“พวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”: ทำไมนักเรียน ป.เอก ไม่อยากกลับบ้าน ?

เรื่องราวโดย ปณิศา เอมโอชา - ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/articles/cg334vj9x62o

ไม่ใช่แค่เรื่องค่าตอบแทนเท่านั้นที่ทำให้บุคลากรระดับ “ครีม” ของประเทศที่ไปร่ำเรียนในต่างประเทศไม่อยากกลับไทย แต่ระบบที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาหลายทศวรรษคือเงื่อนสำคัญที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น

ในวัยที่อีก 5 ปี จะเกษียณอายุจากตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.สรรพวรรธน์ กันตะบุตร เล่าย้อนวันวานอย่างติดตลกว่า “ถ้าผมไม่ติดทุน ก็คงไปแล้ว…”

เขาหมายถึงการไปทำงานกับบริษัทในซิลิคอลวัลเลย์ ชื่อเรียกพื้นที่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกมากมาย

“เขาให้หุ้นในบริษัทเลย ให้ที่พักเรียบร้อย” รศ.ดร.สรรพวรรธน์ เล่าถึงข้อเสนอที่เขาได้รับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
ทว่าในวันที่เขานำความรู้กลับมาสอนให้เด็กนักเรียนไทย เขาก็ได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่คนจำนวนไม่น้อยอาจได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเองก็อยากคว้าไว้

“เด็กเก่งแบบสุด ๆ เลยนะ ที่ 1-20 [ของประเทศ] ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์โอลิมปิค พวกท็อป ๆ อยู่ต่างประเทศหมดเลย”

จากกลับประเทศเป็นตัวเลือกแรก สู่ “ชอยส์สุดท้าย”
ทนง อู่พิทักษ์ ยื่นวิทยานิพนธ์จบระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ในภาควิชาอเมริกันศึกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเดือน พ.ค. 2567 หลังจากมาใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ทนง ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งก่อนที่จะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการ และเริ่มต้นเส้นทางนักวิจัยหลังจบปริญญา (Post-doc)

เราถามเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าจะกลับประเทศไทยเลยไหม ทนงตอบกลับมาอย่างทันท่วงทีว่า “อยู่ชอยส์ [ทางเลือก] หลัง ๆ เลย”
ทนงเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เขาค่อนข้างชัดเจนกับเส้นทางอาชีพของตนเองมาตั้งแต่ช่วงที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ตอนแรกเขามองว่า เมื่อมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทจนจบก็จะกลับมาสอนที่ไทยทันที

ทว่าเมื่อเขาศึกษาระดับปริญญาโทจบจากมหาวิทยาลัยทือบิงเง่น (University of Tübingen) เขาก็ได้รับข้อเสนอให้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในสาขาวิชาเดียวกันอย่างอเมริกันศึกษา

“พอเรามาอยู่ที่นี่ มันต่างกันมาก ๆ มีโอกาสเยอะมาก กลายเป็นว่าการกลับไทยเราปัดไปเป็นชอยส์สุดท้ายเลย”
เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังว่า หากเขาเข้าทำงานในตำแหน่ง Post-doc ในเยอรมนีในตำแหน่งแบบ “เด็กจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์” (entry level) เขาจะได้เงินเดือนราว 100,000 บาท ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว “ยังอยู่ได้สบาย ๆ”

นอกจากนี้เขายังย้ำว่า สำหรับอาชีพนักวิจัย ที่เยอรมนีจะมีเงินสนับสนุนจากคณะหรือมหาวิทยาลัยที่เขาทำงานให้โดยเฉพาะ ซึ่งหมายความว่าเวลาเขาจะทำงานวิจัยอะไรหรือไปร่วมงานประชุมต่าง ๆ เขาไม่ต้องไปหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนตัวเอง

“เมื่อวานเพิ่งเจอไปมหาวิทยาลัย [ไทย] หนึ่งรับสมัคร 30,000 บาท ของปริญญาเอก ปริญญาโท 27,000 บาท เทียบกับสิ่งที่เราจะต้องทำให้ เทียบกับภาระงานที่คุณครูคนหนึ่งจะต้องรับ ไหนจะขอตำแหน่งวิชาการอีก มันมากับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างเยอะ ใช้ชีวิตสบาย ๆ ก็คงทำได้ แต่ถ้าจะก้าวหน้าในอาชีพทางนี้ คงลำบากมาก ๆ”

ทนงเล่าว่า เขาไม่ใช่นักศึกษาปริญญาเอกที่มีความฝันอยากจะกลับมาเป็นอาจารย์ในไทยคนเดียวที่เผชิญหน้ากับภาวะเช่นนี้
“เราอยากกลับไปพัฒนาที่ที่เรามาอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าเราจะต้องเสียหลาย ๆ อย่างไป บางทีมันก็เข้าเนื้อตัวเองเกินไป”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่