ตามรอยวัฒนธรรมขอมสมัยอยุธยา : อรรถรสน่ารู้ ก่อนดูซีรีย์ “แม่หยัว”

เปิดปม มูลเหตุปัจจัยความคับแค้นในใจสายราชวงศ์อู่ทองที่มากกว่าสู้เพื่อบรรพบุรุษ 
แบบตีความภูมิหลัง

“ขอม” ไม่ได้แปลว่า “เขมร” โดยตรง แม้ศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรขอม
อยู่ในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน  
แต่เป็นไปได้ที่ทั้งชาวเสียม/สยาม และชาวเขมร ต่างซึมซับวัฒนธรรมขอม  
ขอม หมายถึง กลุ่มชนที่นับถือศาสนาฮินดูในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาศัยอยู่ตอนใต้อาณาจักรล้านนา  เหนือมาลายู 

เดิม ขอม คือ ชาวทมิฬ ที่อพยพมาจากอินเดียใต้
มาตั้งถิ่นฐานผสานรวมกับชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ
ความเชื่อแบบฮินดู ถูกนำมาประยุกต์ผสานเข้ากับศาสนาพุทธ 
ประชุมพงศาวดาร เรื่อง พงศาวดารตอนไทยมาจากเมืองเดิม
กล่าวว่า สุวรรณภูมิ มาจากสามชนชาติหลัก คือ ขอม ลาว มอญ 

ขอย้ำ ชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะเกลียดเพื่อนบ้าน
ทั้งคนไทย และคนกัมพูชา สมควรหรือที่จะเคลมนั่นเคลมนี่ 
การผสมกันระหว่างวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ 
มีมาก่อนการแบ่งพรมแดนประเทศ/รัฐสมัยใหม่  
มีแว่นแคว้นชนกลุ่มย่อยที่ทั้งทำสงคราม ทั้งผูกมิตร ทั้งสมรสรวมสายเลือด
เพื่อลดปัญหาการท้าทายจากเมืองข้างเคียงและเมืองลูกหลวงในปกครอง 
ทางออกในปัจจุบัน คือการรวมคุณค่า แล้วโปรโมทการท่องเที่ยวร่วมกัน

พระปรางค์
ในซีรีย์แม่หยัว อีพี 1  ตัวละครพระไชยราชา กษัตริย์อยุธยา
ต้องการสร้างพระปรางค์ เพื่อล้างความบาป / สร้างบุญให้บุคคลที่ตนต้องฆ่าด้วยอำนาจหน้าที่
ในเมืองเก่า โบราณสถานกรุงศรีอยุธยา เต็มไปด้วยพระปรางค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบขอม 

ตามความเชื่อฮินดู พระปรางค์เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ
ภายในใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป  ศิวลึงค์ 
สร้างขึ้นเพื่อแสดงการบูชาต่อสิ่งศักดิสิทธิ์

ส่วนเจดีย์ เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา
บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ( พระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้า )
ใช้ในการเคารพบูชา รำลึกถึงพระศาสดา
ตัวอย่างเช่น พระปฐมเจดีย์ จ. นครปฐม   
เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง/ร่างกุ้ง (ชื่อนี้แปลว่า จุดจบแห่งสงคราม หมดสิ้นสงคราม)

จุดเช็คอินลพบุรี อย่าง พระปรางค์สามยอด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  
ในเพชรบูรณ์ ปราสาทหินพิมาย ในนครราชศรีมา
ปราสาทหินพนมรุ้ง ในบุรีรัมย์  อังกอร์วัด ล้วนเป็นปราสาทหิน/เทวาลัยแบบขอมโบราณ  

เป็นไปได้ว่า “พันบุตรศรีเทพ” ตำแหน่งราชการในช่วงแรกของขุนวรวงศาธิราช  
อาจบ่งบอกว่าเป็นพราหมณ์ที่มาจากเมือง “ศรีเทพ” หรือ
ผู้บูชาหรือผ่านพิธีกรรมจากศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น

ปัจจุบัน เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ใน จ.เพชรบูรณ์  
เมืองศรีเทพอยู่ติดชายแดนแคว้นละโว้กับอาณาจักรอังกอร์/ขอม
จึงน่าจะเป็นเมืองสองวัฒนธรรม 

หากบุพเพสันนิวาต ทำให้คุณเที่ยวอยุธยาสนุกขึ้น
แม่หยัว อาจจะทำให้คุณพินิจองค์ประกอบวัฒนธรรมขอมในไทยอย่างเข้าใจคุณค่า

ชื่อเมือง 
อยุธยา/อโยธยา แปลว่า “เมืองที่ไม่อาจรบชนะได้” 
สันนิษฐานว่ามาจากชื่อเมืองของพระรามในวรรณคดีอินเดียเรื่อง รามายณะ

อะ = ไม่ได้, ไม่มี  + ยุทธ = การรบ, ทำสงคราม,  + อา = เป็นคำปัจจัย แปลงคุณศัพท์เป็นนาม
ปราศจากการสู้รบ ไร้คู่แข่ง 
ข้อสังเกต สุโขทัย การตั้งชื่อใส่ใจต่อความสุข  สุข+อุทัย = รุ่งอรุณแห่งความสุข  
ส่วนอยุธยา ตั้งชื่อในเชิง  เมืองที่เข้มแข็งด้านการรบ  

ชื่อวรรณคดี รามเกียรติ์ แปลว่า เกียรติแห่งพระราม
หากใครเคยอ่านบทบรรยายเมืองของพระราม น่าจะสร้างแรงบันดาลใจ
ให้อยากสร้างเมืองให้คล้ายคลึงกัน 

พระรามเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในศาสนาฮินดู
เป็นหนึ่งในอวตารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของพระวิษณุ(อวตารปางที่เจ็ด)
เรื่องราวเกี่ยวข้องกับการคุมทัพ กลเกมทางการเมือง จริยธรรมของพระราชา  
พระนามกษัตริย์องค์แรกของอยุธยา (พระเจ้าอู่ทอง)  คือ 
พระรามาธิบดีที่ 1 (รามา/พระราม + อธิป/เป็นใหญ่ + บดี / นาย ผู้ครอง) 

อโยธยา - อยุธยา 
เดิม “อโยธยาศรีรามเทพนคร” เป็นเมืองท่าของแคว้นละโว้ ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย 
ต่อมาเมื่อเติบโตเป็นอาณาจักร จึงย้ายไปสู่ชัยภูมิที่ปลอดภัย คือ 
เกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบ มีปราการธรรมชาติที่ข้าศึกโจมตีได้ยาก  
กรุงศรีอยุธยามีชื่อเต็มว่า
“ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ”
-- เริ่มเรียกขานว่า อยุธยา เมื่อสถาปนาอาณาจักร

นอกจากนี้  ยังพบว่า อโยธยา เป็นเมืองเก่าแก่ในอินเดียที่มีอยู่จริงในแผนที่
จึงอาจเล่าขานต่อกันมาโดยชาวฮินดูที่อพยพมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ละโว้
ละโว้ เป็นแคว้นที่ขอมขยายอิทธิพลเข้ามา จากเดิมศูนย์กลางอยู่นครวัดนครธม
ละโว้เป็นพื้นที่ลี้ภัย ของเชื้อพระวงศ์ สายขอม เมื่อมีปัญหากบฏ หรือปัญหาภายในต่างๆ  
 เช่น ในสมัยพระชัยวรมันที่ 9 มีกบฏเขมร

(ฟังหูไว้หู ในมุมของนักประวัติศาตร์ เขมรเป็นชนพื้นเมือง
บางทฤษฎีเล่าว่า เขมร คือชาวเกาะที่อพยพมาทำงาน ต่อมาสามารถล้มชนชั้นปกครองคือขอม)
เมื่ออาณาจักรขอมอ่อนแอลง  แคว้นละโว้ สุพรรณภูมิ อาณาจักรสุโขทัย เติบโตขึ้นในยุคต่อมา 
 
ราชวงศ์อู่ทอง และ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ในสมัยอยุธยาตอนต้น สองราชวงศ์ที่สืบราชสันตติวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง เชื้อสายละโว้
กับ ราชวงศ์ สุพรรณภูมิ เชื้อสายเมืองสุพรรณบุรี  

เป็นไปได้ที่ทั้งสอง มีกลุ่มทางการเมืองในราชสำนัก ต่างกลุ่มต่าง
สนับสนุนให้เจ้านายฝ่ายตนขึ้นครองราชย์ ซึ่งน่าจะง่ายต่อการสื่อสาร
ตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมร่วมกัน

ขอมมีภาษา ศาสนา ของตนเอง
และแน่นอนว่า ในยุคหลังก็คือสยามขอม ผสานกับวัฒนธรรมไทย
แต่รากทางวัฒนธรรม ความเชื่อ mindset ยังต่างกันอยู่  
 
ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า 
พระเจ้าอู่ทอง น่าจะมีเชื้อสายจากละโว้  (ลพบุรี ตามแผนที่
อยู่ฝั่งขวาบนของอยุธยาปัจจุบัน
เป็นโซนที่ได้รับการแผ่รังสีวัฒนธรรม-อำนาจ จากอาณาจักรขอม)
ค้องการกำลังพลเพื่อตีพระนคร/นครวัดคืน หลังจากมีกบฏเขมรสมัยพระชัยวรมันที่ 9 
จึงหาพันธมิตร ก็คือ แคว้นสุพรรณภูมิ

พระเจ้าอู่ทอง เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอู่ทอง ซึ่งเป็นเมืองหลวงแคว้นสุพรรณภูมิ
พระมเหสีของพระองค์คือธิดาของเจ้าเมืองอู่ทองคนที่ผ่านมา
และเป็นสหายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐา (พี่ชาย) ของพระมเหสี 
ขุนหลวงพะงั่ว ยังเคยช่วยเหลือพระราเมศวร พระโอรส ของปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา ปราบอาณาจักรขอม

ครานั้น รวมทัพตีนครวัดสำเร็จ 
แล้วให้อยู่ในสถานะเมืองภายใต้การปกครอง โดยไม่ได้ย้ายศูนย์อำนาจไปที่นั่น
บรรดาเมืองลูกหลวง เมืองประเทศราช ยังคง "แข็งเมือง"
จนอยุธยาต้องยกทัพไปปราบอยู่เนืองๆ  สงครามจึงมีตามมาในรัชกาลต่อๆมา  
 
วัฒนธรรมขอม มีอิทธิพลต่อการปกครองสมัยอยุธยา เพราะ..

1.          พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา
มีเชื้อสายละโว้  จึงรับวัฒนธรรมขอมมาแต่กำเนิด  
(ตามชินกาลมาลีปกรณ์และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
แต่แหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์อื่น บันทึกแตกต่างกันไป
จึงยังไม่มีข้อสรุปยืนยัน แต่เห็นได้ชัดว่า
อยุธยารับวัฒนธรรมขอมมาใช้ อย่างกว้างขวาง ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น สถาปัตยกรรม)

2.          การแผ่ขยายของวัฒนธรรมขอมสู่ดินแดนข้างเคียง ผ่านการอพยพ เดินทาง ค้าขาย สงคราม

อิทธิพลของวัฒนธรรมขอมต่อการปกครอง
กษัตริย์สมัยสมัยอยุธยา ได้รับการเคารพดั่ง สมมุติเทพ/เทวราชา
ต่างจากสุโขทัยที่มีวัฒนธรรมการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก 
บริบทของอยุธยา กษัตริย์ทำศึก ขยาย/ปกป้องดินแดน  
คติความเชื่อนี้ สร้าง mindset โลกทัศน์ ส่งเสริมการขยายอาณาจักร
สร้างเมืองอันวิจิตรอลังการห์ มีอำนาจเหนือเมืองที่อ่อนแอกว่ารอบข้าง

กษัตริย์ คือ เจ้าของแผ่นดิน เจ้าของชีวิตราษฎร
เขตพระบรมมหาราชวังไม่ใช่พื้นที่ที่สามัญชนเข้านอกออกในได้ 
 
ในช่วงแรก ทั้งสองราชวงศ์ ร่วมมือกันทั้งการก่อตั้งอาณาจักร
ร่วมรบปราบเมืองบริวารให้อ่อนแอลง และมีความสัมพันธ์
รวมสายเลือด 

หลังพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สิ้นพระชนม์
พระราเมศวร พระโอรส ครองราชย์เพียง 1 ปีก็ถวายราชสมบัติให้
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ซึ่งเป็นพระมาตุลา/ลุง-พี่ชายของแม่

สันนิษฐาน ว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะ
1. ในยุคนั้น ยังคงมีศึกสงคราม ต้องมีกษัตริย์ที่เชี่ยวชาญการรบ 
2. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว)  มองว่า
เขตแดนของอยุธยาเมื่อย้ายจากเมืองอโธยา เมืองท่าแห่งแคว้นละโว้
มายังชัยภูมิใหม่ ซึ่งเป็นฝั่งสุพรรณภูมิ จึงต้องการลดบทบาทชาวละโว้
ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้านายจากอาณาจักรขอมที่ลี้ภัยมาสร้างอำนาจใหม่ 

3. การเมืองภายในระบบขุนนาง วัฒนธรรมเดิมที่ต่างกัน ร่วมงานกันลำบาก
จึงยุยงให้ผู้นำฝ่ายตนขึ้นเป็นใหญ่

4. พระราเมศวรอาจสำนึกในบุญคุณที่เคยช่วยปราบเขมร และเห็นว่า
พระมาตุลา/ลุง-พี่ชายของแม่ ร่วมมือสถาปนากรุงและผ่านศึกมาร่วมกับพระบิดา

5. อาจมีมุมมองต่างกัน ระหว่าง ฝ่ายพระเจ้าอู่ทองกับฝ่ายขุนหลวงพะงั่ว
เมื่ออยุธยาเจริญขึ้น ต่างมองว่า นี่จะเป็นศูนย์กลางอารยธรรมแห่งใหม่ 
ฝ่ายสุพรรณภูมิ มองว่า เมื่อรบชนะเขมรแล้ว เชื้อสายขอมควรจะไปอยู่ในเขตพื้นที่เดิม
ส่วนสายราชวงศ์อู่ทอง มองว่า แกนนำในการสถาปนาอยุธยา ก็คือ พระเจ้าอู่ทอง
ความเป็นขอม ไม่ได้เหลืออยู่เต็ม เพียงแต่สืบสายมาหลายชั่วอายุคน
ความเป็นชาวสยามนั้นมีอยู่ เติบโตรับราชการในสยาม ราชวงศ์อู่ทองจึงควรเป็นใหญ่

อย่างไรก็ดี เมื่อมองเหตุการณ์ถัดมา สมมุติฐานในแง่ดี มีน้ำหนักน้อยลง
เมื่อพระราเมศวร พระโอรสพระเจ้าอู่ทอง รัชกาลที่ 2 แห่งอยุธยา
ถวายบัลลังค์ให้เสด็จลุงฝายแม่ แล้ว
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (รัชกาลที่ 3 แห่งอยุธยา) ครองราชย์ถึง 18 ปี 
เป็นไปได้ที่ขุนนางสายสุพรรณภูมิเริ่มมีสัดส่วนในอยุธยามากขึ้นตามเวลา
ส่วนบทบาทชนชั้นนำของสายอู่ทอง ค่อยๆ ลดน้อยลง

สมเด็จพระราเมศวรทำรัฐประหาร ชิงราชสมบัติคืน จากสมเด็จพระเจ้าทองลัน 
พระราชโอรสของพระมาตุลา/ลุง-พี่ชายของแม่ ซึ่งครองราชย์ได้เพียง 7 วัน
แล้วสั่งประหารชีวิต ให้คุมตัวไปสำเร็จโทษ 
ตรงนี้ เห็นได้ว่า สัมพันธ์ทางสายเลือดและการร่วมงานระหว่างสองราชวงศ์
ที่รุ่นพ่อสร้างไว้ ขาดสะบั้นลง

ต่อมา พระรามราชา พระโอรสของพระราเมศวร ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดา
เกิดรัฐประหาร ส่งมอบบัลลังค์กลับไปสายสุพรรณภูมิ
กษัตริย์ที่ครองอำนาจต่อกันมาถึง 8 พระองค์
รวมถึงพระไชยราชา ล้วนสืบเชื้อสายจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ

ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  
พระบิดาของพระไชยราชา  เล่ากันว่า
เมื่ออยุธยามีชัยเหนืออาณาจักรขอม / นครวัด
อยุธยา สนับสนุนให้เขมรพื้นเมืองกำจัดราชวงค์ขอม
ทั้งยังสนับสนุนให้ชาวเขมร ขึ้นครองบัลลังก์
แต่อยู่ในการปกครองควบคุมของอยุธยา
ซึ่งชนชั้นนำกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้น สืบเชื้อสายจากแคว้นพรรณภูมิ
ไม่มีความผูกพันกับขอม อย่างเช่นแคว้นละโว้
 
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ศึกสองสายเลือด แต่ยังเป็นศึกสองวัฒนธรรม 
ซีรีย์แม่หยัว นับว่าปลุกวัฒนธรรมขอมให้คืนชีวิต เช่น  
มงกุฎของท้าวศรีสุดาจันทร์ ชุดพราหมณ์และตุ้มหูของวามน
รวมถึงสะท้อนให้ตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรมขอมที่ดำรงอยู่ในแผ่นดินไทย  

อ้างอิง
อาณาจักร ละโว้-ขอม ล่มสลายหายไปไหน? | DBShorts Ep.14  - Youtube 
https://www.youtube.com/watch?v=g5rs2i12HPQ
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในอาณาจักรอยุธยา - วิกิพีเดีย
ขอม - วิกิพีเดีย
แคว้นสุพรรณภูมิ - วิกิพีเดีย
อโยธยา - วิกิพีเดีย
พระเจ้าอู่ทอง - วิกิพีเดีย
ที่ตั้งเมืองสำคัญยุคก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา
Map-of-southeast-asia 1000 - 1100 CE - อาณาจักรละโว้ - วิกิพีเดีย

หมายเหตุ 
**ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเล่า จากการอ่าน-ฟัง ข้อมูลตามที่อ้างอิง ประกอบการตีความประวัติศาสตร์โดยเจ้าของกระทู้  
หลักฐานข้อมูล 50% อีก 50% เป็นการตีความ เพื่อตอบคำถาม why และ how จากข้อมูลหลักฐานเท่าที่มี 
อาจมีข้อแตกต่างหากพิจารณาแหล่งข้อมูลอื่น หากมีโอกาส ควรนำไปศึกษา หาข้อพิสูจน์ ต่อยอด 

แนะนำ
เปิดประเด็นตัวละครพราหมณ์ใน "แม่หยัว" ศรัทธา-ปัญญา-ตัณหา ในซีรีส์ยอดนิยม
https://ppantip.com/topic/43048574
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่