[เล่าจากมุมคนทำโรงแรม] เป็นเจ้าของโรงแรม: เสือนอนกิน หรือ หน้าชื่นอกตรม ?

จากกระทู้ที่ผ่านมา

ผมลองนั่งๆนึกเรื่องที่อยากแบ่งปัน เล่าประสบการณ์ บ่นความอัดอั้นตันใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ทำธุรกิจนี้หากผ่านเข้ามาอ่าน
สังคมไทยเรานิยามภาพคนทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ว่าเป็น "เสือนอนกิน" ภาพลักษณ์ดี หรูหรา ฟู่ฟ่า

มา...เดี๋ยวผมจะเล่ามุมของผมในฐานะคนทำโรงแรมสามดาวให้ฟัง 

ถ้าผมจำความรู้วิชาสังคมสมัยเรียนดาว้องค์กับอาจารย์ปิงไม่ผิด
ในทางพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ ได้แบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 4 ประการด้วยกัน
คือ (1) ที่ดิน    (2) ทุน    (3) แรงงาน  และ (4) ผู้ประกอบการ

ครอบครัวของผมในฐานะผู้ประกอบการ เราสร้างโรงแรมขึ้นมาบนที่ดินที่เป็นของเราเอง และด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว 
เรียกได้ว่า จากปัจจัยการผลิต 4 ประการ เรามีต้นทุนอยู่ในมือแล้วถึงสามประการด้วยกัน มีเพียงปัจจัยด้านแรงงานเท่านั้นที่เราต้องขวนขวายมาเติม

อย่างที่ผมบอกไปในกระทู้ก่อน ครอบครัวผมทั้ง 4 คน เราไม่มีความรู้ด้านการโรงแรมเลยครับ
ไม่มีใครเรียนจบบริหารธุรกิจเช่นกัน คุณพ่อผมอาจมีประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานเอกชนมาบ้าง
แต่สิ่งที่ครอบครัวเรามีร่วมกันคือ ประสบการณ์การเป็นนักท่องเที่ยวตัวฉกาจ 
เราเอาประสบการณ์ตรงนั้นแหละมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่เราทำ
โรงแรมของเราจึงเป็นคอนเซปต์ง่ายๆ "สร้างบ้านที่มี 40 ห้องและปฏิบัติต่อลูกค้าเสมือนหนึ่งว่าเป็นแขกที่มาพักในบ้านของเรา“ 

เมื่อเราลงมือทำโรงแรม คำถามยอดฮิตที่ถูกยิงเข้ามาจากสังคมภายนอก มีอยู่ 2 คำถามครับ
คือ (1) OCCUPANCYเท่าไหร่?   และ  (2) กี่ปีคืนทุน? 

แทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง หรือบรรดา tele-sales จากบรรดา OTAs ต่างๆ จะชูประเด็นหรือยิงคำถามเรื่อง OCCUPANCY เสมอๆ
ผมก็ไม่รู้จริงๆว่าทฤษฎีการโรงแรมได้สอนไว้อย่างไร OCCUPANCY เท่าไหร่ถึงจะถือว่า "สอบผ่าน"

แต่ผมบอกความจริงจากใจไว้ตรงนี้เลยครับว่า โรงแรมผมไม่เคยเต็ม 100% เลยครับ 55555 เขิลจัง
ในช่วงพีคสุด จากห้องพักทั้งหมด 40 ห้อง ผมรับเต็มที่ประมาณ 32 ห้อง ไม่เกินนี้ครับ 

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั่น? 
คำตอบคือ มันเกิด "ความกลัว" และ "ความกังวล" ต่างๆมากมาย เช่น 
ถ้าเรารับเต็ม100% แล้วเกิดว่าแอร์เสียหล่ะ? 
ถ้าเกิดเครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงานหล่ะ? 
ถ้าท่อประปาแตกหล่ะ? 
ถ้าไฟดับหล่ะ?  
เราไม่ได้จ้างช่างประจำตึกครับ  เรารับความเสี่ยงตรงจุดนั้นไม่ไหว และเรากลัวที่สุดคือการมอบบริการที่ไม่สมบูรณ์ให้กับผู้เข้าพัก

แล้วในช่วงปกติหล่ะ อัตราการเข้าพักอยู่ที่เท่าไหร่?
ผมก็ขอตอบแบบไม่อายเลยครับว่า ช่วงกลางสัปดาห์อยู่ราวๆ40% ครับ ส่วนช่วงสุดสัปดาห์ได้ 50%-60% 
แค่นี้บ้านผมก็กระสับกระส่ายอยู่ไม่เป็นสุขแล้วครับ บอกตรงๆว่ากลัว กลัวทำความสะอาดห้องไม่ทัน  กลัวความสะอาดจะหลุด QC 
เพราะผมจ้างแม่บ้านเพียงสามคนเท่านั้น  โดยแต่ก่อนอ่ะ แม่ผมกับน้องผมทำหน้าที่เป็น supervisor 
คือเป็นคนre-checkผลงานแม่บ้าน ก่อนจะปล่อยห้องนั้นๆกับลูกค้า 
ส่วนผมนั้น ช่วงแรกๆของการมาทำโรงแรม ผมรับหน้าที่นั่งประจำอยู่ตำแหน่งรีเซปชั่นพร้อมกับดูแลภาพรวมรวมถึงติดต่อ OTAs

แล้วในช่วง Low Season อัตราการเข้าอยุ่ที่เท่าไหร่?
ถ้าไม่นับช่วงโควิดซึ่ถือว่าเป็น "เหตุการณ์ไม่คาดฝัน"  ต่ำสุดที่เคยพบมาคือวันนึงมีลูกค้า 4 ห้องครับ
เรียกได้ว่าพ่อกับแม่ก็นั่งมองตากันเลิ่กลั่กเหมือนกัน ว่าเราทำอะไรพลาดไปตรงไหนหรือไม่
แต่พอเรามองกลับมาที่สิ่งอาจะเรียกได้ว่าเป็น "ข้อจำกัด" เช่น ไม่รับลูกค้าที่มีเด็ก หรือ ไม่มีบริการเตียงเสริม/เตียงคู่ 
เราก็ต้องกลับมายอมรับว่า กฎ ที่เราตั้งนั้นทำให้เราเสียกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มครอบครัว และ กลุ่มพนักงานบริษัท ไป

เอาจริงๆนะ Low Season สำหรับโรงแรมผมไม่มีperiodตายตัวครับ ทำมา8-9ปี ช่วง Low นี่ไม่ค่อยซ้ำเดือนกันเลย
บางที Lowเดือนมิถุนายน บางทีมา Lowเอาเดือนตุลาคมนู่นแหนะ

แล้วถ้ามีห้องพักแค่ 4 ห้อง พนักงานทำอะไร?
คำตอบคือ เราให้พนักงาน Deep Clean ครับ เช่น ลากตู้เย็นออกมาเช็ดหลังตู้ ยาแนวกระเบื้องที่มันดำ เช็ดกระจกด้านในด้านนอก ถอดม่านซัก เป็นต้น 
บางทีก็อาจให้พนักงานใช้สิทธิ์ลาพักร้อน ซึ่งปีๆนึงเขาจะได้สิทธิ์กันคนละ 6 วัน นอกเหนือจากวันหยุดตามประเพณี

////

การทำโรงแรมแบบไม่ได้เน้น Occupancy แน่นอนครับว่ามันมีผลต่อคำถามถัดมาคือ "กี่ปีคืนทุน?" 

ถ้ามองการคืนทุนในมุมเศรษฐศาสตร์ที่หมายถึง ได้เงินที่ลงทุนสร้างตึกไปกลับเข้ามาในกระเป๋า  
ผมขอตอบแบบไม่เอาหล่อนะ ผมว่าโรงแรมผมมันไม่มีทางคืนทุนอ่ะครับ 

แต่ถ้าให้มองในมุมที่ว่า เราลงทุนสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาในที่ดินเปล่าของเราเอง  สิ่งที่เราได้ก็คือมูลค่าของที่ดิน(พร้อมสิ่งปลูกสร้าง) ที่มันเพิ่มขึ้น
และถ้ามองการคุ้มทุนในมุมของการใช้ชีวิต การลงทุนสร้างโรงแรมขนาดเล็กที่พอให้เราบริหารจัดการได้เองนั้น  
มันทำให้ผมกับน้องมีอาชีพ มีโอกาสในการใช้ชีวิตในหลักคิดแบบที่ตัวเองยึดถือ และมีโอกาสได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ทำประโยชน์ให้ตัวเองและครอบครัว ถ้ามองในมุมนี้ ผมก็ว่ามันก็พอจะคืนทุนอยู่บ้างแหละมั้ง...  

คือถ้าเราทำโรงแรมบนพื้นฐานความคิดที่ว่าเรา "สร้างบ้าน" แน่นอนครับว่า บ้านมันต้องดูแล ปรับปรุง ซ่อมแซม รักษาสภาพอยู่ตลอด
สีตรงนั้นถลอก กระเบื้องตรงนั้นเป็นซาลาเปา เฟอร์นิเจอร์ไม้ตรงนั้นด่าง ห้องนี้ไม้รองเตียงโป่ง ขยายพื้นที่จอดรถ เพิ่ม facilities
ยิ่งพอเข้าฤดูฝนนี่นะ ปัญหาไม้ขึ้นเชื้อรา ไหนจะต้องตัดหญ้าถี่ๆ 
โอ๊ยยยคุณ สารพัดอ่ะ เราต้องซ่อมแซมปรับปรุงดูแลอยู่เสมอๆ 

ผมไม่ทราบจริงๆว่าในทางทฤษฎีการโรงแรม หรือ หลักบริหารธุรกิจ เขาคิดคำนวณการคุ้มทุน คืนทุนอย่างไร
แต่ก็พอได้ยินผ่านๆหูจากการพูดคุยเก็บเกี่ยวความรู้จากการเป็นนักท่องเที่ยวของตัวเอง ว่า
โรงแรมส่วนใหญ่เน้นรับลูกค้าให้เต็ม , Full Capacity ใช้ห้องให้คุ้ม ใช้facilitiesทุกอย่างให้คุ้ม
4ปีคืนทุน ปีที่ 5 คุยกับสถาบันการเงินเพื่อขอทุน Big Renovate โยนทุกอย่างทิ้ง เอาของใหม่ลง แท่นแท๊นน! แล้วก็รับลูกค้าเต็มcapacity วนลูปเป็นcycleแบบนี้   ถ้าให้ผมนึกภาพ ก็คงเหมือนอู่รถแท้กซี่ที่ควงกะกันเช้าสายบ่ายค่ำ วิ่งไปเลยล้านกิโล หมดอายุก็ขายซากทิ้ง

แต่สำหรับครอบครัวผม หลักคิดของเราต่างออกไปสักหน่อย

กล่าวคือ เราให้ค่ากับสิ่งของทุกชิ้น ดูแล และพยายามรักษาสภาพให้ดีที่สุด
เราเลือกใช้ของที่มีคุณภาพ  เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะเลือกใช้ของที่อายุขัยสั้นแบบ ใช้แล้วทิ้ง 
ยกตัวอย่างที่นอนนี่ก็มีแบรนด์ที่พอเป็นที่ยอมรับนะ ไม่ใช่เอาที่นอนปีนังแบรนด์ ชบา จำปา จำปี 
เรียกได้ว่านอนแล้วหลับแบบปอเต๊กตึ๊งมาเคาะห้องเลยแหละ 

อีกส่วนหนึ่งที่อาจจะเรียกว่า "ทริค" ก็ได้ คือ
ผมเน้นปล่อยห้องแบบกระจายครับ ปล่อยห้องเว้นห้อง เช่น วันนี้ปล่อยห้อง 101 , 103 ,105 พรุ่งนี้ปล่อย 102 ,104 ,106
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ ห้องของเราได้พักครับ มันไม่ช้ำ และ มันเป็นการยืดอายุเฟอร์นิเจอร์ และ ยืดเวลาการรีโนเวทออกไป
นอกจากนี้ การปล่อยห้องสลับ ยังส่งผลดีต่อแขกผู้เข้าพักด้วย อย่างน้อยๆก็เรื่องกลิ่น ซึ่งห้องจะได้ไม่มีกลิ่นของผู้เข้าพักคนก่อนอยู่
และอีกเรื่องคือเรื่องเสียงรบกวนของห้องข้างๆ การปล่อยห้องกระจายๆมันช่วยได้จริงๆนะ 

แต่ปัญหาหนึ่งที่ผมต้องยอมรับคือ ปัญหาในเรื่อง "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ครับ
เครื่องใช้ไฟฟ้าในยุคปัจจุบันมีอายุการใช้งานสั้นครับ  หากท่านใดเกิดทันยุคเครื่องทำน้ำอุ่น National หรือ พัดลมตั้งโต๊ะ Distar ตู้เย็น Singer
ขอบอกเลยนะว่า จงลืมภาพความทนทานของอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อ 30 ปีก่อนไปซะ
เครื่องใช้ไฟฟ้ายุคนี้อายุขัยสั้นมากๆครับ  ต่อให้เราไม่ได้ใช้งาน บทมันจะพัง มันพังเอาดื้อๆเลยนะ
อันนี้ก็เป็นความรู้ใหม่ที่ผมได้มาสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

////

หลายคนสละเวลาอ่านมาถึงตรงนี้ อาจสรุปทันทีว่า "อ่าว...งี้เมิงก็เสือนอนกินดิ"
ฟังก่อนครับ ฟังผมเล่าให้จบก่อน
ขอต่อในคอมเมนท์ละกันครับ เกินโควต้าตัวอักษรละ

////
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่