดดได้ถึง 18 ศอก (เมื่อย่อเข่า) และ 80 ศอก (เมื่อยืน) แสดงให้เห็นว่า ท่านนั่งในลักษณะที่เหมาะสมสำหรับการกระโดด
        :อรรถกถามโหสถชาดก: กล่าวถึงชายที่นั่งยองๆ ขณะเดินลุยน้ำตื้นเพื่อหลอกผู้อื่นว่าน้ำลึก

ประคองอัญชลีคืออะไร?
คำว่า "อัญชลี" หมายถึง การประนมมือ โดยการนำฝ่ามือทั้งสองมาประกบกัน เป็นท่าทางแสดงความเคารพหรือสักการะ
จากพระบาลี:
“ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ อญฺชลิมฺปคฺคยฺห” หมายถึง "การประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยการประกบกันของนิ้วมือทั้งสิบ"

ทำไมต้องนั่งกระโหย่งประคองอัญชลีในพิธีกรรม?
การนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี เป็นท่าที่ปรากฏบ่อยครั้งในพระไตรปิฎก เช่น
     :การสวดปาติโมกข์
     :การขอขมา
     :การแสดงอาบัติ
ทั้งนี้ แม้ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนในพระบาลีว่าเหตุใดต้องนั่งในท่านี้ แต่จากบริบทในสังคมอินเดียโบราณ การนั่งกระโหย่งเป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป และในทางพระพุทธศาสนา ท่านั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมา

ข้อคิดจากบทเรียนนี้
ในสังคมไทย เราอาจมองท่าทางเหล่านี้ไม่เหมาะสมหรือผิดธรรมเนียมเพราะไม่เข้าใจที่มา จึงมักเกิดการติเตียนหรือวิจารณ์โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง ซึ่งอาจเป็นการสร้างบาปกรรมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น หากพบสิ่งที่สงสัย ควรศึกษาและสอบถามผู้รู้ก่อนตัดสิน

ฝากถึงทุกท่าน:
การเรียนรู้พระธรรมวินัยและประเพณีที่ถูกต้องไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจรากฐานของศาสนา แต่ยังเป็นการเคารพต่อพระพุทธศาสนาและผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง

เพิ่มเติม: หากใครมีความคิดเห็นหรือคำถาม สามารถพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
ปล. แชร์บทความนี้ได้เพื่อเป็นธรรมทานครับ

_________________________________
ขอยกเนื้อความวินิฉัย ของ พระมหาอาทิตย์ อภิริโย ป.ธ9 วัดหาดใหญ่สิตาราม
#นั่งกระโหย่ง รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม
เรามักจะเห็นคำในพระบาลีว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวา แปลว่า นั่งกระโหย่ง แล้วประคองอัญชลี
อย่างไร ชื่อว่า นั่งกระโหย่ง
อย่างไร ชื่อว่า ประคองอัญชลี
มีหลักฐานตามพระไตรปิฎก และอรรถกถาหลายที่กล่าวไว้ ซึ่งเราสามารถมองออกได้ว่า ท่านนั่งอย่างไร เช่น
ในอรรถกถาพระธรรมบทกล่าวว่า
โส ปน ราชา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อุลฺลงฺฆนฺโต อฏฺฐารสหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฐตฺวา อุลฺลุงฺฆนฺโต อสีติหตฺถํ ฐานํ อภิรุหติ ฯ
แปลว่า ก็พระราชาพระองค์นั้น นั่งกระโหย่งแล้ว เมื่อกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ ๑๘ ศอก แต่เมื่อยืนกระโดด ย่อมลอยขึ้นไปได้ประมาณ ๘๐ ศอก
บาลีนี้ได้กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูมีความสามารถในการกระโดดสูงได้เพียงนี้ ไม่ขอกล่าวว่าท่านทำได้จริงหรือไม่ แต่กำลังบอกว่า ท่านนั่งอย่างไร แล้วจึงกระโดด ถ้าหมายถึงนั่งท่าขัดสมาธิ นั่งท่าพับเพียบแล้วกระโดด ย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งหากเป็นท่าเทพบุตรด้วยแล้ว กระโดดก็คงหัวทิ่ม
และในอรรถกถามโหสถชาดกตอนหนึ่งว่า
โส สาธูติ ตํ ขนฺเธ กตฺวา สพฺพํ ปาเถยฺยญฺจ ปณฺณาการญฺจ คเหตฺวา นทึ โอตริตฺวา โถกํ
คนฺตวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ปกฺกามิ ฯ
แปลว่า เขารับคำว่า ดีล่ะ แล้วให้หญิงคนนั้นขี่คอ ถือเอาเสบียงและเครื่องบรรณาการ ข้ามลงน้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็นั่งกระโหย่ง ก้าวไป
ข้อความนี้เล่าถึงว่า ชายสูงใหญ่รูปงาม ได้อาสาพาเมียของนายเตี้ยดำข้ามน้ำ ที่จริงน้ำไม่ลึกมาก พอเดินข้ามได้ แต่นายคนสูงอยากหลอกนายเตี้ยดำว่า น้ำนี้ลึกไม่ควรจะตามมา จึงแกล้งย่อเข่าลง ค่อยๆ เดินข้ามน้ำไป ที่หลอกเช่นนั้น เพราะต้องการแฟนคนสวยของเขา นายเตี้ยดำเห็นดังนั้น ก็ไม่กล้าลงน้ำข้ามไป แต่ภายหลังกลัวเสียแฟน จึงรีบวิ่งข้ามไปโดยไม่ห่วงชีวิต ติดตามอ่านได้ในมโหสถชาดก
จะสังเกตว่า เขานั่งอย่างไร จึงเดินไปในน้ำตื้นได้ ถ้าไม่ใช่นั่งยองๆ แล้วเดิน มองไม่เห็นเลยว่า นั่งท่าอื่นๆ แล้วจะเดินไปได้
ถ้ายังไม่หายสงสัย มาดูอีกที่หนึ่งจะเห็นชัด
กล่าวไว้ในอรรถกถามหาปทานสูตรว่า
ยถา หิ อญฺเญ อนฺโตกุจฺฉิคตา ปกฺกาสยํ
อวตฺถริตฺวา อามาสยํ อุทฺธริตฺวา อุทรปฏลํ
ปิฏฺฐิโต กตฺวา ปิฏฺฐิกณฺฏกํ นิสฺสาย อุกฺกุฏิกํ
ทฺวีสุ มุฏฺฐีสุ หนุกํ ฐเปตฺวา เทเว วสฺสนฺเต
รุกฺขสิสิเร มกฺกฏา วิย นิสีทนฺติ
น เอวํ โพธิสตฺโต
แปลว่า เหมือนอย่างว่าสัตว์เหล่าอื่นอยู่ภายในท้องบีบพุงแขวนกะเพาะทำแผ่นท้องไว้ข้างหลังอาศัยกระดูกสันหลังวางคางก้มไว้บนกำมือทั้งสอง นั่งเจ่าเหมืองลิงที่โพรงไม้เมื่อฝนตกฉันใด พระโพธิสัตว์มิได้เป็นอย่างนั้น (แปลตามพระไตรปิฏกที่แปลไว้)
บาลีตรงนี้ท่านกำลังอธิบายว่า ธรรมดาว่า พระโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในท้องของมารดาจะไม่อยู่ในท่าหรืออาการเหมือนทารกอื่นๆ ที่อยู่ในท่านั่งยองๆ จับสายสะดือ เหมือนลิงที่นั่งหลบฝนอยู่ตามโพรงไม้
ถึงบาลีนี้แล้ว คงจะมองออกแล้วกระมังว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระบาลีนั้น คือนั่งอย่างไร คงไม่มีลิงตัวไหนนั่งหลบฝนด้วยท่าเทพบุตร หรือท่าเทพธิดาหรอกนะ
ในสังคมไทยบัญญัติรู้กันว่า ท่าเทพบุตรและท่าเทพธิดานั้นสุภาพเรียบร้อย พอเห็นพระนั่งในท่ากระโหย่งประคองอัญชลี ก็มักจะติเตียน แทนที่จะสอบถามและหาความรู้
ท่านอาจารย์ได้ท่านั่งอย่างนี้มาจากที่ไหน มีกล่าวไว้อย่างไร พระพุทธเจ้าสอนไว้ไหม ไม่มีถามเลย
พอเจอก็ผรุสวาทอย่างเต็มที่
พระนี้นั่งสวดมนต์เหมือนนั่งขี้, นั่งเหมือนเปรตขอส่วนบุญ, นั่งไม่สมควรกับสมณะ ฯลฯ สุดท้ายก็ได้บาปกันไป
จริงๆ ท่านั่งกระโหย่งนี้แหละมีมาแต่เดิม ทุกคนนั่งท่านี้มาตั้งแต่ในท้องแม่ (ยกเว้นพระพุทธเจ้า) ถ้าจะไม่สุภาพ ก็คงเป็นคนไม่สุภาพมาแต่ในท้อง...แต่ใครล่ะจะยอมรับว่าตัวเองไม่สุภาพ
ส่วนคำว่า อัญชลี ท่านกล่าวว่า ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ อญฺชลิมฺปคฺคยฺห คือ ประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยการประกบกันของนิ้วมือทั้งสิบ จากบาลีนี้ จึงหมายถึง การประนมมือนั่นเอง
การนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี นี้เป็นท่านั่งของพระภิกษุในการประกอบพิธีต่างๆ อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการอุปสมบท การแสดงอาบัติ การสวดปาติโมกข์ การปวารณา วุฏฐานวิธี การขอขมา และการสวดสังฆกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
คือก่อนหน้านั้น ไม่รู้ว่า นั่งท่าใดกันอยู่ แต่พอจะมีการสวดหรือทำสิ่งใดเป็นทางการ ในพระบาลีจะกล่าวว่า ครองผ้าเฉวียงบ่า กราบเท้าพระเถระ นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี แล้วก็......แล้วแต่สังฆกรรม
ฉะนั้น เห็นสิ่งใดแล้ว สงสัย อย่าพึ่งตำหนิ จำสิ่งนั้นให้ดี ไม่ว่าจะเป็นคำพูด กิริยาท่าทาง แล้วตั้งคำถามในใจก่อน จากนั้นหาคำตอบให้ได้ก่อน เที่ยวถามผู้รู้ให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยลงความเห็น
ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ก็ควรเป็นเช่นนี้ ในการเสพข่าวเช่นกัน ก็ควรรู้ให้ชัดก่อนว่า จริงแท้ประการใด ถ้าไม่รู้ ให้สอบถามผู้รู้ แล้วค่อยลงความเห็น
การนั่งแบบพับเพียบ ขัดสมาธิ เทพบุตร เทพธิดา ก็เรียบร้อยดี ไม่มีการปรับอาบัติ ในท่านั่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราได้รู้ธรรมเนียมการนั่งกระโหย่งตามพระบาลีแสดงไว้ เพื่อสืบทอดต่อไป ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นไว้ก็คงไม่เสียหาย เพราะคำว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก และคนไทยเราส่วนมาก ยังไม่รู้ว่านั่งอย่างไร แต่พม่าหรือศรีลังกา มีให้เห็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก
ในพระบาลี กล่าวถึงการนั่งกระโหย่งในสังฆกรรมต่างๆ จริงไหม ตอบเลยว่าจริง (ค้นหาได้จากคำว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา)
ทำไมให้นั่งแบบนี้ ? ไม่มีเหตุผลแสดงไว้ ทั้งบาลี อรรถกถา และฎีกา
แต่ถ้าให้แสดงอัตโนมติ ก็คงว่าสมัยนั้น สังคมอินเดียเอง นั่งอย่างนี้กันเป็นธรรมดา
ทีนี้ หากเราไม่รู้เหตุผล เราไม่ควรทำตามใช่ไหม เพราะเราต้องมีปัญญา เมื่อไม่มีเหตุผล ก็ไม่ต้องทำตาม
ไม่ควรคิดเช่นนั้น พระวินัยเป็นสัพพัญญุตญาณ ไม่ใช่ปัจเจกโพธิญาณ หรือสาวกโพธิญาณ การที่เราไม่เข้าถึงเหตุผลที่แท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
เพราะในเรื่องวินัย พระสารีบุตรเอง ซึ่งเป็นพระสาวกที่ว่ามีปัญญามากกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท เพื่อให้ศาสนาตั้งมั่นดี กระนั้นยังถูกพระพุทธเจ้าทัดทานไว้
หลายคนมองท่านั่งกระโหย่งนี้ไม่สมควร โดยใช้สายตาปุถุชนมอง แม้สาวกยังเป็นไม่ได้ กล่าวตำหนิว่าไม่สมควร ไม่เท่ากับว่ากำลังตำหนิพระพุทธเจ้าว่า อนุญาตให้พระสงฆ์นั่งในท่าไม่สมควรหรือ ?
อริยูปวาท (การว่าร้ายพระอริยเจ้า) เป็นกรรมหนัก ไม่เบาเลย ห้ามสวรรค์ ห้ามมรรคผลนิพพาน
ไม่ต้องกล่าวถึงกลุ่มชนที่ด่าด้วยผรุสวาทเลย ว่าจะได้รับเคราะห์กรรมเช่นไร
เมื่อไม่รู้จึงควรหาความรู้ สอบถามหาข้อมูล
ถ้าไม่รู้ ไม่สอบถาม นิ่งเสียยังดีกว่า อย่าได้กระทำบาปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะบาป หากทำด้วยความไม่รู้ ก็ยังเป็นบาป และจะหนักกว่าคนรู้แล้วทำ
ในมิลินทปัญหา พระนาคเสนกล่าวว่า เหมือนคนที่กำถ่านเพลิงร้อนๆ ถ้าไม่รู้ว่ามันร้อน ก็จะจับและกำแน่น ส่วนคนรู้จะระวังระแวงในการจับ
สังวรระวังกายวาจาใจให้ดี...
อาจารย์พระมหาอาทิตย์ อภิวีริโย ป.ธ.๙
วัดหาดใหญ่สิตาราม ท่านได้รวบรวมไว้
เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผมและแก่คนที่ได้อ่าน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่