ผู้ว่า ธปท.ชี้ มาตรการกระตุ้นไม่ช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ แนะลงทุนเพิ่ม...

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวเข้าสู่ศักยภาพ 3% หมดโอกาสโต 4-5% หลังศักยภาพเศรษฐกิจปรับลดลง ยอมรับประชาชนบางกลุ่มลำบาก หลังเผชิญ “หลุมรายได้” หายไปมหาศาล-ค่าครองชีพพุ่ง แม้รายได้จะกลับมาก่อนระดับโควิด ยัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ช่วยเพิ่มระดับศักยภาพเศรษฐกิจ หนุนเร่งลงทุน-สร้าง R&D-หาธุรกิจใหม่ ชี้ ไม่ปิดประตูลดดอกเบี้ย หากมุมมองเศรษฐกิจเปลี่ยน ส่วนปรับกรอบเงินเฟ้อต้องชั่งน้ำหนัก เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยลดลงต่อเนื่อง คนไทยเจอหลุมรายได้
วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นายเศษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าววในงาน “Meet the Press ผู้ว่าพบสื่อ” ว่า

ธปท.ยังมอว่า ภาพรวมเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและโตต่อเนื่อง และฟื้นกลับเข้าสู่ศักยภาพ แต่เทียบกับโลกเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า โดยการฟื้นตัวในแง่ภาพรวมโดยยอมรับว่าซ่อนความลำบากและความทุกข์ของคนในหลายกลุ่ม ทั้งลูกจ้างนอกภาคเกษตร และกลุ่มอาชีพอิสระ แม้ว่ารายได้จะกลับมาสูงกว่าก่อนโควิด-19 แต่ยังพบว่ามี “หลุมรายได้” ที่หายไปมหาศาล เพราะรายจ่ายมีแต่เพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยหนี้ครัวเรือน และการแข่งขันจากต่างประเทศ

โดยธปท.มองแนวโน้มเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวเข้าสู่ศักยภาพ โดยอัตราการเติบโตจีดีพีรายไตรมาส ซึ่งตัวเลขไตรมาสที่ 1/67 อยู่ที่ 1.5% ออกมาดีกว่าคาด ส่วนไตรมาสที่ 2/67 คาดใกล้เคียงหรือสูงกว่า 2% และไตรมาส 3/67 เห็นใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4/67 เติบโตใกล้เคียง 4% และไปข้างหน้าในปี 2568 ขยายตัวได้ราว 3%
อย่างไรก็ดี หากดูศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจปรับลดลง และคงไม่ได้สูงมากในระดับ 5% หรือ 4% เหมือนในอดีต ซึ่งในแบบจำลองคาดการณ์ของธปท.ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีก่อนโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.0-3.5% และคาดว่าปี 2566-2571 คาดว่าศักยภาพจะอยู่ที่ราว 3%

ทั้งนี้ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากน้อยขนาดไหน จะขึ้นอยู่กับแรงงาน และผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งจะแปลงเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งหากดูจากข้อมูลจะพบว่าในปี 2547-2556 กำลังแรงงานอยู่ที่ 1.2% ผลิตภาพ 2.6% คาดจีดีพีขยายตัว 3.8% แต่ตัวเลขจริงอยู่ที่ 4.0% และหากดูในปี 2557-2566 กำลังแรงงานเหลือเพียง 0.04% สะท้อนว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีผลให้จีดีพีหายไปเกือบ 1%
“หากปล่อยไว้แบบศักยภาพขยายอยู่ที่ 3% แต่หากต้องการเพิ่มระดับศักยภาพ จะต้องให้มีการลงทุนใหม่ ในโครงสร้างพื้นฐาน หรือเกิดสิ่งใหม่ๆ จากการศึกษาและวิจัย (R&D) คุณภาพแรงงาน ซึ่งจะยกระดับเกิน 3% ได้ แต่หากมาจากการกระตุ้น จะกระตุ้นได้แป๊บเดียว หรือกระตุ้นให้ตายอีกสักพักก็กลับมาที่ระดับ 3%”

ยันไม่ปิดประตูลดดอกเบี้ย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มีคำถามว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทำไมธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยนั้น มองว่า การพิจารณาจะดูองค์ประกอบกอย่างอื่นด้วย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน และกรอบเงินเฟ้อที่ใช้มีความยืดหยุ่น ดังนั้น จึงไม่มีกรอบตายตัวว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จะต้องลดดอกเบี้ย แม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือเดียว แต่จะต้องตอบโจทย์หลายโจทย์ ซึ่งจะต้องมองภาพรวม เพราะมีผลกระทบหลายด้าน
“ไม่มีสูตรตายตัวแบบนั้นว่า เงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบจะต้องลดดอกเบี้ย เพราะถ้ามีสูตรตายตัวแบบนั้น ก็ไม่ต้องมีกนง. ให้ AI มาช่วยทำแทน”

เช่น ในประเทศที่มีลูกหนี้ ก็ต้องการดอกเบี้ยต่ำ แต่หากเป็นผู้ฝากเงินก็ต้องการดอกเบี้ยที่สูง หรือในฐานะผู้บริโภคก็ไม่อยากเห็นเงินเฟ้อสูงเกินไป เพราะจะกระทบต่อค่าครองชีพ หรือผู้ประกอบการก็ไม่ต้องการเงินเฟ้อสูง เพราะกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ดอกเบี้ยต้องพยายามบาลานซ์ให้สมดุล ซึ่งไม่ได้มองมุมใดมุมหนึ่ง แต่ต้องชั่งน้ำหนักในหลายมิติ โดยสิ่งที่ธปท.พิจารณาจะต้องมองไปข้างหน้า เพื่อตัดสินใจนโยบาย เพราะนโยบายวันนี้จะมีผลในระยะข้างหน้า

“ดอกเบี้ยตอนนี้เราพิจารณาจาก Outlook Dependent ไม่ใช่ Data Dependent ซึ่งหาก Outlook เปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งเศรษฐกิจ และเสถียรภาพปรับเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ เราก็พร้อมจะปรับนโยบาย ไม่ได้ปิดประตูแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเหมาะสมกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงินและระบบการเงิน”

ชี้ ปรับกรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ส่วนคำถามเรื่องกระทรวงการคลังงต้องการให้ปรับกรอบเงินเฟ้อเป็นค่ากลางนั้น มองว่า กรอบเงินเฟ้อจะมีการตกลงร่วมกันในไตรมาสที่ 4/2567 โดยกระบวนการตอนนี้อยู่ระหว่างหารือ และตกลงร่วมกัน ซึ่งธปท.ก็รับข้อเสนอของกระทรวงการคลังไว้พิจารณา อย่างไรก็ดี หากดูเหตุผลของกรอบเงินเฟ้อมีไว้ทำไม คือ ยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และความชัดเจนของนโยบาย

ดังนั้น การปรับกรอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งน้ำหนัก และหากดูต่างประเทศไม่มีใครปรับกรอบเงินเฟ้อ เพราะอาจจะกระทบ Credit Rating และการคาดการณ์เงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อขยับสูงได้ เพราะหากขยับหรือไม่มีกรอบ จะทำให้ค่าจ้างปรับเพิ่ม ต้นทุนกู้ยืมต่างๆ ปรับขึ้น รวมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) เพิ่มขึ้น จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

โดยตัวเลขเงินเฟ้อมิถุนายนที่กระทรวงพาณิชย์ที่กำลังออกมาในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.67) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับใกล้ 1% หรือ 1% บวก,ลบ โดยหากมองอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ 0% หรือทรงตัว และในช่วงครึ่งหลังของปีจะเฉลี่ย 1.1% จึงเป็นที่มาของทั้งปี 2567 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.6%
“เงินเฟ้อที่ต่ำ 1% ไม่ได้เป็นการกดหรือบังคับให้ต่ำ แต่เงินเฟ้อต่ำมาจากปัจจัยอุปทาน มาตรการอุดหนุน และการแข่งขันต่างๆ ซึ่งธปท.ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ที่บังคับให้ผู้ประกอบห้ามขึ้นราคา”... 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลการฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในปัจจุบันพบว่า รายได้แรงงานยังปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเมื่อเทียบระดับรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรเมื่อช่วงก่อนเกิดโควิด เดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่เมื่อไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเป็น 108.9 เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอิสระเดิมดัชนีอยู่ที่ 100 แต่ไตรมาสแรกปี 2567 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยแค่เป็น 107.2 เท่านั้น สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
"ถ้าดูตัวเลขผ่าน ๆ จะเห็นว่า รายได้ของคนสองกลุ่มเพิ่มขึ้นมากว่าที่เคยเป็นอยู่ แต่ตัวเลขที่เห็นมันซ่อนความลำบาก และความทุกข์อย่างเห็นได้ชัด เพราะมีหลุมรายได้เกิดขึ้นมหาศาลในระหว่างทางที่คนกลุ่มนี้ควรจะได้ก่อนจะถึงปัจจุบัน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
 
ดร.เศรษฐพุฒิ  กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยตอนนี้ยังไม่ได้ฟื้นเข้าสู่ศักยภาพที่แท้จริง โดยปัจจุบันภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสัดส่วน GDP จะอยู่ที่ภาคบริการ ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก จึงไม่แปลกใจว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ เมื่อรวมกับภาคการผลิตที่สำคัญกับการส่งออกของไทยกำลังเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยหลายอุตสาหกรรมเจอการแข่งขันที่เข้มข้น โดยเฉพาะการแข่งขันของสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทย

ทั้งนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นอุตสาหกรรมหลัก เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันสูง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามกระแสโลกได้ และเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1600725

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่