JJNY : ศิริกัญญา นำส.ส.รุดจุดดินสไลด์ภูเก็ต│ศุภณัฐค้านเวนคืนรถไฟฟ้า│7ด. ตลาดรถยนต์ร่วง 17%│เลขาฯ ยูเอ็นเตือน โลกวิกฤต

ศิริกัญญา นำส.ส. รุดจุดดินสไลด์ภูเก็ต พบ 3 ประเด็นตามต่อ ชงกมธ.ที่ดินสอบเข้ม.
https://www.matichon.co.th/politics/news_4759600

ศิริกัญญา นำส.ส.ภูเก็ต ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุดินสไลด์ ต.กะรน จี้หามาตรการป้องกัน-แจ้งเตือนภัย ชงกมธ.ที่ดิน ตรวจสอบฯ
 
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม แกนนำพรรคประชาชน นำโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์ดินสไลด์ที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา
 
โดยช่วงเช้า น.ส.ศิริกัญญา น.ส.ภคมน พร้อมด้วย ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาชน ประกอบด้วย นายสมชาติ เตชถาวรเจริญ ส.ส.เขต 1 นายเฉลิมพงศ์ แสงดี ส.ส.เขต 2 และนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ส.ส.เขต 3 ลงพื้นที่พระใหญ่ เทือกเขานาคเกิด บริเวณลานจอดรถที่เพิ่งสร้างใหม่และคาดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดดินถล่ม ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในซอยปฏัก 2 และซอยปฏัก 8 ได้รับผลกระทบ ที่พักอาศัยพังทลายและมีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัด, ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมลงพื้นที่ด้วย
 
นายเฉลิมพงศ์กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบ 3 ประเด็นที่ต้องติดตามหาความกระจ่างต่อไป เรื่องที่ 1 พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. วันที่ 23 มิถุนายน 2563 แต่ก็พบว่ามีการขยายพื้นที่ก่อสร้างไปถึงกว่า 40 ไร่ เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเพียง 15 ไร่ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สามารถก่อสร้างบนพื้นที่ความสูงได้ไม่เกิน 80 เมตร ยกเว้นเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เสาสัญญาณ แต่กรณีพระใหญ่และอาคารประกอบกลับได้รับยกเว้น ต้องตรวจสอบต่อไปว่าได้รับอนุญาตได้อย่างไร
 
เรื่องที่ 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีหินแกรนิตผุพัง และสภาพดินเป็นดินทรายและดินเหนียว มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่ม ต้องตรวจสอบว่ามีการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ กิจการ หรือการดำเนินงานนั้นๆ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามรายงานการประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดหรือไม่
 
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องสำคัญและสามารถเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด คือระบบเตือนภัย ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีเฉพาะการเตือนภัยเหตุสึนามิ ไม่มีการเตือนภัยภัยพิบัติอื่น ซึ่งเหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้หากมีระบบเตือนภัยเช่นเซนเซอร์แจ้งเตือนขณะที่มีการเคลื่อนตัวของหินแกรนิตขนาดใหญ่ พี่น้องประชาชนจะอพยพได้ทัน แต่เหตุการณ์ดินโคลนถล่มครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ซึ่งส่วนใหญ่นอนหลับอยู่ในบ้านขณะเกิดเหตุ หากจังหวัดมีระบบแจ้งเตือนเชื่อว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต
 
นายเฉลิมพงศ์กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต พบว่าหินแกรนิตจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีความเสื่อมโทรมทำให้แตก บวกกับชั้นดินเหนียวทำให้เกิดการสไลด์เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ข้อสังเกตนี้ต้องตรวจสอบกันต่อไปผ่านการทำประเมินความเสี่ยงสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งที่ตนจะติดตามต่อไปคือพื้นที่ตรงนี้เริ่มต้นจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้เพื่อก่อสร้างองค์พระใหญ่จำนวน 15 ไร่ และขณะนี้พื้นที่เทือกเขานาคเกิดได้ขยายการก่อสร้างลานจอดรถและตัวอาคารเพิ่มเติมออกไป จึงต้องตรวจสอบว่ามีการอนุญาตถูกต้องหรือไม่
 
จากนั้น น.ส.ศิริกัญญา และคณะ เดินทางต่อไปยังศูนย์บัญชาการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมรับฟังและประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พูดคุยกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ที่พักอาศัยและทรัพย์สินเสียหาย ร่างกายได้รับบาดเจ็บ
 
น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ลาดชันใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา สิ่งที่ต้องการคือการแจ้งเตือนที่แม่นยำ เพราะขณะนี้ไม่รู้ว่าเหตุจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร ซึ่งทางนายกเทศมนตรีตำบลกะรนกล่าวว่าเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนตัวการตรวจจับมวลดินที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นของกรมทรัพยากรธรณีซึ่งไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อสอบถามถึงสาเหตุทราบว่าไม่มีงบประมาณซ่อมบำรุง จึงเห็นว่าหากไม่สามารถดูแลได้ ก็ควรโอนมาให้ท้องถิ่นจัดการ นอกจากเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยที่ต้องผลักดันต่อเพื่อลดความเสี่ยงของประชาชน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปคือการเยียวยา ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่เนื่องจากค่าครองชีพของจังหวัดภูเก็ตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น เช่นค่าเช่าบ้านตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ระเบียบกระทรวงการคลัง ให้แค่ 1,800 บาทต่อเดือน เพียง 2 เดือน ซึ่งสำรวจในภูเก็ตแล้ว ค่าเช่าบ้านเริ่มต้นที่ 5,000 บาท จึงจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย
 
เฉลิมพงศ์กล่าวว่า หลังจากนี้พรรคประชาชน จะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นการป้องกันและแจ้งเตือนภัย มิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของภูเก็ตอีก
 
นายฐิติกันต์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เข้า กมธ.ที่ดินฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เรื่องเงียบหาย



ศุภณัฐ ค้านเวนคืนรถไฟฟ้า ย้อน 20 บาท รัฐอุดหนุนก็จบ ทำไมต้องยอมขาดทุนแทนเอกชน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4758730

ศุภณัฐ ค้านไอเดีย เวนคืนรถไฟฟ้า ย้อน 20 บาท รัฐอุดหนุนก็จบ ทำไมต้องขาดทุนแทนเอกชน 
 
จากกรณี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดการเวนคืนโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในการบริหารของเอกชน กลับมาให้รัฐบาลบริหารและจ้างเอกชนเดินรถ เพื่อเดินหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท

โดยเรื่องนี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีเหลืองและสายสีชมพู กล่าวสั้นๆ ว่า ตนเพิ่งได้ยินเรื่องนี้ ยังต้องลงในรายละเอียด แต่ถ้าทำแล้วทุกฝ่ายได้ประโยชน์ก็ควรช่วยๆ กัน ทั้งการคิดวิธีการ ทำให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมและเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร
 
ล่าสุด ( 27 ส.ค.) นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า 

20 บาทตลอดสาย แค่รัฐอุดหนุนก็จบ – ทำไมต้องไปเวนคืนรถไฟฟ้า เพื่อ “ขาดทุนแทนเอกชน“ เพิ่มด้วยครับ ?
 
เนื่องจาก สายสีเหลือง และสายสีชมพู มีผู้โดยสารขึ้นน้อยกว่าเป้าที่คำนวณไว้มากๆ
– สายเหลือง เพียง 30,000 คน/วัน
– ชมพู เพียง 45,000 คน/วัน
ทว่า จุดคุ้มทุนอยู่ราวๆ 120,000 คน/วัน
 
แปลว่าโอกาสที่ 2 สายนี้ จะคืนทุนให้กับเอกชนที่ลงทุนไป ภายใน 30 ปีตามอายุสัมปทานนั้น เป็นเรื่องยากมากๆ แล้ว และทุกวันนี้ก็คงรับภาระ ขาดทุน แทบทุกวันจาก การแบกค่าบริการ ค่าดำเนินการ
 
โดยจากผลประกอบการของทั้ง BTS และ STEC กลับมาขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งโบรกเกอร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่พูดเสียงเดียวกันว่า ส่วนหนึ่งก็มาจาก การลงทุนรถไฟฟ้า สายสีชมพู และสายสีเหลือง
 
นั่นความหมายว่า การปรับสัญญา/การเวนคืน ในครั้งนี้ คือ การที่รัฐไปซื้อกิจการที่รายจ่ายสูง รายได้ต่ำ กำไรไม่มี เพื่อมา “แบกค่าใช้จ่ายแทนเอกชน”
การอ้างเรื่องค่าโดยสารที่แพง จริงๆ รัฐยังมีกลไก อย่างการ “อุดหนุนรายหัว” ที่สามารถทำได้ทันที และไม่ต้องเข้าไปแบกภาระขาดทุน ของรถสายสีเหลือง และชมพู อีกทั้งสามารถ เพิ่ม-ลด การอุดหนุน เมื่อไรก็ได้
 
และจะว่าไป รัฐไม่ต้องไปพลีชีพช่วยเอกชน โดยเอาตัวเองไปแบกภาระขาดทุนแทนเอกชน ก็ได้ เพราะถ้ารัฐปล่อยให้เอกชนดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เผลอๆ เอกชนจะขอคืนสัมปทาน และส่งมอบคืน รถไฟฟ้าให้รัฐฟรีๆ โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินเวนคืนซักบาท
เพราะถ้าเอกชนยิ่งฝืนดำเนินการต่อไป แบกค่าใช้จ่ายต่อไป ยิ่งเหนื่อย และยิ่งจะติดลบ ขาดทุนหนักไปเรื่อยๆ
 
การจะซื้อกิจการ รัฐต้องคำนวณมูลค่า โดยอิงจาก จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการจริง ณ ปัจจุบัน กับอายุสัมปทานที่เหลือ และช่องทางรายได้ทั้งหมด และหักค่าใช้จ่ายค่าบริการ ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมและต้นทุนทางการเงิน เพื่อหากำไร-ขาดทุน ที่แท้จริง
 
ถ้ากิจการนี้ ขาดทุน และไม่มีทางกำไรได้เลย นั่นคือ วิกฤตของเอกชนที่ถือสัมปทาน ไม่ใช่รัฐ
 
การที่รัฐจะเอาเงินไปเวนคืนกิจการที่ขาดทุน ในราคาที่แพง หรืออ้างอิงกับราคาที่เอกชนลงทุนไปตอนแรก เท่ากับเป็นการที่รัฐเข้าไปช่วยอุ้มเอกชน
นี่ไม่ใช่การที่รัฐและเอกชนอยากจะช่วยประชาชนนะครับ ขออย่าบิดเบือนว่ากำลังช่วยประชาชนอยู่
 
เพราะจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์ตัวจริง คือ เอกชน ที่รัฐอยากเข้าไปช่วย โดยพ่วงประชาชนไปเอี่ยวนิดเอี่ยวหน่อยให้ฟังดูเหมือนประชาชนได้ประโยชน์
การที่รัฐยอมเสียภาษีเพื่อ
(1) ไปซื้อกิจการเขามา ทั้งที่มูลค่าตกลงเรื่อยๆ เพราะขาดทุนเรื่อยๆ
(2) ไปแบกค่าดำเนินการที่ขาดทุนแทนที่จะปล่อยให้เอกชนแบก
(3) ต้องตกลงจ้างเอกชนเจ้าเดิมเดินรถ-บริหาร-เก็บเงินต่อ
นี่ถือว่า รัฐหาเรื่อง ผลาญเงินประชาชน 3 เด้ง เพื่อหาทางออกให้เอกชน แบบสวยๆ ไม่ต้องทนขาดทุนต่อไปแถมได้เงินที่ลงทุนไปคืน แต่พูดให้ใครฟังเขาก็ชมว่า ดูดี ได้ใช้รถไฟฟ้าถูก ทั้งที่เอาก้อนเงินมาเทียบกัน วิธีอุดหนุนรายหัว จะประหยัดกว่าการไปเวนคืนทั้งสายมา และมาแบกค่าบริการแทนเอกชนทั้งที่เราก็รู้ว่า สายนั้นไม่มีทางคืนทุน

หมายเหตุ

สายสีเหลือง และสายสีชมพู ผู้ที่ถือสัมปทานคือ Northern Bangkok Monorail (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดยกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง
– บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 75%
– บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) 15%
– บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) 10%
 
https://www.facebook.com/suphanat.minchaiynunt/posts/pfbid0MQhzbtY5PsagFjuLT78jdjzYYpQx45LbYUunK5mmdRswN3ydjqTyPEtjX2eWJnbkl
 

 
อาการหนัก! 7 เดือนแรก ตลาดรถยนต์ร่วง 17% ยอดการผลิต-ขาย-ส่งออก ร่วงระนาว
https://ch3plus.com/news/economy/morning/414507

เปิดสถิติ 7 เดือนแรกปี 67 ตลาดรถยนต์ร่วง 17% ส่งผลยอดการผลิต-ยอดส่งออก ร่วงระนาว ขณะที่ยอดขายรถใหม่ในประเทศยังดิ่ง จากเหตุไฟแนนซ์เข้ม-หนี้ครัวเรือนสูง หวังรัฐบาลใหม่ช่วยกระตุ้นตลาดช่วงปลายปี

เมื่อวานนี้ (27 ส.ค.67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยอดผลิตที่ลดลง เป็นผลมาจากการผลิตขายในประเทศ ที่ลดลงถึง 40.85 % โดยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ตัวเลขตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ทำยอดขายได้ 354,421 คัน
 ลดลง 23.71 % เฉพาะเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว ขายได้ 46,394 คัน ลดลง 20.58 % เป็นผลจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของไฟแนนซ์ โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91 % ของ GDP และเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งคาดหวังว่า เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ งบปี 68 หากใช้ทัน 1 ตุลาคมนี้ ก็จะทำให้มีการลงทุน บวกกับมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็คาดหวังว่า 4 เดือนหลังของปีนี้ ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่