วันพระ วันธรรมสวนะ - อัศจรรย์มนต์พิธี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


รายการนี้เป็นรายการที่จะนำเสนอพิธีการในการสวดมนต์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเชิญทุกท่านให้มาร่วมสวดมนต์ด้วยกัน
ซึ่งแต่ละบทที่จะมานำเสนอนั้นมีตำนานมากมายที่กล่าวถึง บ้างก็เคยหายสาปสูญไปแล้ว ซึ่งความมหัศจรรย์นั้นหาได้มีอื่นไกลเลย มันอยู่ที่กำลังใจของตัวท่านผู้สวดเท่านั้นว่าไปได้ถึงเพียงไร
ขอให้ทุกท่านสงบ จิต และอารมณ์ ณ ตรงนี้เสีย ทำใจให้สบายและรับฟังสิ่งที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอเหล่านี้เถิด

ซึ่งวันนี้เสนอตอน วันพระ วันธรรมสวนะ

วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน 8 ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน 14 หรือ 15 ค่ำ) แล้วแต่กรณี

หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใด ๆ โดยเชื่อกันว่าการทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปมากกว่าในวันอื่น

ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้

การเตรียมตัวไปวัดเพื่อทำบุญ

การเตรียมตัวไปวัดเพื่อทำบุญต้องเตรียมความพร้อม องค์ประกอบ 3 ประการคือ

1. การเตรียมกาย
ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวเรียบ หรือสีที่ ไม่ฉูดฉาด ไม่หลวมไม่คับเกินไป เนื่องจากจะไม่คล่องตัว ไม่ประดับร่างกายด้วยเครื่องประดับ ไม่ใช้เครื่องประทินผิว เช่น น้ำหอม เป็นต้น รับประทานอาหารแต่พอดี ไม่อิ่มจน อึดอัด เพื่อประทังความหิว เนื่องจากหากมีอาการหิว กระหายจะทำให้จิตใจไม่สบายไปด้วย ควรงดเว้นอาหาร ที่อาจจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นต้น

2. การเตรียมใจ
ให้ตัดความวิตกกังวลที่จะเกิดขึ้น เช่น เรื่อง ครอบครัวเรื่องการงานเป็นต้น

3. การเตรียมสิ่งของ
ให้จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อบูชาพระ อาหาร หวานคาว รวมถึงสิ่งของอื่น ๆ (ปัจจัยไทยธรรม) เพื่อไป ถวายพระสงฆ์ตามกำลังและความศรัทธา

ขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรม

การปฏิบัติกิจกรรมในการทำบุญของแต่ละวัด อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หลักปฏิบัติโดยส่วนใหญ่แล้วทุกวัดจะปฏิบัติเหมือนกันคือ

1. การทำวัตรสวดมนต์ (พระสงฆ์จะทำวัตร สวดมนต์ก่อน เมื่อพระสงฆ์ทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว อุบาสกอุบาสิกาจึงทำวัตรสวดมนต์ต่อจากพระสงฆ์ บางวัดอาจจะสวดมนต์แปล แต่บางวัดอาจจะสวดมนต์เป็นล้วน ๆไม่สวดแปลให้ทำตามธรรมเนียมของวัดนั้นๆ)

2. การรับศีล ในวันธรรมดาโดยทั่วไปจะสมาทานศีล 5 ในวันธรรมสวนะ (วันพระ) จะสมาทานอุโบสถศีลหรือศีลอุโบสถมี 8 ข้อ

3. การฟังธรรม

4. การบำเพ็ญจิตภาวนา

5. การถวายสังฆทาน

( คำสมาทาน ศีล ๕ )

๑.  ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการฆ่าสัตว์ , ไม่ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ ( ตายทั้งเป็น )  , ไม่ทำให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ เหมือนตกนรกทั้งเป็น )

๒.  อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการลักทรัพย์ ,ไม่ขโมยเวลา เข้างานสายกลับก่อน , ไม่เขียนเบิกสิ่งของ หรือ เงินทอง เกินความเป็นจริง , ไม่เอาของที่ทำงานกลับบ้านใช้ )

๓.  กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการประพฤติผิดในกาม , มีชู้ , มีกิ๊ก ตอนแต่งงานพ่อแม่ทั้ง ฝ่ายหญิงและชาย จะต้องเห็นดีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายถึงเรียกว่าไม่ผิดศีล )

๔.  มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการพูดปด  / พูดใส่ร้าย / คำพูดล่อลวงอำพรางผู้อื่น )

๕.  สุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  ( เว้นจากการดื่มสุราเมรัยเครื่องดองของเมาที่ทำให้ใจคลั่งไคล้มัวเมาต่าง ๆ จนทำให้มัวเมาตัวเอง , มัวเมา อำนาจ , ลาภยศ ,  เงินทอง และอบายมุข  )

บทแผ่เมตตาให้กับตัวเอง              

อะหัง   สุขิโต   โหมิ      ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข

อะหัง   นิททุกโข   โหมิ  ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์

อะหัง   อะเวโร   โหมิ    ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวรและกรรม

อะหัง   อัพยาปัชโฌ   โหมิ  ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความลำบาก

อะหัง   อะนีโฆ   โหมิ     ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรค  อันตราย

สุขี   อัตตานัง   ปะริหะรามิ    ขอให้ข้าพเจ้าจงมีสติสัมปะชัญญะอยู่ทุกเมื่อ  รักษากาย  วาจา ใจ  ให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

ที่มา http://dharmaxp.blogspot.sg/2015/11/blog-post.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่