เช็คลิสต์หุ้นได้ประโยชน์ รับเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

เช็คลิสต์หุ้นได้ประโยชน์รับเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยในปี 2567 ขณะเดียวกันโครงการ Digital Wallet ที่มูลค่าถูกปรับลดลงและกำหนดไม่ให้ซื้อสินค้านำเข้า จะช่วยลดความกังวลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทได้ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย

นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าระยะสั้น จากบริเวณ 37 บาทต่อดอลลาร์ ลงมาที่บริเวณ 36.4 บาทต่อดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนหลักจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ส่งผลให้ตลาดประเมินเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้

ประกอบกับมูลค่านโยบาย Digital Wallet ที่ลดลงและการกำหนดไม่ให้สามารถซื้อสินค้านำเข้าได้ ช่วยลดความกังวลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทลง ขณะที่ทางเทคนิคค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดเส้นค่าเฉลี่ย EMA50 วัน และทะลุ Uptrend Line ลงมา ส่งผลให้แนวโน้มของค่าเงินบาทเป็น Sideway to Sideway Down (แข็งค่า)

โดยข้อมูลในอดีตพบว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาททุกๆ 3% จะส่งผลบวกต่อดัชนีราว 20 จุด ฝ่ายวิเคราะห์จึงประเมินว่ามีโอกาสสูงที่ตลาดหุ้นไทยจะถึงรอบฟื้นตัวราว 20-40 จุด หรือบริเวณ 1,340-1,360 จุด แต่ต้องติดตามค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นเด่น ได้แก่ ขนส่ง บวกเฉลี่ย 9.2% ความน่าจะเป็น 90%, ICT บวกเฉลี่ย 9.3%, ความน่าจะเป็น 90%, ธนาคาร บวกเฉลี่ย 9.1%, ความน่าจะเป็น 85% และค้าปลีก บวกเฉลี่ย 7.5% และความน่าจะเป็น 85%

ส่วนหุ้นเด่นใน Coverage ของบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ได้แก่
1.ค้าปลีกสินค้า IT ได้ประโยชน์จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าในราคาที่ต่ำลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่ ADVICE, SYNEX และ COM7

2.โรงไฟฟ้า ได้ประโยชน์จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ จึงได้ประโยชน์เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ GULF, BGRIM และ GPSC

และ 3. อื่นๆ เช่น PTTGC มีหนี้สินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 45%, SCGP ต้นทุนอ้างอิงราคาดอลลาร์สหรัฐฯ และ SABINA ที่มีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศราว 60% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องติดตามประเด็นแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ และค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และตัดสินใจลงทุนอย่างถี่ถ้วน เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตในสภาวะที่ตลาดหุ้นไทยยังคังผันผวน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่