เตือนภัย วิธีการของคอมมิวนิสต์ การสอนโดยวิธีการล้างสมอง (Brainwashing) และวิธีการป้องกันการโดนล้างสมอง

วันที่เผยแพร่ 23 มิ.ย. 53

ผลของการสอนทำให้เกิด “การเรียนรู้” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ที่จัดให้จากกระบวนการสอน “การล้างสมอง” เป็นวิธีการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลเช่นกัน

การสอนด้วยวิธีการล้างสมองนิยมใช้กับการปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา ลัทธิการเมือง การขายสินค้า การทำสงคราม และการสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้กับวัตถุ หรือ บุคคล เป็นต้น

การล้างสมอง ไม่เหมือนการล้างจาน หรือ การซักผ้า ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความสะอาดเอี่ยม ไม่มีสิ่งสกปรกหลงเหลือ แต่การล้างสมองเป็นการปลูกฝังความคิด ความเชื่อ และความศรัทธา จนเกิดเป็นค่านิยม บุคลิกภาพ และนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมตามความคิด

การล้างสมอง เป็นคำที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบและใช้ในประเทศที่มีระบบการปกครองตรงข้ามกับระบบเสรีประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็น สำหรับในประเทศฝ่ายเสรีประชาธิปไตยนิยมใช้คำว่า “การควบคุมจิตใจ” หรือ Mind Control นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้มีความหมายใกล้เคียงกัน ได้แก่ Coercive Persuasion และ Thought Control รวมทั้ง Thought Reform เป็นต้น

การล้างสมอง เป็นเทคนิควิธีทางจิตวิทยา ที่นำมาใช้เพื่อปรับแนวความคิดของบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบหรือแบบแผนที่ได้กำหนดไว้ คำว่า “Brainwashing” นี้ได้มาจากภาษาพูดในภาษาจีนที่เขียนตามคำอ่านว่า สี-เหน่า (แปลว่า ล้างสมอง) การล้างสมองที่ใช้ในประเทศจีนจะดำเนินการโดยให้มีการสารภาพความผิดเสียก่อนแล้วจากนั้นก็จะมีการใช้กระบวนการให้การศึกษาใหม่ วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดผลในการล้างสมองแก่บุคคลนั้นก็จะมีการใช้วิธีรุนแรงและผ่อนปรนผสานกันไป หรือจากเบาไปหาหนัก และจะมีการสลับด้วยการใช้วิธีการ บังคับ ขู่เข็ญ ให้คุณและให้โทษทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ละทิ้งความคิด ความเชื่อแบบเก่านั้นเสียก่อนแล้วจึงสร้างความคิดแบบใหม่ใส่เข้าไปไว้แทน อาจเรียกว่าเป็นการปลูกถ่ายความคิดก็ได้

การสอนโดยวิธีการล้างสมองนี้ ได้ถูกนำไปใช้สอนมวลชนชาวจีนในช่วงหลังปี ค.ศ. 1949 ที่คอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองในประเทศจีนแล้ว ในช่วงสงครามเกาหลีคนจีนได้ล้างสมองเชลยศึกอเมริกันได้สำเร็จในบางราย มีเชลยศึกอเมริกันบางรายประกาศเลิกจงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา ได้สารภาพบาปที่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม และคนกลุ่มนี้ก็ได้เลือกที่จะขอลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนแทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศสหรัฐอเมริกา และในช่วงที่เกิดความขัดแย้งในสงครามเกาหลี โดยเกาหลีเหนือนำวิธีการนี้ไปสอนเยาวชนของประเทศเกาหลีเหนือตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1960 จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้อยู่แต่ลดระดับความเข้มลงไปบ้าง

การล้างสมองที่ใช้เป็นเทคนิควิธีสำหรับปรับค่านิยมใหม่ให้แก่บุคคลและเพื่อเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีของบุคคลนี้ยากที่จะประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเป็นกระบวนการที่สร้างให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ซึ่งมีความซับซ้อนในโครงสร้างความคิดอย่างมาก แม้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางสงครามจิตวิทยาบางรายมีความเชื่อว่า การล้างสมองนี้สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางด้านอุดมการณ์มากยิ่งกว่าในการเปลี่ยนแปลงความจงรักภักดีต่อชาติของบุคคล

วิธีการสอนแบบล้างสมอง

การสอนโดยวิธีการล้างสมองนิยมใช้กับการปลูกฝังความเชื่อทางศาสนา ลัทธิการเมือง การขายสินค้า และสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้กับวัตถุ หรือ บุคคล เป็นต้น การสอนโดยวิธีการล้างสมองมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

1. ทำการศึกษาผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายเพื่อหาจุดอ่อนไหวร่วมกัน แล้วทำการให้ข้อมูลใหม่หรือความคิดใหม่ ที่ขัดแย้งกับข้อมูลเดิมหรือความคิดเดิมที่อ่อนไหวซึ่งผู้เรียนไม่แน่ใจในข้อมูลหรือความคิดเดิมมากนัก ถึงแม้ข้อมูลหรือความคิดใหม่ที่ให้จะไม่เป็นความจริงหรือถูกต้องทั้งหมดก็ตาม โดยพยายามสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับข้อมูลหรือความคิดใหม่นั้นให้กับผู้เรียนก่อนเป็นอันดับแรกด้วยกลอุบายต่าง ๆ แม้แต่การแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ทั้งที่มีจริงหรือใช้กระบวนการทางจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ มายากล รวมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่คนส่วนมากไม่รู้จักจัดกระทำให้เกิดขึ้นก็ตาม

2. ไม่เปิดเผยจุดประสงค์ที่แท้จริงในการสอน ให้ใช้การแสดงออกของผู้เรียนบางคนที่พร้อมรับการตอบสนองกับข้อมูลหรือความคิดใหม่ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะมีบุคคลประเภทนี้ปะปนอยู่ในกลุ่มเสมอแม้จะไม่ได้มีการจัดกระทำเตรียมไว้ก็ตาม โดยใช้คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของข้อมูลใหม่หรือความคิดใหม่ เพื่อนำเสนอให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยรวมหรือผู้เรียนที่เหลือ

3. ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอันเป็นที่เป็นที่มาของเรื่องราวหรือเนื้อหาที่สอนในมิติที่แตกต่างไปจากที่ผู้เรียนเคยได้รับรู้หรือเรียนรู้มา เพื่อเสริมการนำเสนอข้อมูลหรือความคิดใหม่ที่ให้กับผู้เรียน ในขั้นนี้ต้องแสดงความขัดแย้งของข้อมูล และเสนอทางเลือกให้ โดยการโน้มน้าวจากข้อมูลใหม่ให้เห็นคล้อยตาม แต่จะยังไม่บังคับ ขู่เข็ญ ลงโทษในทันที ให้เริ่มใช้มาตรการขั้นเบาก่อน แล้วจึงเริ่มกดดันให้รับความคิดใหม่หรือความเชื่อใหม่ด้วยกระบวนการกลุ่มและอิทธิพลของกลุ่ม ตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก

4. สรุปบทเรียนด้วยการสร้างเป็นหลักการ หรือทฤษฎี ที่ง่ายกับการจดจำเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในข้อมูลหรือความคิดใหม่โดยเน้น ข้อดี ตามที่ต้องการมากกว่า ข้อเสีย ที่ไม่ต้องการให้นำไปใช้และแสดงให้เห็นว่าการยอมรับความคิดใหม่เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ถ้าเลือกแตกต่างออกไปจะมีปัญหาในการทำกิจกรรม หรืออยู่ร่วมกับหมู่คณะ ในขั้นนี้อาจมีผู้เรียนบางคนที่ต้องออกไปเพราะไม่สามารถยอมรับได้ ถือเป็นสิ่งปกติ และไม่แสดงการขัดขวางอย่างรุนแรง

5. ทำการเลือกสัญลักษณ์ คำพูด หรือรหัสสำหรับการนำไปใช้ โดยให้สามารถสัมผัสได้ หมายถึง ทำให้นามธรรมจากการสรุปบทเรียนนั้น เป็น “รหัส” ที่มองเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสได้ด้วยผัสสะปกติของมนุษย์ เพื่อที่จะสามารถถอดรหัสออกมาใช้ได้ตลอดเวลา และรวมถึงเป็นการสร้างความเป็นพวกเดียวกันให้กับผู้อื่นที่มีความคิดเหมือนกัน เพิ่มความเข้มแข็งให้กับพลังของกลุ่มหรืออิทธิพลของกลุ่ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่