บรรลัยวิทยา: สนิมช่องแอร์ !!

พี่ครับ เดี๋ยวอีก 2 วัน ผมลาป่วยนะครับ 

ไม่ต้องตามหา ไม่ต้องคิดถึง ไม่ต้องโทรมาตามนะครับ
แต่ยังไงพี่ช่วยตามหมอมาดูอาการผมด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
 
หากแอร์ที่บ้านบอกกับผมอย่างนี้บ้าง ก่อนที่ผมจะกดรีโมทและเข้านอนในวันที่กลางวันอุณหภูมิแตะ 36-37 องศามันก็คงจะดีนะครับ
 
แต่ชีวิตจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นนะสิครับ
 
เพราะบางทีน้องแอร์ไม่ค่อยจะเตือนเราก่อน อยู่ดีดีก็ไม่เย็นซะงั้น ?
ราวกับจะบอกว่าให้เราดูแลเขาดีดี ให้อาบน้ำ ล้างคอยล์เย็น คอยล์ร้อนให้เขาบ้าง
ไม่งั้นเขาจะทิ้งให้เราอยู่อย่างร้อนรน

ดั้งนั้นเราจึงควรดูแลเขาบ้างด้วยการล้างแอร์ โดยหากเรามีการใช้แอร์ตัวนั้นบ่อย ๆ ก็ซัก 6 เดือนครั้ง
การล้างแอร์ นอกจากจะทำให้อากาศที่ผ่านแอร์ เย็น สะอาด และสดชื่นแล้ว 
ยังทำให้แอร์ทำให้งานเบาลงสวนทางกับค่า FT ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในหน้าร้อนนี้
 
รวมถึงการล้างแอร์ยังช่วยป้องกันการกัดกร่อนได้ครับ 
เพราะแอร์ที่ไม่ได้ล้าง บริเวณคอยล์เย็น จะเต็มไปด้วยตะกรัน คราบ เมือก สิ่งสกปรกมากมาย
 
และคราบต่าง ๆ ที่เกาะอยู่บนคอยล์เย็น คอยล์ร้อน หรือส่วนต่าง ๆ ของแอร์นั้นสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด
การกัดกร่อนในรูปแบบของการกัดกร่อนใต้ตะกรัน หรือ Corrosion Deposit เกิดขึ้นได้ และเป็น
สาเหตุที่สำคัญที่สามารถทำให้คอยล์แอร์รั่วได้


 


แม้คอยล์เย็นในแต่ละตำแหน่งจะผลิตจากวัสดุเดียวกัน แต่การที่มีคราบ ๆ ต่าง ๆ มาเกาะติดคอยล์ในแต่ละตำแหน่งไม่เหมือนกัน  
ติดหนาบ้าง ติดบางบ้าง ทำให้แต่ละตำแหน่งจะสัมผัสกับอากาศและออกซิเจนที่อยู่ในอากาศไม่เท่ากัน 


ซึ่งความไม่เท่ากันของปริมาณออกซิเจนที่วัสดุทำคอยล์เย็นที่ไม่เท่ากันนี้ละครับ ทำให้แต่ละตำแหน่งมี Potential ต่อการเกิดการกัดกร่อนไม่เท่ากัน 
 
โดยบริเวณที่สัมผัสกับออกซิเจนได้จะเกิดปฏิกิริยา Oxygen Reduction ฟอร์มตัวเป็นคาโธด (Cathode) และมีสภาวะเป็นเบส 
ตามสมการ
 
   O2 + 2H2O + 4e-     --->     4OH

ในขณะที่บริเวณส่วนที่มีตะกรันปกคลุมและออกซิเจนเข้าไม่ถึงจะเกิดปฏิกิริยา Hydrolysis ฟอร์มตัวเป็นอาโนด (Anode) และมีสภาวะเป็นกรด
ตามสมการ 
 
   M + H2O   --->      MOH + H

โดยมีความชื้นที่สะสมบนคราบต่างๆ จะทำหน้าที่เป็นอิเล็กโตรไลท์ (Electrolite)  ทำให้ครบองค์ประกอบของการกัดกร่อน 

ผิวโลหะบริเวณใต้ตะกรันก็จะถูกกัดกร่อนและสูญเสียเนื้อโลหะกลายเป็น อิออน M+
อิออนบวกของโลหะที่ละลายออกมาเนื่องจากปฏิกิริยาการกัดกร่อน ยังส่งผลให้บริเวณใต้ตะกรันมีสภาพเป็นกรดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 
 
อัตราการกัดกร่อนบริเวณนี้จึงสูงขึ้น ๆ 
หากเราไม่รีบล้างแอร์ เอาตะกรัน หรือ คราบเหล่านี้ออก ระบบท่อ หรือ คอยล์แอร์ก็อาจจะรั่วได้
 
ดังนั้น ไม่ว่าจะ แอร์เก่า แอร์ใหม่ หรือ แอร์กี่
หากอยากอยู่เย็นเป็นสุข เราก็ควรดูแลรักษาเขาให้ดีนะครับ !!
 
สวัสดีครับ
 
#เหล็กไม่เอาถ่าน

#Ref.

1. Hongxing Liang, etc., Three phase corrosion of pipeline steel: size effects of deposited, Journal of Pipeline Science and Engineering, 2021. (Journal Pre-proof).
2. Jan LarsenMaersk Oil, etc., Investigation of Under Deposit Corrosion (UDC) in Halfdan Production Tubulars, Paper No. 7165, NACE corrosion conference and expo 2016.
3. E. McCafferty, Introduction to Corrosion Science, Springer, USA, 2010.
4. Qi Xiong, etc., The study of under deposit corrosion of carbon steel in the flow back water during shale gas production, Applied Surface Science, 523 (2020).
5. Jan LarsenMaersk Oil, etc., Investigation of Under Deposit Corrosion (UDC) in Halfdan Production Tubulars, Paper No. 7165, NACE corrosion conference and expo 2016.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่