พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
[๒๙] บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม ด้วยเหตุที่วินิจฉัยอรรถคดีโดยผลุนผลัน
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตวินิจฉัยอรรถคดี และความอันไม่เป็นอรรถคดีทั้งสอง วินิจฉัยบุคคลเหล่าอื่นโดยความไม่ผลุนผลัน โดยธรรมสม่ำเสมอ ผู้นั้นชื่อว่าคุ้มครองกฎหมายเป็นนักปราชญ์ เรากล่าวว่า ตั้งอยู่ในธรรม
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก
บุคคลผู้มีความเกษมไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต
บุคคลไม่ชื่อว่าทรงธรรมด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก
ส่วนผู้ใดฟังธรรมแม้น้อยแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย [และ] ไม่ประมาทธรรม ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะเหตุที่มีผมหงอกบนศีรษะ วัยของบุคคลนั้นแก่หง่อมแล้ว บุคคลนั้นเรากล่าวว่า เป็นผู้แก่เปล่า
สัจจะ ธรรมะอหิงสา สัญญมะและทมะ มีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลมีมลทินอันคายแล้ว เป็นนักปราชญ์ เราเรียกว่าเป็นเถระ
นรชนผู้มักริษยา มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่เป็นผู้ชื่อว่ามีรูปงามเพราะเหตุเพียงพูด หรือเพราะความเป็นผู้มีวรรณะงาม
ส่วนผู้ใดตัดโทษมีความริษยาเป็นต้นนี้ได้ขาด ถอนขึ้นให้รากขาดแล้ว ผู้นั้นมีโทษอันคายแล้ว มีปัญญา เราเรียกว่า ผู้มีรูปงาม
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้น
บุคคลผู้ไม่มีวัตร พูดเหลาะแหละ มากด้วยความอิจฉาและความโลภจักเป็นสมณะอย่างไรได้
ส่วนผู้ใดสงบบาปน้อยใหญ่ได้โดยประการทั้งปวง ผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะสงบบาปได้แล้ว
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุด้วยเหตุเพียงที่ขอคนอื่น
บุคคลสมาทานธรรมอันเป็นพิษ ไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุด้วยเหตุนั้นผู้ใดในโลกนี้ลอยบุญและบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์รู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เที่ยวไปในโลก ผู้นั้นแลเราเรียกว่าเป็นภิกษุ
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะความนิ่ง
บุคคลผู้หลงลืมไม่รู้แจ้ง ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตถือธรรมอันประเสริฐ เป็นดุจบุคคลประคองตราชั่ง เว้นบาปทั้งหลายผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่ามุนี
ผู้ใดรู้จักโลกทั้งสอง ผู้นั้นเราเรียกว่าเป็นมุนีเพราะเหตุนั้น
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่เราเรียกว่าเป็นอริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
ดูกรภิกษุภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร
ด้วยความเป็นพหูสูต
ด้วยการได้สมาธิ
ด้วยการนอนในที่สงัด
หรือด้วยเหตุเพียงความดำริเท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้ ฯ
จบธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐
"บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงที่พูดมาก"
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙