การให้ทานขั้นปรมัตถบารมีของพระโพธิสัตว์

ถาม : หลวงปู่ปานท่านทำบารมีครบแล้ว ท่านมาเกิดในลักษณะของพระเวสสันดรหรือยังครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าบารมีเต็มก็ไม่ต้องลงมาเกิดอีกแล้ว รอเกิดชาติสุดท้ายเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น แสดงว่าหลวงปู่ท่านสร้างมาครบถ้วนทุกบารมีแล้ว

ถาม : ครบแล้วหรือครับ ?
ตอบ : ครบแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเกิดเป็นพระเวสสันดร อาจจะเป็นผู้ใดก็ได้ที่มีโอกาสได้ถวายทานในลักษณะปรมัตถบารมี ถ้าถึงวาระสุดท้าย จะต้องให้ลูกเป็นทาน ให้เมียเป็นทาน

สมัยนี้เขาทักท้วงกันว่า พระเวสสันดรละเมิดสิทธิเสรีภาพของสุภาพสตรี จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ท่านอธิษฐานตามกันมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติแล้ว แล้วก็รับรู้ด้วยว่า อธิษฐานมาเพื่อจะให้ท่านถวายเป็นทาน ในคำอธิษฐานจะมีว่า "ขอเป็นสำเภาทองรองรับพระองค์ท่านให้ข้ามวัฏสงสาร เพื่อบรรลุซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ" ท่านตั้งใจกันมาก่อนแล้ว

แต่ว่าในลักษณะของปุถุชน เมื่อถึงเวลาต้องพลัดพรากจากกัน ก็จะต้องเดือดเนื้อร้อนใจ เศร้าโศกอาลัยเป็นปกติ พวกแก่ ๆ หน่อยเรียนกันทันหรือเปล่า ? ชั้น ม.ศ. ๕ สมัยก่อนเขาจะมีเรียนเทศน์มหาชาติ เกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรกัณฑ์กุมาร ..โส โพธิสัตตัง ปางนั้นสมเด็จพระบรมพรหมพงศ์โพธิสัตว์.. สมัยนี้ตัดทิ้งเกลี้ยงเลย ไม่ได้เรียนกันแล้ว อย่างพวกเราพอทำกันไหวไหม ? ลักษณะตัดแขน ตัดขา ควักหัวใจ เชือดเนื้อตัวเอง สละเลือดตัวเอง ตัดศีรษะตัวเองเป็นทาน แค่ได้ยินก็สยองแล้ว

สมัยนี้บริจาคเลือดก็ถือว่าสละเลือดเป็นทาน ๓ เดือนบริจาคได้ครั้งหนึ่ง สมัยก่อนวิทยาการไม่ก้าวหน้า อย่างอสุรกายไล่ตามกวางทองมา พระโพธิสัตว์อยู่บริเวณนั้นก็ไปขวางเอาไว้ อสุรกายเกรงอำนาจของพระโพธิสัตว์ ก็ไม่กล้าที่จะทำร้ายกวางทอง แต่ต่อว่าพระโพธิสัตว์ท่านว่า "ท่านเมตตาแต่กวางทองเท่านั้น ไม่เมตตาตัวเราผู้หิวโหยเลย" ท่านจึงต้องสละเลือดตัวเองให้อสุรกายกินแทน อีกฝ่ายก็กินไม่ยั้ง กินจนพระโพธิสัตว์ท่านตายไปเลย

หรือไม่ก็เหยี่ยวไล่นกพิราบมา พระโพธิสัตว์ไปช่วยเอาไว้ เหยี่ยวโวยวายว่าท่านช่วยแต่นกพิราบเท่านั้นแหละ ตัวของเขาเองหิวจะตาย ลูกเมียก็หิวจะตายอยู่แล้ว ทำไมไม่คิดห่วงพวกเขาบ้าง พระโพธิสัตว์ก็ต้องเชือดเนื้อตัวเองให้เหยี่ยว เชือดเนื้อให้เท่ากับน้ำหนักนกพิราบตัวนั้น นกก็หนักเหลือเกิน กว่าจะเชือดครบท่านก็ตายอีก สงสัยว่านกพิราบสมัยนั้นคงตัวใหญ่กว่าไอ้โต้ง..!

สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่