ค่ายรถแห่ลดกำลังผลิต EV จีนจอดเกลื่อนท่าเรือหมื่นคัน...


ตลาดรถยนต์ไทยทรุด ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ค่ายรถญี่ปุ่น-อีวีจีน เจอสถานการณ์ลำบาก แบกสต๊อกบวม วิ่งหาโกดังจอดรถเต็มทุกพื้นที่ แหลมฉบัง ชลบุรี ระยอง ผู้ผลิตญี่ปุ่นในไทยลดกำลังการผลิตเหลือกะเดียวเลิกจ่ายโอที ขณะที่รถอีวีนำเข้าจากจีนยอดไม่วิ่ง นายกฯ คลังสินค้าระบุจอดนิ่งเต็มท่าเรือกว่าหมื่นคัน

ยอดขายรถยนต์ที่ร่วงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2566 จากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลล่าช้า ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ จนกระทั่งประเมินกันว่าปีนี้น่าจะเป็นปีเลวร้าย มียอดขายตกหนักสุดในรอบ 10 ปี ถึงตอนนี้ได้ขยายตัวส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ค่ายรถจะลดกำลังผลิต เบรกโอที เลิกจ้างแรงงาน ลามไปจนถึงขั้นปิดโรงงาน ขณะที่รถนำเข้าโดยเฉพาะรถ EV จากจีนกำลังตกที่นั่งลำบาก

โรงงานแห่ลดกำลังผลิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยังผู้บริหารโรงงานผลิตรถยนต์ ทั้งเก๋งและปิกอัพแถวชลบุรี ระยอง ได้รับคำตอบว่า เป็นผลกระทบมาจากภาพรวมตลาดที่หดตัวลงเกือบทั้งหมด ทั้งตลาดส่งออกที่มีออร์เดอร์ลดต่ำลง และตลาดในประเทศที่ขายได้น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มรถสันดาปภายใน ดังนั้น เมื่อความต้องการน้อยลงโรงงานจำเป็นต้องปรับลดจำนวนการผลิตลงแน่นอน ซึ่งกระบวนการก็มีทั้งการลดระยะเวลาทำงาน จากเดิมที่เป็นแบบ 2 กะ มีค่าล่วงเวลา (OT) ก็ลดลงจนเหลือกะเดียว ตอนนี้หลายโรงงานเหลือกะเดียว นอกจากนี้ บางสัปดาห์ที่มีวันหยุดยาวคร่อมกัน 2 อาทิตย์ก็ใช้วิธีหยุดเพิ่มเติมเพื่อลดวันทำงานให้น้อยลง

“ปรากฏการณ์ตลาดหดตัวนี้ก็มีให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างก่อนหน้านี้ทั้งแบรนด์ซูบารุและแบรนด์ซูซูกิก็ประกาศจะปิดโรงงานภายในสิ้นปีนี้และปลายปีหน้าตามลำดับ”

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่ายอดขายรถยนต์หดตัวลงมาก รถยนต์นั่งลดลงราว ๆ 5% และรถกระบะที่หดตัวเกือบ 50%
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตฯกล่าวเสริมว่า ยอดขายรถยนต์ที่ลดลง โดยเฉพาะตลาดปิกอัพถือเป็นคำตอบที่ชัดเจน ว่าแต่ละโรงงานต้องลดจำนวนกำลังการผลิตลงแน่นอน ยิ่งเป็นโรงงานที่ผลิตแต่รถสันดาป เมื่อถูกกระแส EV กลบ สต๊อกเริ่มบวมขึ้นเรื่อย ๆ กระบวนการผลิตรถยนต์หลังผลิตก็จะทยอยส่งไปยังดีลเลอร์ แต่ตอนนี้ดีลเลอร์แต่ละแบรนด์เองก็ประสบปัญหาด้านการขายปิดไปหลายแห่ง ที่สำคัญไม่มีพื้นที่สต๊อกรถ กลายเป็น
ปัญหาของแต่ละโรงงานที่ต้องหาพื้นที่เก็บรถ

“เราประเมินว่ากำลังการผลิตทั้งปีของประเทศไทยไว้ใกล้ ๆ 2 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคันเศษ ๆ ป้อนตลาดในประเทศ 8 แสนคัน หากตลาดในประเทศถูกทดแทนด้วยรถ EV จีน ซึ่งประเมินใกล้ ๆ แสนคันในปีนี้ นั่นก็คือกำลังการผลิตที่หายไป”
ชิ้นส่วนถูกลดออร์เดอร์

ดร.สาโรจน์ วสุวานิช อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ทางบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายรายได้รับแจ้งการลดออร์เดอร์จากโรงงานผลิตรถยนต์หลายยี่ห้อ ทำให้กลุ่มชิ้นส่วนต้องปรับลดการผลิตตามไปด้วย คาดว่าภาพรวมยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปี 2567 จะลดลงประมาณ 20-25% หากเทียบกับช่วงปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค. 66 มียอดผลิต 1,841,663 คัน) สาเหตุหลักที่ต้องลดกำลังการผลิต มาจาก 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือส่งออกได้น้อยลง และรถ EV จีนแย่งตลาดรถสันดาปภายใน

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่าเพิ่งไปตกใจ ต้องรอดูสถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ลดไป 25% เท่านั้น ยกเว้นแต่ถ้ามันเกิดอย่างนี้ต่อเนื่องไปหลายปีก็อันตราย ตอนนี้พนักงานส่วนใหญ่ไม่ต้องทำ OT บางบริษัทจะลดวันทำงานของพนักงานลง เช่น เมื่อก่อนทำวันเสาร์ก็ได้หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ไป บริษัทยังจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน แต่บริษัทจะได้ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟที่ลดลง”

มิตซูฯ หยุดผลิตมิราจ-แอททาจ
แหล่งข่าวจากบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การผลิตรถยนต์ของบริษัทในปัจจุบัน ว่าหลัก ๆ ยังรองรับกับตลาดส่งออกถึง 80% ส่วน 20% เป็นตลาดในประเทศ ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และบริษัทได้บริหารจัดการภายใน ซึ่งช่วยเกลี่ยเรื่องแรงงานได้พอสมควร เช่น รถยนต์บางรุ่นที่เข้าสู่ช่วงปลายของโปรดักต์ อย่างมิตซูบิชิ แอททาจ และมิตซูบิชิ มิราจนั้น ก็ลดจำนวนผลิตลง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ผู้บริหารเคยให้ข่าวไว้ก่อนหน้านี้ ว่าท้ายที่สุดก็จะหยุดการผลิตลง

“เราใช้วิธีโรเตชั่นพนักงาน เพื่อหล่อเลี้ยงให้โรงงานและพนักงานได้มีงานทำ ส่วนของการทำงานนอกเวลา หรือ OT นั้น ต้องยอมรับว่ามีการปรับลดลงไปตามสภาพของตลาด แต่ยังไม่มีการยุบหรือยกเลิกโอทีแต่อย่างใด เพราะโรงงานตลาดส่งออกยังไปได้ดี

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท ฮอนด้า ในประเทศไทย ที่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์การผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของฮอนด้านั้นยังถือว่าพอไปได้ เพราะบริษัทมีแต่รถเก๋ง ตลาดที่กระทบหนักคือปิกอัพและกลุ่มรถสันดาป ยิ่งตลาดรถจักรยานยนต์ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยในช่วง ก.ค.นี้มีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น เพื่อเตรียมรองรับกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและเป็นช่วงฤดูกาลขาย

ส่วนไลน์การผลิตรถยนต์ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากรถ EV ค่อนข้างมาก มีการปรับลดโอทีลง 20% ส่วนกะการทำงานยังรักษาไว้ที่ 2 กะ แต่ใช้วิธีโยกคน เช่น โรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลิตรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ อย่างฮอนด้า แอคคอร์ด ก็ได้ย้ายพนักงานบางส่วนไปยังโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี เพื่อผลิตรถยนต์ที่ยังมียอดขายดีแทน ทั้งรถยนต์ในกลุ่ม เอสยูวี ฮอนด้า เอชอาร์-วี, ซีอาร์-วี, ซีวิค และซิตี้ เป็นต้น
“เรายังเลือกดูแลรักษาพนักงานเอาไว้ ด้วยการไปพัฒนาศักยภาพในการทำงานให้มากขึ้น มีการส่งพนักงานไปอัพสกิล รีสกิล เพื่อเตรียมความพร้อมและรักษาความแข็งแกร่ง รอวันที่ตลาดรถยนต์กลับมาฟื้นตัว เราก็พร้อมเดินหน้าผลิตอย่างไร้รอยต่อ”

รถ EV จอดนิ่งเต็มท่าเรือ
ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะรถ EV จากจีนที่ทยอยเข้ามาขายในบ้านเราประสบปัญหาเช่นกัน ตอนนี้มีหลายพันคันจอดเกลื่อนท่าเรือแหลมฉบัง จนล่าสุดผู้บริหารหลายแบรนด์ได้เบรกออร์เดอร์นำเข้าบ้างแล้ว
นายณัฐภูมิ เปาวรัตน์ นายกสมาคมคลังสินค้าไซโลและห้องเย็น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาพรวมธุรกิจคลังสินค้ามีผู้ประกอบการนำเข้ารถ EV และผลิตรถยนต์จากหลากหลายแบรนด์มาเช่าใช้บริการพื้นที่คลังสินค้าบริเวณท่าเรือแหลมฉบังและบริเวณใกล้เคียงกันเยอะมาก ราว ๆ 10,000 คัน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 200,000 แสนตารางเมตร ถ้าคำนวณเป็นราคาค่าเช่าก็ราว ๆ 80-100 บาทต่อตารางเมตร รถยนต์ 1 คันใช้พื้นที่ประมาณ 15-20 ตารางเมตร... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/motoring/news-1586856

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่