ช่วงเวลาที่ถือว่ามีความสำคัญและมีความเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าพุทธศาสนามากที่สุดช่วงหนึ่งก็คือช่วงเวลาที่ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ทรงผนวชไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตขึ้น หากแต่ยังทรงตั้งขนบธรรมเนียมทางวินัยปฏิบัติและการทำกิจวัตรต่างๆ หนึ่งในประเด็นหลักที่บทความนี้จะพูดถึงก็คือ “ธรรมเนียมการทำวัตร” ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือถกเถียงและอภิปรายกันเป็นวงกว้างเหมือนกับประเด็นอื่นๆ ในวงวิชาการเท่าไรนัก ทั้งยังถูกลดความสำคัญลงไม่เพียงแต่ผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาที่เป็นคฤหัสถ์แต่ยังรวมไปถึง “คนใน” ที่เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาอีกด้วยความ (ไม่) รู้ และความ (ไม่) เข้าใจต่อธรรมเนียมการทำวัตรที่เชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของพุทธแบบไทยในเวลาต่อมา ประเด็นก็คือ หากมีการทำวัตรมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจริงรูปแบบการทำวัตรในสมัยนั้นมีลักษณะอย่างไร
ขอเริ่มต้นด้วยมโนทัศน์ที่เกี่ยวกับ “ศาสนา” ในสายตาของนักวิชาการตะวันตกและตะวันออก ประเด็นนี้มิได้เป็นประเด็นหลักของบทความ ทว่าความ (ไม่) รู้และความ (ไม่) เข้าใจกลับเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาอยู่ไม่น้อย เช่นเป็นต้นว่า “ศาสนา” คืออะไรกันแน่? คำว่า “ศาสนา” ในภาษาไทยมาจากรากศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤตหมายถึงหลักคำสอนของพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ พุทธศาสนาในความรับรู้ของคนไทยจึงหมายถึงศาสนาที่แสดงด้วยคำสอนหรือการสอนที่มีแต่การเรียนรู้และการปฏิบัติที่มิได้มีนัยอะไรมากไปกว่านั้น
ในขณะที่ “religion” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน “religio” คำนี้มีนัยของพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นสำคัญโดยที่แยกไม่ออกจากความศรัทธา (faith) ใน “พระผู้เป็นเจ้า” (God) religion ที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “lig” “legere” นั้น ย่อมหมายถึงการศึกษาและการอ่าน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีตัวอักษร ศาสนาในความหมายแบบนี้จึงเป็นศาสนาในแบบของการอ่านตัวบท คำว่า religio จึงมีความสัมพันธ์กับศาสนาแบบเอกเทวนิยมที่เน้นความสำคัญของพระคัมภีร์เป็นอย่างยิ่ง (ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2562, น. 50)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งพุทธและคริสต์ศาสนาต่างมีขนบธรรมเนียมการทำวัตร ขนบธรรมเนียมแม้ว่า กรอบคิดทางศาสนาจะแตกต่างกัน คำว่า “ทำวัตร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึงกระทำกิจที่พึงกระทำตามหน้าที่หรือธรรมเนียม เช่น ไหว้พระสวดมนต์เช้า-ค่ำของพุทธบริษัท หรือทำวัตรพระและทำสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระภิกษุ เช่น ก่อนเข้าพรรษาพระภิกษุต้องไปทำวัตรพระอุปัชฌาย์ ที่อยู่ ต่างจังหวัด คำว่า “สวด” เป็นคำกริยา หมายถึง ว่าหรือกล่าวเป็นทำนองอย่างพระสวดมนต์ เช่น สวดสังคหะ สวดพระอภิธรรม อีกความหมายหนึ่งคือ นินทาว่าร้ายดุด่าว่ากล่าวเช่น ถูกแม่สวด ส่วนคำว่า “มนต์” เป็นคำนาม หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์คำสำหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์. (ป. มนุต; ส. มนุตร)
ในทางคริสตศาสนา การทำวัตรมีคำที่ใช้เรียกอยู่หลายคำในภาษาตะวันตกซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์หรืออิงแอบอยู่พระผู้เป็นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Liturgy of Hours หรือ Liturgia Horarum ในภาษาละติน หมายถึงรูปแบบการภาวนาหรือที่มีการกำหนดโมงยามที่ต้องสวดคำว่า Liturgy มาจากภาษากรีกหมายถึงการภาวนาร่วมกันเป็นหมู่คณะ คำว่า Work of God หรือ Opus Dei ในภาษาละติน หมายถึง งานของพระเจ้า คำว่า Divine Office หรือ Officium Divinum ในภาษาละติน หมายถึงสำนักงานพระเจ้าหรือการทำวัตร คำว่า Canonical Hours หมายถึง ชั่วโมงตามบัญญัติ (โปรดดูเพิ่มเติมใน Liturgy of hours)
การทำวัตรของคริสต์อาจเริ่มต้นจากอารามนักบวช มาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 4 ในแถบดินแดนตะวันออกกลาง โดยการจำศีลภาวนาไม่ยุ่งกับผู้คน อยู่ในที่ห่างไกล ภาวนาโดยใช้หนังสือเพลงสดุดี ทั้งหมดของดาวิด (David) ในเวลาต่อมา ก็มีนักบุญเบเนดิกต์ (Saint Benedict) เริ่มศึกษารูปแบบอารามในตะวันออกกลาง แล้วสร้างอารามในยุโรป และได้เริ่มแต่งหนังสือสวดทำวัตร ซึ่งใช้กันแพร่หลายมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 10
ในสมัยพุทธกาลไม่ปรากฏหลักฐานการทำวัตร หากแต่ใน “สังคีติสูตร” (ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ข้อ 221-363) ได้กล่าวเอาไว้ว่า ได้มีพระสาวกมาประชุมกันขบคิดที่จะรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นพระสูตรต่างๆ เพื่อใช้ท่องและสวดก่อนที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพานอย่างน้อยก็เพื่อรักษาพระพุทธวจนะของพระองค์ให้สืบไป ด้านหนึ่งก็เพื่อยืนกรานถึงความเป็นศาสนาที่เที่ยงแท้ ศาสนาที่มีพระศาสดาและคำสั่งสอน ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่น (ในกรณีนี้คือ นิครนถ์นาฏบุตร) ที่เมื่อพระศาสดาสิ้นลง สาวกก็ได้ต่างพากันแตกแยก จนในที่สุดไม่มีหลักคำสอนที่จะสืบทอดไป อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในสังคีติสูตรก็อาจจะเกิดข้อสงสัยได้เหมือนกันว่าพระสูตรต่างๆ ที่ปรากฏนั้นมีการสวดกันในลักษณะใด หรือมีการปรับแต่งเพิ่มเติมหรือไม่ (ชวนให้คิดต่อไปได้เหมือนกันว่า อาจเป็นการอ้างพระไตรปิฎกที่มีมาเมื่อครั้งพุทธกาลก็เป็นได้)
อย่างไรก็ดี เมื่อพุทธศาสนาเดินทางมาเข้ายังดินแดนสุวรรณภูมิ ในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้น วัดพุทธจะให้ความสำคัญกับพระสถูปหรือพระเจดีย์เป็นสำคัญซึ่งก็เหมือนกันกับในล้งแก ในแง่นี้ หากมีการสวดมนต์ทำวัตร (จริง) ก็ยิ่งชวนให้สงสัยว่าเราสวดเพื่อระลึกถึงใคร "พระผู้มีพระภาคเจ้า" หรือ "พระสถูปเจดีย์” กระทั่งเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา วัดพุทธหันมาให้ความสำคัญกับพระพุทธรูปแทน ทำให้พระเจดีย์ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นหัวใจหลักของการเคารพไหว้ กลายเป็นเพียงไม้ประดับที่มีประโยชน์เพียงเก็บพระอัฐิหรือเถ้ากระดูก แสดงให้เห็นถึงพลวัตของหลักคำสอนหรือความเชื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเรื่อยมา
การสวดมนต์ในสมัยก่อน พระสงฆ์มักจะสวดในเวลาเย็นของทุกวัน โดยเริ่มตั้งเวลาเหนึ่งทุ่มครึ่ง เป็นต้นไป การสวดมนต์เวลาค่ำนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สวดสาธยายพระธรรม” นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมของสงฆ์อีกอย่างหนึ่งในเวลาเช้าของแต่ละวัน คือเมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารเช้าเรียบร้อย ราวสองโมงครึ่งเช้า (08.30) พระสงฆ์และสามเณร “ทำวัตร” การทำวัตรเช้านี้มีบทสวดนอกจากบททำวัตรโดยเฉพาะ นั่นคือบทสวด “อภิณหปัจจเวกขณะ” เข้าต่อท้ายบททำวัตรทำนองสวดมนต์ (เริง อรรถวิบูลย์, 2514, น. 26 และ 30)
ในเอกสารตะวันตก ลา ลูแบร์ ได้กล่าวไว้ว่า “พระสงฆ์เมื่อตื่นจากจำวัดแล้ว พระภิกษุทั้งหลายก็ตามเจ้าอธิการ (เจ้าอาวาส) ไปลงพระอุโบสถเป็นเวลาสองชั่วโมง ที่นั่นท่านสวดมนต์เป็นภาษาบาลี และข้อความท่านสวดนั้นจารอยู่บนใบไม้ขนาดค่อนข้างยาว (ใบลาน) และผูกติดกันไว้ทางปลายด้านหนึ่ง ประชาชนไม่มีหนังสือสำหรับสวดมนต์วิงวอนพระเจ้า (เหมือนอย่างของฝรั่ง) เลย อิริยาบถของพระภิกษุเพลาสาธยายมนต์คือนั่งพับเพียบ และโบกตาลปัตรหรือพัดซึ่งโยกไปมาตามแต่พยางค์ที่ท่านกล่าวออกมา ท่านสวดพร้อมๆกันและด้วยระดับเสียงเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการสวดมนต์ในตอนเย็นเป็นเวลาสองชั่วโมงเหมือนกับตอนเช้า...”
ตามความเชื่อของคนโบราณถือกันว่าผู้ที่จะอุปสมบทใหม่จะต้องท่องจำบททำวัตรตามความเชื่อของพระ บทสวดมนต์อภิณหปัจจเวกขณะและท่องบทพระอภิธรรมให้ได้ก่อนในพรรษาที่ 1 และพรรษาที่ 2 ต้องท่องจำบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “พระปริตร” ให้ได้และในพรรษาที่ 3-4 ต้อง ท่องจำบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “ภาณวาร” รวมถึงบทสวดมนต์ที่เรียกกันว่า “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” และ “มหาสมัยสูตร” ได้ ในพรรษาที่ 5 จะต้องท่องจำสวดปาฏิโมกข์อันเป็นหลักพระวินัยของสงฆ์ให้ได้ ขนบดังกล่าวนี้ได้ใช้กันสืบมาเนืองๆ สวดมนต์ที่เรียกว่า “สวดบทภาณวาร” ลักษณะเฉพาะของการสวดภาณวารนั้นใช้พระสงฆ์จำนวน 5 รูป นั่งบนเตียงหรือตั่งเพียง 4 อีกรูปหนึ่งนั่งต่างหาก มิได้ออกเสียงสวด นั่งเป็นทำนองกำกับพระที่สวด 4 รูปนั้น อาการกิริยาที่นั่งแบบนี้ต่อมาภายหลังเรียกว่า “นั่งปรก” และถ้าเป็นงานพระราชพิธี พระสงฆ์ที่ที่อาราธนาสวดนั้นต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ การสวดเดิมใช้เวลา 3 วัน วันละ 1 สำรับ ขึ้นนั่งสวด 4 รูป สวดครั้งละ 2 รูป ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไป (เชิงอรรถ วิบูลย์, 2514)
นอกจากนี้ ยังมีการสวดอีกอย่างหนึ่งคือนิมนต์พระจำนวน 5 รูปหรือ 7 รูปบ้าง ไปสวดมนต์เพื่อความคุ้มครองป้องกันอันตราย การสวดในลักษณะนี้เรียกว่า “สวดพระปริต” ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ได้เกิดโรคห่าขึ้นในเมืองไพศาลี พระอานนท์จึงเข้าไปสวดสาธยายบทรัตนสูตร โรคนั้นก็หายไป” อาการที่พระสงฆ์สวดสวดบทรัตนสูตรนี้ก็หมายความว่าสวดสาธยายตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือหากเจ้าภาพอาราธนาพระสงฆ์สวดมนต์ในงานมงคล พระสงฆ์ก็สวดสาธยายมงคลสูตร หากเจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์เกี่ยวกับการบำรุงขวัญคนเจ็บป่วย พระสงฆ์ก็ใช้บทสวดมนต์ที่เรียกว่า “โพชฌงค์” นอกจากนี้ ยังมีบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการศพโดยเฉพาะแต่ไม่เรียกว่าสวดมนต์ นิยมเรียกว่า “สวดพระอภิธรรม” (เริง อรรถวิบูลย์, 2514)
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองคริสตศาสนาคาทอลิกเริ่มเข้ามาในสยามอันเป็นผลจากการที่ชาติต่างๆ ในยุโรปต่างพากันเข้าสำรวจ ยึดครองพื้นที่ และตั้งถิ่นฐาน ภายใต้ระบบอาณานิคม (colonialism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสจากฝรั่งเศส (Missions Etrangères de Paris) ที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนเพื่อเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและต้องการปรับเปลี่ยนศาสนาของผู้คน รวมไปถึงสร้างพระศาสนจักรคาทอลิกในท้องถิ่นและบุคลากรพื้นเมือง
วิธีการเผยแผ่หลักคำสอนที่บรรดาบาทหลวงใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีนัยในช่วงเวลานี้ก็คือ การเข้าหากษัตริย์ เพราะมิชชันนารีฝรั่งเศสพยายามชักชวนพระนารายณ์ให้เปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิกทุกครั้งที่มีโอกาสเข้าเฝ้า มิชชันนารีเหล่านี้ยอมเป็นสื่อทางการทูต เพราะคิดว่าถ้ามีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศสน่าจะช่วยให้พระนารายณ์เอนเอียงเข้ามารับคาทอลิกง่ายขึ้น ในจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวง ตาชารด์ ได้แสดงถึงเจตจำนงค์นี้ไว้อย่างชัดเจน ท่านบันทึกไว้เมื่อครั้งเดินทางมาถึงราชอาณาจักรสยามว่า
“ม.ก็องสตังซ์...มาพบ ฯพณฯ ตามพระกระแสรับสั่งใช้ หลังจากได้โอภาปราศรัยกัน ตามสมควรแล้ว ม.เดอ โชมองต์ก็หันไปสนทนาเกี่ยวกับเรื่องการแปลงศาสนาของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการแต่งทูตมาในครั้งนี้” นอกจากนั้นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนความเชื่อของพระนารายณ์ให้เป็นคาทอลิก ยังปรากฏอย่างชัดเจนมากในคำกราบทูลของราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โซมองต์ในปี ค.ศ. 1685 เพื่อชักชวนพระนารายณ์ให้เปลี่ยนศาสนา ส่วนหนึ่งมีใจความดังนี้ “หากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) จักทรงเห็นพระผู้เป็นเจ้าได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ถ้าจะทรงพระกรุณารับคำชี้แจงสักไม่กี่เพลาจากบรรดามุขนายกมิซซัง และพระบาทหลวงมิซซังอื่นๆ ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ข่าวดีอันยอดยิ่ง ที่ข้าพระพุทธเจ้าจักพึงนำกลับไปกราบถวายบังคมทูลพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวามินทร์ของข้าพระพุทธเจ้า (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ก็คือ ข่าวที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีความเชื่อถือในพระสัจจธรรม และทรงศึกษาพระคริสตศาสนาอยู่”
ใครลอกใคร : พินิจธรรมเนียมทำวัตรของพุทธ-คริสต์ โดย สุรัตน์ สกุลคู