บรรลัยวิทยา: โลหะบูชายัญ

พรี่รรรรรรรรรรรรรร ว่างเปล่า ? หนูถามนิดหนี่ง

เจ้าหนูจัมมัย คนดี คนเดิม ที่วันนี้มาแปลกเดินมาหาผมถึงที่โต๊ะในออฟฟิศ

นิดหนึ่งจริงดิ นิดหนี่ง แล้วเราลากเก้าอี้มานั่งข้างโต๊ะพี่ทำไม ?

ผมถามกลับเจ้าหนูจัมมัยด้วยความสงสัย เพราะไม่เชื่อ นิดหนึ่ง ที่เจ้าหนูจัมมัยถาม มันไม่มีอยู่จริง !!

ก็หนูเมื่อยอ๊ะ !! พี่ก็อย่าขัดดิ หนูจะถามพี่แล้ววววววว

คืองี้ วันก่อนเนี่ย หนูหน้างานไปแถวแหลมฉบัง แถวอู่ต่อเรือ 
แล้วเรือทุกลำเลยมีก้อนโลหะสีเงินติดอยู่ใต้ท้องเรือเต็มไปหมด พี่รู้ไหมอ๊ะ ว่ามันคืออะไร ?



รู้ดิ มันคือเครื่องสังเวยให้กับโพไซดอน เจ้าแห่งท้องทะเล

เอาจริง ๆ พี่หยัมมาแบบนี้ดิ หนูถามดีดี !!

พี่ก็ตอบจริง ๆ อ๊ะ
นั้นแหละเครื่องสังเวยให้กับโพไซดอน ไม่ให้มาทำร้ายเรือที่กำลังแล่นอยู่ในทะเล

คืองี้ เรือพวกนี้นะทำจากเหล็กใช่ไหม เจอกับน้ำทะเลเค็ม ๆ
ยังไงมันก็เกิดการกัดกร่อน แถมยังเกิดการกัดกร่อนเร็วด้วยเพราะในน้ำทะเลมันมีคลอไรด์ที่เร่งให้เกิดการกัดกร่อนได้ง่าย

ปกติเขาถึงมีการทาสีป้องกันการกัดกร่อนให้กับเรือ เพื่อไม่ให้น้ำทะเลสัมผัสกับเหล็กโดยตรงเดี๋ยวมันจะเกิดการกัดกร่อน
แต่เรือพวกนี้นะเขาก็แล่นกันเป็นเดือน ๆ เป็นปี ๆ ไม่ได้หยุดพัก เอาเรือขึ้นยาร์ด (Dockyard) ซ่อมบำรุงกันบ่อย ๆ

ดังนั้นตรงไหนสีเสียหายเขาก็จอดเรือหยุดซ่อมเลยไม่ได้ ทำให้จำเป็นต้องมีระบบป้องกันการกัดกร่อน อีก 1 ระบบ
คอยช่วยไม่ให้เหล็กถูกเกิดสนิมหรือถูกกัดกร่อน

ระบบอะไรอ๊ะพี่ แบบ ทาสี 2 ชั้นอะไรอย่างนี้เหรอ ?

ไม่ใช่โว๊ยยยยยยยย

ปกติสีที่ทาเรือเขาทากัน 2 -3 ชั้นอยู่แล้ว ไม่ได้ทาชั้นเดียว
เราถามถึงแท่งโลหะเงา ๆ ที่ติดเรืออยู่ไม่ใช่เหรอ ?



นั้นแหละการป้องกันการกัดกร่อนระบบที่ 2 ของเขา 
มันเรียกว่า Sacrificial Anode หรือ อาโนดสังเวย เป็นหลักการป้องกันการกัดกร่อนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Cathodic Protection

แค่ติดแท่งโลหะลงบนโลหะเนี่ยนะ จะป้องกันการกัดกร่อนได้ พี่โม้อ๊ะเปล่า ?

ก็ได้ดิ ก็การกัดกร่อนเป็นปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า (Electrochemical Reaction)

สิ่งแรกที่มันต้องเกิดขึ้นคือ โลหะจะต้องสูญเสียอิเล็กตรอน (Anode) และกลายสภาพเป็นอิออน
และต้องมีตัวรับอิเล็กตรอน (Cathode) รวมถึงต้องมีอิเล็กโตรไลท์ (Electrolyte) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอิออน
การกัดกร่อนจะไม่เกิดทางไม่มี 3 องค์ประกอบนี้ พร้อมกัน


แล้วไอ้แท่งโลหะที่ติดลงไปมันเกี่ยวอะไรกันละคะ ?

ก็แท่งโลหะที่ติดลงไป เราเรียกว่า Sacrificial Anode ใช่ไหมล่ะ
นั้นก็หมายถึง แทนที่เราจะปล่อยให้เหล็กถูกกัดกร่อน เราก็หาโลหะอื่น ๆ มาบูชายัญเซ่นสังเวยให้กับเทพแห่งการกัดกร่อน 
โดยให้โลหะนั้นทำหน้าที่เป็นอาโนดหรือเสียอิเล็กตรอนแทนเหล็ก แค่นี้เหล็กก็ไม่ถูกการกัดกร่อนแล้ว


อ้าวววแบบนี้ แล้วโลหะที่เราเอามาสังเวยแทนเหล็กจะไม่เป็นไรหรือคะ ?

ก็เป็นสิ ตัวมันเองสูญเสียอิเล็กตรอนไป มันก็ถูกการกัดกร่อน กลายเป็นอิออนละลายหายไปในทะเลนั้นแหละ

เหมือน ตัวตายตัวแทนเลยนะพี่ หรือ จะเรียกว่าถูกบูชายัญดี ?
ว่าแต่แท่งสีเงิน ๆ นั้นทำจากอะไรหรือ คะ ?

โดยหลักการ ก็ทำจากโลหะที่มีค่าศักย์ไฟฟ้าการกัดกร่อนต่ำ (Corrosion Potential) 
หรือ ไวต่อการกัดกร่อนกัดกร่อนมากกว่าาเหล็ก หรือ โลหะที่เราต้องการปกป้อง
ซึ่งเราดู กัลวานิกซีรีย์ (Galvanic Series) เป็นไกด์ก็ได้



อะไรก็ได้จริง อ๊ะ ?

ไม่จริง 55555 ที่จริงเราก็ต้องเลือกให้เหมาะแหละ มันถึงจะมีประสิทธิภาพที่ดี

อย่างในทะเล ตัวที่นิยมก็โลหะ อะลูมิเนียม (Al) ถ้าบนบก ก็เป็นสังกะสี (Zn) ถ้าใต้ดินก็แม็กนีเซียม (Mg)

ก็เหมือนเครื่องสังเวยเทพนั้นแหละ ของเซ่น โพไซดอนก็แบบหนึ่ง
 ของเซ่น ซุส ก็แบบหนึ่ง ของสังเวย ฮาเดส ก็อีกแบบหนึ่ง

การเลือกให้เหมาะจะทำให้อาโนดไม่หมดไว หรือ ไม่จำเป็นต้องติด อาโนดเยอะ ๆ
เพราะโลหะที่ใช้ทำ Sacrificial Anode ก็มีสมบัติที่แตกต่างกันไป

ว่าแต่ถามเยอะขนาดนี้ ไม่มีของมาเซ่นพี่บ้างเหรอ ? 

ไม่มีคะ หนูมีแต่รายงานมาถวาย !!
รบกวนพี่อ่าน และช่วยเซ็นต์ หากไม่อะไรแก้ไขนะคะ

สาธุ 99 สวัสดี ขอบคุณ และลาก่อนค่ะ

#เหล็กไม่เอาถ่าน

Ref.
1. V. S. Sastri, Edward Ghali, and Mimoun Elboujdaini., Corrosion Prevention and Protection Practical Solutions, Great Britain, 2007.
2. Handbook of Cathodic Corrosion Protection, Gulf Professional Publishing, USA, 2007.
3. Osama Mohammed Elmardi Suleiman Khayal, Ships' Hull Corrosion Prevention Using ICCP System Impressed Current Cathodic Protection Approach, Nile Valley University, Faculty of Engineering and Technology, Atbara, Sudan, 2019.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่