ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยไม่เคยมีการแก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าบริบททางสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายด้านก็ส่งผลต่อการให้บบริการสาธารณสุข ที่สำคัญ ได้แก่ 

หนึ่ง กรณีที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข่าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้เกิดความต้องการในการรับบริการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และยังอาจส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน และรักษาโรคมากขึ้นด้วย

 สอง การเกิดขึ้นของวิกฤตโรคระบาดได้ทำให้เห็นถึงความต้องการรับบริการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการเกิดวิกฤตดังกล่าวยังส่งผลให้มีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการป้องกันโรคซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงในระยะยาวที่ไม่อาจเห็นได้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขเช่นกัน หรือแม้แต่ผู้ให้บริการสาธารณสุขเองก็เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในระหว่างให้บริการสาธารณสุขด้วย แต่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯ กลับไม่มีบทบัญญัติกำหนดเยียวยาผู้ให้บริการสาธารณสุข 

และสาม สภาพสังคมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและตระหนักถึงการรับรองเรื่องสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ก็ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อบทบัญญัติบางมาตราว่ามีการบัญญัติครอบคลุมแล้วหรือไม่ เป็นต้น         

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จึงจำเป็นจะต้องมีการทบทวนการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯ เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายนี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ประกอบกับพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย และถ้าหากจะต้องมีการร่างกฎหมาย (ซึ่งรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมด้วย) ก็จะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบและนำไปรับฟังความคิดเห็น

ด้วยเหตุนี้ การเสนอประเด็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักกประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯ นี้ จึงเกิดจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว (ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว) และนำเอาผลการประเมินผลสัมฤทธื์นั้น มาพิจารณาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะ และนำมาสู่การจัดทำประเด็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯ ซึ่งเมื่อรับฟังความคิดเห็นในแต่ละประเด็นแล้ว ก็จะนำความคิดเห็นดังกล่าวไปยกร่างพระราชบัญญัติหลักกประกันสุขภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อนำไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 และนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDMzN0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ%3D&fbclid=IwY2xjawGLsG1leHRuA2FlbQIxMAABHRqkrH9Xrfm8XXVlHBKmtxvwJLJ08A8XbAvlHERISDg3ohcNvUpXO9qf6Q_aem_lUR5vuruSanSIlIj60mBDQ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่