เมนูง่ายๆ ไข่ต้ม ที่คุณจะไม่สามารถทำได้ (บนยอดเขาเอเวอเรสต์)

ทำไม เมนูง่ายๆ อย่างไข่ต้ม เราถึงไม่สามารถ ต้มบนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้?
อย่างแรกเลย คุณอาจจะจะสงสัย จะมีใครสักกี่คนบนโลกใบนี้ ที่จะอยากขึ้นไปต้มไข่ในจุดสูงที่สุดของโลก

จากที่เราได้เรียนกันมา คือ น้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส และอาหารที่ง่ายสุดที่คุณทำได้คือไข่ต้ม วิธีทำก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแค่ใส่ไข่ลงไปในน้ำเดือดและรอเวลา อยากได้ไข่สุกแค่ไหนก็ว่าไป แต่ประเด็นคือ ถ้าคุณไปต้มไข่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ไข่มันจะไม่มีทางสุก

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

อย่างแรก ที่เราจำมาว่าน้ำจะเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เงื่อนไขของมันคือ 'ระดับน้ำทะเล' ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของแรงดันอากาศ แต่เอาง่ายๆ คือถ้าแรงดันอากาศต่ำลง จุดเดือดของน้ำจะต่ำลงตาม

โดยทั่วไปก็มีวิธีให้จำง่ายๆ ว่าทุกๆ ความสูง 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จุดเดือดของน้ำจะต่ำลง 1 องศาเซลเซียส ดังนั้นโดยทั่วไป ถ้าคุณไม่ได้อยู่บนภูเขาสูงมากๆ เวลาคุณต้มน้ำหรือต้มไข่คุณก็จะไม่รู้สึกว่ามันต่างหรอก

และเอาจริงๆ ขนาดใน 'เมืองที่สูงที่สุดในโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่' อย่างเมืองลาริงกอนาดา ในเปรู ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 5 กิโลเมตร น้ำจะเดือดที่ 83 องศาเซลเซียส และเรียกว่าต้มไข่ได้พอดีๆ เพราะไข่ขาวจะสุกแข็งที่อุณหภูมิขั้นต่ำประมาณ 80 องศาเซลเซียส ส่วนไข่แดงจะสุกแข็งที่ 70 องศาเซลเซียส

แต่เราก็จะเห็นว่าถ้าสูงไปกว่านี้อีกหน่อย จะต้มไข่ไม่ได้แล้ว ซึ่งยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นสูงกว่า 8 กิโลเมตร จากระดับน้ำทะเล และตรงนั้น อุณหภูมิ 68 องศาเซลเซียสก็ทำให้น้ำเดือดได้แล้ว และอย่างที่เล่ามา อุณหภูมิน้ำเดือดเท่านี้ไม่สามารถจะทำให้ไข่ขาวหรือไข่แดงสุกได้ และสิ่งที่คุณจะได้จากการต้มไข่คือไข่ลวกเท่านั้น มันไม่มีทางจะเป็นไข่ต้ม

แล้วไม่มีวิธีอื่นเลยหรือ? ที่จริงถ้าใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และอุปกรณ์ช่วยมันสามารถทำได้ เพราะในทางเทคนิคถ้าเราใช้ 'หม้อแรงดัน' ต้มไข่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ก็จะทำได้ เพราะสิ่งที่อุปกรณ์นี้ทำคือการเพิ่มความดันอากาศในการต้ม และนั่นทำให้จุดเดือดของน้ำสูงขึ้น และในทางทฤษฎีมันก็จะสูงจนเราทำไข่ต้มบนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้

แต่ก็นั่นแหละ นี่เป็นเรื่องในทางทฤษฎีที่ยังไม่มีบันทึกเอาไว้ว่ามีใครเคยขึ้นไปทดลองแต่อย่างใด สักวันหนึ่งเชื่อว่าหากมนุษย์ไม่มีอะไรทำ ไม่มีเนื้อหาอะไรจะนำเสนอ ก็คงจะมี YouTuber สักคนขึ้นไปทดลองต้มไข่บนยอดเขาเอเวอเรสต์จนสำเร็จ

ที่มา :  BrandThink
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่