🦢Yao - Chinese Folktales ตอน Goose Mountain - วัฏจักรรักซ้อน💞

กระทู้สนทนา

แอนิมเชั่นเรื่อง "Goose Mountain"  ถูกดัดแปลงมาจากร้อยแก้วภาษาจีนโบราณเรื่อง "Yang Xian Shu Sheng" โดย หวู่ จุน (Wu Jun) กวีแห่งราชวงศ์เหนือใต้ (Northern and Southern dynasties) และเป็นหนึ่งในซีรีส์ Yao—Chinese Folktales โดยค่าย Bilibili

ตัวละครในตอนนี้มีทั้งหมด 5 ตัว ได้แก่
👨‍🌾 พ่อค้าเร่
🦊 ปีศาจจิ้งจอก
🐰 ปีศาจกระต่าย
🐷 ปีศาจหมูป่า
🦢 ปีศาจห่าน

โดยตอนนี้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อค้าเร่ที่พบกับปีศาจจิ้งจอกขาเดียวระหว่างทางไปส่งห่านสองตัวให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในภูเขา ปีศาจจิ้งจอกได้เข้าไปสิงพ่อค้าเร่และบังคับให้เขาแบกกระเป๋าที่มีจิ้งจอกนั่งอยู่ในนั้นขึ้นไปยังยอดเขาห่าน (Goose Mountain) 

เมื่อไปถึงยอดเขา ปีศาจจิ้งจอกชักชวนให้พ่อค้าเร่นั่งลงพักผ่อนจิบเหล้าด้วยกันเพื่อเป็นการตอบแทนที่ได้มาส่งมันบนยอดเขาตามที่ตกลงเอาไว้ ไม่นานเมื่อปีศาจจิ้งจอกเริ่มเมาและง่วง มันก็คายปีศาจกระต่ายออกมาจากปาก จากนั้นปีศาจกระต่ายก็คายปีศาจหมูป่าออกมา ซึ่งต่อมาปีศาจหมูป่าก็พ่นปีศาจห่านแสนสวยออกมาอีกที 

พ่อค้าเร่จึงเริ่มตกหลุมรักกับปีศาจห่าน และนางก็ได้ขอให้เขาพานางหนีไป แต่ในท้ายที่สุด เมื่อปีศาจจิ้งจอกกำลังจะตื่น ปีศาจหมูป่าก็ได้รีบกลืนปีศาจห่านกลับลงท้อง ทำให้พ่อค้าเร่ไม่สามารถช่วยนางเอาไว้ได้ทัน ปีศาจกระต่ายก็ได้รีบกลืนปีศาจหมูป่ากลับลงท้อง และปีศาจจิ้งจอกก็ได้รีบกลืนปีศาจกระต่ายกลับลงท้องไปอีกทอดเช่นกัน 

พ่อค้าเร่ได้แต่อึ้งในหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปีศาจจิ้งจอกได้ก้มลงคำนับขอบคุณเขาและกระโดดขาเดียวหายตัวไปด้วยใบหน้าอันเป็นปริศนา ทิ้งให้พ่อค้าเร่ยืนเดียวดายบนยอดเขาห่าน โดยที่เขาสูญเสียทั้งห่านสองตัวที่เขาต้องนำเอาไปส่งและต้องสูญเสียปีศาจห่านที่เขามีใจให้ไปตลอดกาล

สามารถรับชมแอนิเมชั่นฟรีได้ทางช่อง Made By Bilibili - Chinese Donghua Animation หรือคลิกลิงค์ดูได้ที่ Youtube ข้างล่างได้เลยค่ะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


การตีความแอนิเมชั่นเรื่อง Goose Mountain และข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้

1) สะท้อนลักษณะของความรักความสัมพันธ์ที่มักจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำกว่าอีกฝ่ายเสมอ ซึ่งในแอนิเมชั่นเรื่องนี้สะท้อนภาพแนวคิดปิตาธิปไตย (Patriarchy) ของจีนโบราณที่ฝ่ายชายมักเป็นใหญ่ในความสัมพันธ์เสมอ สักเกตได้จากการที่ปีศาจสัตว์เพศหญิง ซึ่งก็คือ ปีศาจกระต่ายและปีศาจห่านต้องอยู่เฝ้าปรนนิบัติปีศาจจิ้งจอกและปีศาจหมูป่าซึ่งเป็นเพศชายเสมอ และเมื่อความเกิดความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์ ก็อาจทำให้อีกฝ่ายเบื่อหน่ายและคิดอยากจะมีใหม่ เลยเฝ้ามองหาชู้รักหรือใครสักคนมาไว้คลายความทุกข์ ความเศร้า ความขัดข้องหมองใจจากความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์นั่นเอง

2) สะท้อนลักษณะของความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) ที่ใครหลาย ๆ คน ใครหลาย ๆ คู่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อมีความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ต่างฝ่ายก็ใช้คำพูดแรง ๆ ด่าทอกันหรือการใช้กำลังเพื่อยุติการทะเลาะเบาะแว้งลง อันตีความได้จาก “การถูกกลืนกินเข้าไปในปาก” ซึ่งเปรียบเสมือนการฆ่าอีกฝ่ายให้ตายหรือการบังคับอีกฝ่ายให้เงียบไม่มีปากมีเสียงโดยการตัดจบการสนทนาแต่เพียงผู้เดียว และใช้คำว่า “รัก” กักขังหรือฉุดรั้งอีกฝ่ายเอาไว้ แม้อีกฝ่ายจะไม่มีความสุขเลย (การถูกกลืนกลับเข้าไปในท้องเปรียบเสมือนการถูกจองจำหรือกักขังเอาไว้ไม่ให้ออกมาเป็นอิสระได้)

3) สะท้อนลักษณะของความรักความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนรักของเรานั้นรักและซื่อสัตย์ต่อเราจริง ๆ หรือไม่ เมื่อลับตาเราแล้ว เขาจะมีใครคนอื่นซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างเราหรือซ้อนทับเอาไว้ในใจของเขาหรือเปล่า อุปมาเหมือนดั่งที่ตัวละครปีศาจสัตว์ที่กลืนกินกันเป็นทอด ๆ เข้าไปในปาก เมื่อฝ่ายที่เป็นใหญ่ในความสัมพันธ์หลับตาลงหรือมองไม่เห็น อีกฝ่ายก็จะนำเอาคนรักลับ ๆ ของตนออกมาชื่นชมอย่างเสน่หาเสมอ และเมื่อฝ่ายที่เป็นใหญ่ลืมตาตื่นหรือทำท่าว่าจะหันกลับมาเห็น อีกฝ่ายก็พร้อมที่จะเก็บซ่อนคนรักลับ ๆ ของตนเอาไว้ในที่ลับหรือใส่กลับเข้าปากไปทันทีนั่นเอง

4) สะท้อนวังวนของรักซ้อนที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง จะสังเกตได้ว่า แต่ละตัวละครก็ล้วนมีคู่ผูกพันกันเป็นทอด ๆ ซึ่งหากพ่อค้าเร่รับรักปีศาจห่านเข้าไปอีก ไม่แน่ว่า เขาอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรรักซ้อนที่กลืนกันต่อเป็นทอด ๆ อีกก็เป็นได้ นี่เองจึงเป็นกุศโลบายของเรื่องที่บอกเล่าว่า การเริ่มต้นความสัมพันธ์นั้นควรเริ่มเมื่อทั้งสองฝ่ายไม่มีใครซ่อนซ้อนอยู่ในความสัมพันธ์

5) สะท้อนลักษณะของมนุษย์ที่มักเก็บความลับไม่อยู่ และเมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนหรือผิดบาปอยู่ในใจ (ซึ่งในเรื่องคือการมีชู้/การมีรักซ้อน) ก็มักอยากจะเล่าให้ใครสักคนฟังและผู้ที่รับฟังนั้นมักเป็นคนที่ไม่รู้จักตนเป็นการส่วนตัวโดยส่วนใหญ่ เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่า ความลับคับอกที่ได้เล่าออกไปนั้น มันอาจจะย้อนกลับมาทำลายเราได้ เราจึงเลือกเปิดใจกับคนแปลกหน้าที่เพิ่งพานพบกัน เพราะคิดว่า เขาคงไม่มีโอกาสกลับมาทำร้ายเราได้นั่นเอง

6) สะท้อนความรู้ความเข้าใจในวัฏจักรธรรมชาติของกวีชาวจีนโบราณซึ่งเป็นผู้แต่งเรื่องนี้ นั่นก็คือ ความเข้าใจในเรื่องของการกินกันเป็นทอด ๆ ของสิ่งมีชีวิตเพื่อรับเอาพลังงานมาใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปในธรรมชาติ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Food Chain (ห่วงโซ่อาหาร) แม้ปีศาจสัตว์ที่กินกันเป็นทอดในเรื่องนี้อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักชีววิทยานัก แต่ก็สามารถสื่อให้เห็นลักษณะของห่วงโซ่อาหารได้ดี

7) สะท้อนกลลวงของมิจฉาชีพ ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามคติ "อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง" อันเป็นคติที่เข้ากับเนื้อหาของเรื่อง มาก ๆ ถ้าหากว่า เรื่องราวการกลืนกินกันเป็นทอด ๆ ของเหล่าปีศาจไม่ใช่เรื่องความรัก ก็อาจเป็นไปได้ว่า อาจเป็นกลลวงให้พ่อค้าเร่หลงเชื่อและติดกับดักเข้าไปเป็นเหยื่อในปากของปีศาจจิ้งจอกอีกรายนั่นเอง 

8) แอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังสะท้อนลักษณะการเล่าเรื่องแบบนิทานลูกโซ่  ซึ่งมักปรากฎในนิทานพื้นบ้านและตำนานโบราณในหลากหลายวัฒนธรรม เช่น ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า และตัวละครก็กระทำบางอย่างแล้วส่งผลกระทบต่อกันไปเป็นทอด ๆ

ภาพสวย ๆ จาก Fanart เรื่องนี้ค่ะ



แถมเพลงที่เข้ากับซีรีส์นี้อีกเพลงค่ะ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่