บ้านมั่นคง ผลงานที่รัฐบาลควรสานต่อ เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่

เชื่อแน่ว่า พี่น้องชาวไทยน่าจะเคยผ่านสายตาเห็นภาพเปรียบเทียบ ก่อน-หลัง โครงการบ้านมั่นคงริมคลอง หลายคลอง ในแบบที่เห็นนี้
 
บ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง
เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ และยุครัฐบาลเศรษฐาในปัจจุบัน ก็ดำเนินการสานต่อ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรี พม.ปัจจุบัน นายวราวุธ ศิลปอาชา ลงพื้นที่ โดยนั่งเรือไปติดตามเยี่ยมชมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย “โครงการบ้านมั่นคงชุมชนประชาร่วมใจ 1” 



ภาพก่อนและหลังการพัฒนา คือ ภาพความแตกต่างที่แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จที่จับต้องได้แท้จริง ไม่ใช่วาทกรรมแบบการเมืองน้ำเน่าที่โจมตีว่าช่วงหลังรัฐประหารคือหลุมดำของการพัฒนา  

จากชุมชนแออัด รุกล้ำลำคลอง ทำให้การระบายน้ำมีปัญหากลายเป็นบ้านริมคลองสวยงาม มั่นคง สีสันสดใส มีสันเขื่อนระบายน้ำใช้เป็นทางเดินเลียบคลอง ขี่จักรยาน ฯลฯ  

1. ความจริง รัฐบาลลุงตู่ เริ่มดำเนินการที่คลองลาดพร้าว ตั้งแต่ปี 2559 เริ่มรื้อย้ายชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำคลองและกีดขวางทางระบายน้ำในคลอง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม โดยรัฐบาลมอบหมายให้ กทม.สร้างเขื่อนระบายน้ำ (ระยะทางทั้งหมด 45 กิโลเมตร) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ “พอช.” จัดทำแผนงานรองรับด้านที่อยู่อาศัยของประชาชน เกิดเป็นบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวขึ้นมาก่อน จากนั้น เริ่มรื้อย้ายชุมชนที่รุกล้ำลำคลองเปรมฯ ตั้งแต่ต้นปี 2563 เพื่อสร้างบ้านใหม่ เปิดพื้นที่พัฒนาคลอง-สร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม มีแผนเชื่อมระบบคมนาคมรถ-ราง-เรือ และเดินหน้าตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ธันวาคม ปี 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ “บ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง” ที่ชุมชนริมคลองเปรมประชากรตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ในยุคนั้น หลายหน่วยงานร่วมกัน ทั้ง พม. มท. รวม 21 หน่วยงาน 8 กระทรวง โดยกรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินระยะเวลา 30 ปี เพื่อให้ทุกครัวเรือนอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

“ชุมชนวัดรังสิตทำเรื่องที่อยู่อาศัยริมคลองเป็นชุมชนที่สอง ส่วนชุมชนอื่นๆ ก็ต้องรีบทำต่อไป รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัย มีกระทรวงต่างๆ 8 กระทรวงร่วมสนับสนุน และจะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไปตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ประชาชนจะต้องช่วยกันดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำบ้านเรือนให้สะอาด ดูแลคลองให้สวย น้ำใส คูคลองสะอาด กำจัดน้ำเสียตั้งแต่ในครัวเรือน มีที่ดักไขมันในครัวเรือนก่อนทิ้งลงคลอง” นายกฯลุงตู่กล่าวไว้ พร้อมยืนยันว่า โครงการดีๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นต่อไปในทุกพื้นที่ และทยอยทำต่อไปทุกๆ 5 ปี เพราะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชาติระยะ 20 ปี 

2. รมต.วราวุธ รัฐบาลเศรษฐา สานต่อบ้านมั่นคง
โครงการบ้านมั่นคงริมคลอง เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม สารพัดหน่วยงานจากนานาชาติได้ล่องเรือเข้าไปศึกษาดูงานอย่างสม่ำเสมอ จากทั่วทุกทวีปก็ว่าได้ สัปดาห์ที่ผ่านมาล่าสุด อาทิ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ ฯลฯ 

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ล่องเรือลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ชุมชนประชาร่วมใจ 1 (หลังวัดเสมียนนารี) 

รมต.วราวุธ ยืนยันว่า รัฐบาลมีแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร พ.ศ. 2562-2570 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ความยาว 50.8 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน มีบ้านเรือนชุมชนปลูกสร้างรุกล้ำตลอดแนวคลอง ตั้งแต่เขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 38 ชุมชน 6,386 ครัวเรือน
ส่งผลกระทบต่อการรับน้ำ และระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ 

โดยแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562 - 2565 จำนวน 4 โครงการหลัก อาทิ การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรตลอดสาย ส่วนบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลำคลอง อยู่บนที่ดินราชพัสดุ ส่วนใหญ่สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ภายใต้การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน 1,699 ครัวเรือน โดยก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวชุมชนสามารถเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน ส่วนชุมชนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชน สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด และสร้างบ้านใหม่ริมฝั่งคลอง เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน อีกทั้ง ทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย” 

นายวราวุธ เปิดเผยว่า ทาง พอช.ได้ทำงานร่วมกันกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำงานร่วมกัน มีการดูแลและพัฒนา ซึ่ง พอช.มีหน้าที่ในการหางบประมาณมาสนับสนุนพี่น้องประชาชนในการสร้างที่พักอาศัยใหม่ ที่สามารถเชิดหน้าชูตาของกรุงเทพฯ ได้ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันรักษาความสะอาด รักษาชุมชนให้สวยสดงดงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน 

“...ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ ที่มีการวางแผนจะดำเนินการให้ตลอดทั้งสองฝั่งคลองเปรมประชากร รวม 38 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีความละเอียดอ่อน และมีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่เราเน้นย้ำในการทำงานร่วมกันของพี่น้องในชุมชน และหน่วยงานราชการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วชุมชนจะเกิดได้ เงินส่วนหนึ่งจากหน่วยงานราชการ และอีกส่วนหนึ่งจากพี่น้องประชาชนที่เป็นการผ่อนชำระ แล้วมาช่วยกันเพื่อทำให้ชุมชนและสังคมของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอีกหลายพื้นที่ที่ทาง พอช. กำลังดำเนินการเจรจากับพี่น้องประชาชนอยู่ โดยบางพื้นที่กำลังทำเรื่องขออนุญาตใช้ที่ดิน แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วชุมชนต้นแบบเราจะขยายให้ครบทั้ง 38 ชุมชนตลอดริมฝั่งคลองเปรมประชากร…” - รมต.วราวุธ กล่าว 

3. นโยบายและแผนภาพใหญ่ ชัดเจนว่า เป็นโครงการที่ควรได้รับการสานต่อในทุกๆ มิติ
คลองเปรมประชากร เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันมีอายุกว่า 150 ปี มีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร มีความกว้าง 12 เมตร เชื่อมเส้นทางคมนาคมทางน้ำระหว่างกรุงเทพฯ-บางปะอิน อยุธยา  แต่ปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม มีชุมชน บ้านเรือน ปลูกสร้างรุกล้ำตลอดแนวคลอง ตั้งแต่พื้นที่ริมคลองในเขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือนทำให้ลำคลองคับแคบ สกปรก ตื้นเขิน ไม่สามารถช่วยรับน้ำและระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  ในยุครัฐบาลลุงตู่ ปี 2562 จึงจัดทำ “แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร” ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร โดยมีแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562-2565 จำนวน 4 โครงการหลัก วงเงิน 4,448 ล้านบาท เช่น การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมฯ ตลอดสาย การทำอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำจากคลองเปรมฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ ทั้งนี้ ชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชน จำนวน 6,386 ครัวเรือน สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด แต่จะต้องรื้อย้ายขึ้นมาสร้างบ้านใหม่บนฝั่ง เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน และจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ดินราชพัสดุ เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย” 

ในส่วนของชุมชนริมคลอง รัฐบาลลุงตู่มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ “พอช.” หน่วยงานในสังกัด พม.รับผิดชอบดำเนินงานเช่นเดียวกับการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว ความสำเร็จที่ผ่านมา มิใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการทำงานหนักร่วมมือกัน 

การสนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มของชุมชน
ส่งสถาปนิกเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน
สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละไม่เกิน 147,000 บาท เพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท ผ่อนระยะยาว 20 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี 

สนับสนุนการปรับปรุงทัศนียภาพชุมชนริมคลอง ปลูกต้นไม้ให้มีความร่มรื่น เพื่อให้คลองเปรมประชากรมีความสวยงาม มีสภาพแวดล้อมที่ดี บ้านเรือนสวยงาม เปลี่ยนจากชุมชนแออัด เป็น “ชุมชนสุขภาวะดี” ส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน และยังมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ-ท่องเที่ยวชุมชน เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า) และเรือต่อไปด้วย 

ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน รวม 1,699 ครัวเรือน (26.61%) ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน (18.74%) ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ 

ส่วนการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำโดยกรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยกทม.ก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความคืบหน้าของโครงการรวม 26% 

ยิ่งกว่านั้น ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ออกมาในยุครัฐบาลลุงตู่ มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวง พม. รับผิดชอบประมาณ 3 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น 

1.การเคหะแห่งชาติ จัดทำที่อยู่อาศัยในลักษณะเช่า-ซื้อ ให้แก่ประชาชนทั่วไปประมาณ 2 ล้านครัวเรือน 

2.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เช่น โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท บ้านพอเพียง ที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร และคนไร้บ้าน ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน 

จะเห็นว่า เป็นโครงการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม จับต้องได้ มีผลสำเร็จมาเป็นระยะ สมควรจะได้รับการสานต่อ สนับสนุน ส่งเสริม
ในทุกมิติต่อไปอย่างยิ่ง 

สันติสุข มะโรงศรี
https://www.naewna.com/politic/columnist/58338
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่