ทำไมคนไทยเรียนเก่งพวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”: ทำไมนักเรียน ป.เอก ไม่อยากกลับบ้าน ?

ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
 
ไม่ใช่แค่เรื่องค่าตอบแทนเท่านั้นที่ทำให้บุคลากรระดับ “ครีม” ของประเทศที่ไปร่ำเรียนในต่างประเทศไม่อยากกลับไทย แต่ระบบที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาหลายทศวรรษคือเงื่อนสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น

ในวัยที่อีก 5 ปี จะเกษียณอายุจากตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.สรรพวรรธน์ กันตะบุตร เล่าย้อนวันวานอย่างติดตลกว่า “ถ้าผมไม่ติดทุน ก็คงไปแล้ว…”

เขาหมายถึงการไปทำงานกับบริษัทในซิลิคอลวัลเลย์ ชื่อเรียกพื้นที่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมากมาย
“เขาให้หุ้นในบริษัทเลย ให้ที่พักเรียบร้อย” รศ.ดร.สรรพวรรธน์ เล่าถึงข้อเสนอที่เขาได้รับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

ทว่าในวันที่เขานำความรู้กลับมาสอนให้เด็กนักเรียนไทย เขาก็ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่คนจำนวนไม่น้อยอาจได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเองก็อยากคว้าไว้

เด็กเก่งแบบสุด ๆ เลยนะ ที่ 1-20 [ของประเทศ] ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์โอลิมปิค พวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”
 
จากกลับประเทศเป็นตัวเลือกแรก สู่ “ชอยส์สุดท้าย”
 
ทนง อู่พิทักษ์ ยื่นวิทยานิพนธ์จบระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ในภาควิชาอเมริกันศึกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเดือน พ.ค. 2567 หลังจากมาใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

ทนง ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งก่อนที่จะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และเริ่มต้นเส้นทางนักวิจัยหลังจบปริญญา (Post-doc)

เราถามเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าจะกลับประเทศไทยเลยไหม ทนงตอบกลับมาอย่างทันท่วงทีว่า “อยู่ชอยส์ [ทางเลือก] หลัง ๆ เลย”
ทนงเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เขาค่อนข้างชัดเจนกับเส้นทางอาชีพของตนเองมาตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ตอนแรกเขามองว่า เมื่อมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทจนจบก็จะกลับมาสอนที่ไทยทันที

ทว่าเมื่อเขาศึกษาระดับปริญญาโทจบจากมหาวิทยาลัยทือบิงเง่น (University of Tübingen) เขาก็ได้รับข้อเสนอให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในสาขาวิชาเดียวกันอย่างอเมริกันศึกษา

“พอเรามาอยู่ที่นี่ มันต่างกันมาก ๆ มีโอกาสเยอะมาก กลายเป็นว่าการกลับไทยเราปัดไปเป็นชอยส์สุดท้ายเลย”

เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังว่า หากเขาเข้าทำงานในตำแหน่ง Post-doc ในเยอรมนีในตำแหน่งแบบ “เด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์” (entry level) เขาจะได้เงินเดือนราว 100,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว “ยังอยู่ได้สบาย ๆ”

นอกจากนี้เขายังย้ำว่า สำหรับอาชีพนักวิจัย ที่เยอรมนีจะมีเงินสนับสนุนจากคณะหรือมหาวิทยาลัยที่เขาทำงานให้โดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าเวลาเขาจะทำงานวิจัยอะไรหรือไปร่วมงานประชุมต่าง ๆ เขาไม่ต้องไปหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนตัวเอง

“เมื่อวานเพิ่งเจอไปมหาวิทยาลัย [ไทย] หนึ่งรับสมัคร 30,000 บาท ของปริญญาเอก ปริญญาโท 27,000 บาท เทียบกับสิ่งที่เราจะต้องทำให้ เทียบกับภาระงานที่คุณครูคนหนึ่งจะต้องรับ ไหนจะขอตำแหน่งวิชาการอีก มันมากับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างเยอะ ใช้ชีวิตสบาย ๆ ก็คงทำได้ แต่ถ้าจะก้าวหน้าในอาชีพทางนี้ คงลำบากมาก ๆ”

ทนงเล่าว่า เขาไม่ใช่นักศึกษาปริญญาเอกที่มีความฝันอยากจะกลับมาเป็นอาจารย์ในไทยคนเดียวที่เผชิญหน้ากับภาวะเช่นนี้
“เราอยากกลับไปพัฒนาที่ที่เรามาอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าเราจะต้องเสียหลาย ๆ อย่างไป บางทีมันก็เข้าเนื้อตัวเองเกินไป”
 
เงินส่วนหนึ่ง ระบบส่วนใหญ่
 
วรินท์ แพททริค แม็คเบลน ผู้กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ปีแรก ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาค (Astroparticle physics) ณ โรงเรียนนานาชาติเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Scuola Internazionale Superiore di Studi Avanzati) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัย ณ ประเทศอิตาลี เห็นด้วยกับสิ่งที่ทนงพูดถึงเรื่องค่าตอบแทน พร้อมเสริมว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนที่มีทางเลือก เลือกไม่กลับไทยเป็นเพราะระบบและแนวคิดของคนออกแบบระบบ

แพททริคอธิบายให้เราเข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่า ฟิสิกส์อาจแบ่งออกได้เป็น 2 แขนง คือ ฟิสิกส์พื้นฐาน “ซึ่งจับต้องได้ยาก จนหลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะยังไม่เห็นประโยชน์” และฟิสิกส์ประยุกต์ เช่น การนำความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาใช้กับด้านการแพทย์เป็นต้น

เขาเชื่อมโยงให้เราฟังโดยเริ่มต้นว่า นับจนถึงตอนนี้ “สิ่งที่เราเห็นคือนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐ มันไม่มีทิศทางชัดเจนเลย” ด้วยเหตุนี้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ผู้ทำวิจัยให้คำนิยามอย่างเจ็บแสบกับงานวิจัยทั้งสองแบบว่า “ขึ้นหิ้ง” สำหรับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และ “ขึ้นห้าง” สำหรับวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ผู้ใหญ่ก็จะเลือกสนับสนุนงานวิจัยขึ้นห้างเป็นหลัก แล้วงานวิจัยขึ้นหิ้ง คืองานประเภทสายทฤษฎี จะได้รับการสนับสนุนที่น้อยมาก ๆ เพราะผู้ใหญ่เขามองไม่เห็นว่าเราเรียนไปทำไม”

แพททริคเพิ่งเริ่มเรียนปริญญาเอกปีแรกเท่านั้น หนทางข้างหน้าที่เขาต้องฝ่าฝันยังอยู่อีกไกล แต่เขาก็มองตัวอย่างนักวิจัยหลาย ๆ คนที่เขาได้รู้จัก และได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจกลับไทย

เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า มีหลายครั้งที่ตระหนักได้ว่าตัวเองมี “ข้อได้เปรียบ” หลายอย่างที่ทำให้เขาได้ออกมา “เปิดหูเปิดตา” ในระดับสากล ซึ่งเขาก็อยากเอาความรู้ตรงนี้กลับไปพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ในไทย “เพราะเรามั่นใจว่าเรามีเด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์อยู่เยอะ และเราอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ตรงนี้”
“เราโดนเตือนจากคนที่กลับมาแล้วเข้ามาอยู่ในระบบจริง ๆ ว่ามันไม่คุ้ม เราโดนเตือนมาตลอดว่าให้หาทางไปต่อ… อย่ากลับมา”

อย่างที่บอกว่าไม่คุ้มทั้งเรื่องค่าตอบแทน แต่ในมิตินี้คือการไม่มีที่ให้ได้ “ปล่อยของ” ที่แต่ละคนสู้ไปร่ำเรียนมาจากสถานศึกษาระดับโลกและอาจารย์ระดับหัวกะทิ

แพททริคอธิบายต่อว่า ส่วนหนึ่งที่ระบบไม่เอื้อให้นักวิจัยกลับมาทำงานได้เต็มที่เป็นเพราะคนวางระบบอาจไม่เห็นถึงความสำคัญที่เท่ากันของวิทยาศาสตร์ของฝั่งทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้ ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ๆ ในการทำวิจัย และเงื่อนไขในการทำวิจัยที่ไม่เหมือนกับฝั่งวิทยาศาสตร์ประยุกต์

เขาชี้ว่า หลายครั้งระบบของมหาวิทยาลัยกดดันให้อาจารย์ต้องออกงานวิจัยเท่านั้นเท่านี้เพื่อรักษาสถานะตัวเองหรือเลื่อนขั้น แต่งานวิจัยบางประเภทต้องใช้เวลาการศึกษาแต่ละเรื่องมากกว่า 1 ปี ซึ่งไม่สามารถสอดประสานได้กับกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สิ่งนี้อาจทำให้นักวิจัยที่ต้องการศึกษาเรื่องบางเรื่องที่เป็นทฤษฎีมาก ๆ แต่ก็มีความสำคัญมาก ต้องถูกผลักให้ไปทำงานวิจัยด้านประยุกต์กันจนหมด

“เด็กมีของไปเมืองนอก พอกลับมาเจออะไรแบบนี้ มันเสียของ ทำงานในไทยมันเสียของ” เขากล่าว

สำหรับแพททริคตอนนี้เขายังมุ่งมั่นกับการพาตัวเอง “ไปให้สุด” กับการเรียนในต่างประเทศ “แล้วค่อยมาดูอีกทีเรื่องการกลับไทย”
 
ประสบการณ์ตรงจากอาจารย์ใกล้เกษียณ
 
สิ่งที่ถูกอธิบายจากปากของเด็กปริญญาเอกทั้งสองคนที่มีอายุอยู่ในช่วง 20 กว่า ๆ ถูกยืนยันด้วยประสบการณ์การทำงานที่เกือบจะเท่ากับอายุของพวกเขาของ รศ.ดร.สรรพวรรธน์
“ผมทำงานมาตั้ง 20 กว่าปี เงินเดือน รวมตำแหน่งวิชาการยังไม่ถึงแสน [บาท] เลย”

รศ.ดร.สรรพวรรธน์ คือหนึ่งในนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา “ทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” หรือที่รู้จักกันในชื่อทุน ก.พ. ซึ่งมอบโอกาสให้เขาไปจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี (Theoretical Computer Science) ณ มหาวิทยาลัยทัฟส์

ทุนจ่ายเงินให้เขาทั้งสิ้น 5 ล้านบาท แลกกับการกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 2 เท่า ของช่วงเวลาที่ใช้ศึกษา ซึ่งเท่ากับเขาต้องเป็นอาจารย์ใช้ทุนเป็นเวลา 10 ปี

“ตอนแรก ๆ คิดว่า 5 ล้านกว่าบาทนี่น่าจะโอเค แล้วเราก็ได้การศึกษาจากมหาวิทยาลัยท็อป ๆ อยู่ไปเริ่มเห็นว่าไม่จริง”

อีกไม่กี่ปี รศ.ดร.สรรพวรรธน์ กำลังจะเกษียณอายุจากการทำงาน และเขาเล่าให้เราฟังว่า เขาจะไม่มีบำเหน็จบำนาญ เพราะมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการ

“ตอนที่ผมเข้ามา ตอนนั้นรัฐบาลเขาบอกว่า พนักงานมหาวิทยาลัยจะได้สิทธิ์ทุกอย่างเหมือนข้าราชการเลย ผมก็เลยรับทุนมาไง เพราะคิดว่ามันจะได้บำเหน็จบำนาญเหมือนข้าราชการ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้ครับ เหมือนกับโดนหลอก ผมนี่เป็นรุ่นแรกที่เป็นพนักงาน เป็นรุ่นแรก ๆ เลย”

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2542 มีมติคณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ให้เริ่มมีการจ้างตำแหน่งพนักงานทดแทน แทนข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
ต่อมามีการบัญญัติคำว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ในพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเข้าไปเพิ่มในพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547
 
ใช้ตัวชี้วัดผิด คิดจนตัวตาย
 

ขณะที่ในมิติของการทำงานและการทำวิจัย รศ.ดร.สรรพวรรธน์ คือหนึ่งในคนที่มีประสบการณ์โดยตรงจากการทำงาน “วิจัยขึ้นหิ้ง”

เขาอธิบายว่าตัวเองเป็นนักทฤษฎีทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำงานอยู่ในรูปแบบของคณิตศาสตร์เยอะมาก ด้วยความเฉพาะทางตรงนี้ จึงเป็นข้อจำกัดว่าถ้าเขาเขียนแผนงานเพื่อขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ แบบตรงตัว หลายครั้งจะถูกปฏิเสธทันที เนื่องจาก “คนอ่านไม่เข้าใจ” แม้ว่าหลายครั้งทุนที่เขาไปขอจะตั้งชื่อว่าตัวเองเป็นทุนสำหรับการวิจัยแบบพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงฝั่งทฤษฎีก็ตาม

สิ่งนี้ยังสะท้อนโครงสร้างทั้งระบบที่มีปัญหาในสายตาของ รศ.ดร.สรรพวรรธน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยขึ้นอยู่กับ “QS World University Rankings” ซึ่งใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า “Impact factor” (จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่บทความในวารสารวิชาการถูกนำไปอ้างอิง) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า งานวิจัยชิ้นนั้นได้รับการอ้างอิงมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังมีอีกมิติที่สำคัญอย่างการจัดอันดับควอร์ไทล์ (Q) จาก Impact factor อีกทีหนึ่ง โดยจะเป็นควอร์ไทล์ที่ 1-4 โดย Q1 เป็นกลุ่มวารสารที่มีค่า Impact factor สูงสุดเป็น 25% แรกของวารสารวิชาการทั้งหมด โดยมากแล้ว วารสารใน Q1 มักมีชื่อเสียงและได้รับการอ้างอิงมากที่สุด ลดหลั่นกันลงมาจนถึง Q4
สำหรับ รศ.ดร.สรรพวรรธน์ ปัญหาของประเทศไทยคือระบบที่ยึดโยงกับ Q1 มากเกินไป เขาเปรียบเทียบว่า “จำนวนการอ้างอิงไม่ได้บอกคุณภาพอะไรเลย แค่เหมือนมีคนเข้าไปกดไลก์ (Like) เยอะ ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพ หรือบางครั้งอาจเป็นของปลอมด้วยซ้ำ”

เขายกตัวอย่างว่า งานวิจัยที่เขาทำ ซึ่งเฉพาะทางมาก ๆ มีคนอ่านน้อย ต้องไปตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในระดับ Q4 ก็ไม่ได้หมายความว่างานของเขาไม่ดี นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า เมื่อระบบของไทยเน้นจะให้ทุกคนไปอยู่ที่ Q1 อย่างเดียว “มันเลยมีปัญหาเยอะมาก”

รศ.ดร.สรรพวรรธน์ ชี้ว่า เพราะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงยึดติดกับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings ซึ่งใช้ Impact factor ในการสะท้อนขีดความสามารถ ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวชี้วัดที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้นักวิจัยในไทยจำนวนไม่น้อยได้ไม่ได้รับอิสระให้ทำงานวิจัยตามที่พวกเขามีความสามารถอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่ม https://www.bbc.com/thai/articles/cg334vj9x62o
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 30
แล้วประเทศไทย มีอะไรดีให้เค้ากลับมา?

นอกจากครอบครัว ผมไม่เห็นว่า มีอะไรที่อยากให้ผมกลับมาเลย   
- รายได้ อยู่ เมกา ยุโรป รายได้ดีกว่า
- ค่าครองชีพ  ฟังดูเหมือนจะแปลก  แต่เอาเข้าจริง ผมใช้เงินในแต่ละเดือนมากกว่าตอนอยู่ที่ยุโรป เพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ใกล้ ๆ กัน
- PM 2.5 ก็ไม่มี หรือแทบไม่มี
- ไม่เคยรู้สึกไม่อยากจ่ายภาษีเลย ในขณะอยู่ไทยคือ ทำยังไงก็ได้ให้ลดหย่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่มากได้
- ความรู้ความสามารถ มีประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่เพราะว่า ลูกใคร หรือ รู้จักใคร   คืออันนี้ มันก็มี แต่ความรู้ความสามารถมีความสำคัญมากกว่า

ถ้าไม่ใช่เพราะว่า พ่อแม่อยู่ที่นี่  เราอยากอยู่ประเทศนี้จริง ๆ ?
- โครงสร้างสังคม แบบที่  รัฐบาล สภา ศาล ตำรวจ ทหาร เป็นแบบที่เราสัมผัสกันแบบนี้?
- จะสอนลูกว่า  นักการเมือง รมต นายก ศาล ตำรวจ ทหาร มันก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว  ทำอะไรไม่ได้หรอก  โกงกินบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่เป็นไร ถ้าตราบใดที่ยังพอมีแบ่งเศษเงินลงมาพัฒนา มาทำงานบ้าง?
- ประเทศที่หลาย ๆ คำถาม ถามไม่ได้ ไม่ควรถาม  แต่เจือกอยากสอนให้เราตั้งคำถาม
ความคิดเห็นที่ 2
มหาวิทยาลัยไทยติดกับการขอ มาตรฐาน โน่นนี่นั่น เต็มไปหมดงานเอกสารก็มากมายมหาศาลแทนที่จะให้คนเก่งๆ ไปทำงานวิจัย งานสอน ต้องมานั่งกรอกเอกสาร ส่วนคนที่คิดมาตรฐานก็เก็บเงินค่ารับรองมาตรฐานรายปี ที่ปรึกษาด้านนี้ก็ร่ำรวยกันไป

การขอทุนในไทยก็คาดหวังผลงานสูงให้เงินสามแสนเพื่อทำวิจัยต้องการผลงานตีพิมพ์ Top 10 Q1 มันจะทำได้ไหมเงินขนาดนั้นกับค่าสารเคมี ค่าเครื่องมือที่แพงกว่าสิงคโปร์หรืออเมริกาเสียอีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่