เดนมาร์กทำได้อย่างไร? ครองแชมป์ทุจริตต่ำสุด 6 ปีซ้อน

กระทู้ข่าว
เดนมาร์กทำได้อย่างไร? ครองแชมป์ทุจริตต่ำสุด 6 ปีซ้อน

หากกล่าวถึงความเป็นที่สุดของเดนมาร์ก อย่างแรกที่ใครหลายคนนึกถึง นั่นคือ “การทำฟาร์มโคนม” ซึ่งติดอันดับ Top 5 ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาโดยตลอด รวมระยะเวลากว่า 100 ปี
ถึงขนาดมีโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาฟาร์มโคนมแก่ประเทศไทยมาแล้ว ในชื่อ ฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์ก และที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ “ตัวต่อเลโก้” ของเล่นยอดนิยมที่ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ต่างติดกันงอมแงม โดยทั้งยังเป็นบริษัทของเล่นที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก ปี 2023 ที่ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 270,000 ล้านบาท)

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เทียบไม่ได้เลยกับ ความเป็นที่สุดในด้าน ความโปร่งใสที่เดนมาร์กชนะเลิศด้านดัชนีชี้วัดมา 6 ปีซ้อน นับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอย่างมาก ที่สามารถรักษาแชมป์ในประเด็นที่คุมได้ยากเช่นนี้ เพราะการจะควบคุมทั้งประชากรและภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตได้นั้น เป็นเรื่องที่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของ “ผลประโยชน์หรือผลต่างตอบแทน” ที่ใครต่างก็ต้องการเสมอ แต่การที่ผลสะท้อนทางดัชนีออกมาเช่นนี้ แสดงว่าเดนมาร์กต้อง “มีอะไรดี” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเป็นแน่

ความเชื่อใจสร้างสังคมทุจริตต่ำ

การต่อต้านคอรัปชันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องทั้งหมด เพราะคนเดนมาร์กมีความเชื่อใจกันมาก ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ชาวเดนมาร์กเชื่อในตำรวจ เชื่อในรัฐบาล และคนเดนมาร์กไม่ยอมทน หากเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้กระทำสิ่งนั้นจะเป็นใครก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความโปร่งใส นอกจากนี้การจ่ายเงินใต้โต๊ะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเดนมาร์ก ผู้คนไม่ยอมรับการกระทำในลักษณะนี้

สิ่งที่เราเห็นจากเดนมาร์กคือ การรับมือการทำทุจริตนั้น มักจะมาจาก “การตระหนักรู้ของแต่ละคน (Individual Consciousness)” เป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิด “ความเชื่อใจ” มากพอที่จะไม่ทำทุจริต หรือถ้าพบเห็นการทุจริตก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ในทันที แต่นั่น เพียงพอที่จะสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้หรือไม่? บางทีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางราชการชั้นความลับได้ง่ายอาจเป็นคำตอบ

เดนมาร์กกล้าเปิดข้อมูลชั้นความลับ

เดนมาร์กเปิดให้ประชาชนคนทั่วไป รวมไปถึงสื่อมวลชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินภาษีและข้อมูลอื่น ๆ ของรัฐบาลได้ และการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของรัฐบาล จะถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นทำให้เดนมาร์กมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลทางราชการชั้นความลับได้นั้น นอกจากจะทำให้เกิดความโปร่งใส ยังเกี่ยวข้องกับเรื่อง “ความรับผิดชอบ (Accountability)” อีกด้วย เพราะการที่เปิดเผยข้อมูลชั้นความลับให้กับประชาชน ก็คือการเปิดเผยข้อมูลให้กับทุกคนทุกชาติเข้าถึงได้ด้วย สรุปคือหากไม่เปิดเผย ความโปร่งใสก็ไม่เกิด แต่หากเปิดเผย อันตรายก็อาจย้อนกลับหารัฐเอง ถือว่า เดนมาร์กกล้าได้กล้าเสียในเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ของประชาชน “ผู้จ่ายภาษี” และ รัฐบาล “ผู้บริหารจัดการภาษี” เพราะหากนักการเมือง หรือข้าราชการ สามารถป้องกันการทุจริตได้ ผลดีก็ตกลงถึงพวกเขาเช่นกัน ในฐานะประชาชนชาวเดนมาร์ก

กลไกเชิงสถาบันสำคัญไม่แพ้กัน

แน่นอน การจะบรรลุผลลัพธ์ด้านการป้องกันการทำทุจริตได้นั้น จำเป็นต้องมี “กลไกเชิงสถาบัน” อย่างการบริหารและการบังคับใช้กฎหมาย รวมไปถึงระบบที่ใครก็สามารถแจ้งเบาะแสได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกชื่อ ซึ่งเดนมาร์กสามารถทำได้ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้การต่อต้านการทุจริตมันได้ผล

นอกจากนี้ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลเดนมาร์กก็ต้องแสดงความโปร่งใสต่อสื่อมวลชนด้วย ต้องเปิดกว้างให้สื่อถาม หากมีข่าวลือเกิดขึ้น ก็ต้องพร้อมเปิดเอกสารให้ตรวจสอบ ฉะนั้นรัฐบาลต้องบันทึกทุกอย่างไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

สำหรับการถอดบทเรียนเพื่อที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย ต้องไม่ลืมว่า บริบทและเงื่อนไขของสองประเทศนี้แตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาใช้กับไทยได้หมด จำเป็นต้องปรับใช้ในแบบของไทยเองจะดีกว่า
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เดนมาร์กนั้นมีดีอยู่ตรงการเปิดเผย โดยเฉพาะข้อมูลทางราชการชั้นความลับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งขัดกับหลักการความมั่นคงของรัฐ เพราะส่วนใหญ่ รัฐจำเป็นต้องมีความลับเพื่อให้ดำเนินการได้สะดวก 

กล่าวโดยสรุปคือ เดนมาร์ก เป็นประเทศที่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลชั้นความลับเพื่อสร้างความโปร่งใส โดยไม่เกรงกลัวผลกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศในอนาคต สำหรับประเทศไทย ต้องมาลองดูว่าจะนำบทเรียนของเดนมาร์ก มาปรับใช้อย่างไรต่อไป

https://www.tnnthailand.com/news/world/165385/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่