ตลาดแรงงานไทย เน้นใช้คน “ราคาถูก”อายุเกิน 30 เส้นตาย “หางานยาก” คนเก่าไม่เกษียณ เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ

ตลาดแรงงานไทย เน้นใช้คน “ราคาถูก”อายุเกิน 30 เส้นตาย “หางานยาก”
คนเก่าไม่เกษียณ เด็กจบใหม่ไม่มีงานทำ
.
ตั้งแต่หลังโควิด-19 การเข้ามาของเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ตลาดแรงงานทั่วโลก รวมถึงตลาดแรงงานไทยที่ระยะหลัง หลายคนรู้สึกว่าหางานยากขึ้น แม้จะส่งใบสมัครไปเป็นร้อย ถูกบริษัทเรียกสัมภาษณ์หลายสิบที่ แต่กลับไร้วี่แววการตอบกลับ บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน จนหลายคนเกิดคำถามกับศักยภาพการทำงานของตัวเองว่า "เก่งไม่พอ" หรือ "งานหายาก" จริงๆ ครั้นจะเปลี่ยนงานก็เจออุปสรรคด้านอายุ ที่จำกัดอายุคนทำงานที่ 30 ปี
.
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์กับ Thairath Money ถึงประเด็นสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยปัจจุบัน
.
ตลาดแรงงานไทย งานหายากจริงไหม

สถานการณ์ตลาดแรงงานไทย มีความต้องการในตลาดแรงงานฐานล่างค่อนข้างเยอะ เช่น ภาคการเกษตร อาชีพอิสระ ซึ่งเป็นงานที่เน้นใช้แรงงาน มีค่าตอบแทนไม่สูง และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นงานสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการ ด้วยความต้องการแรงงานฐานล่างของนายจ้างที่มหาศาล จึงเป็นปัจจัยที่ฉุดให้ภาพรวม อัตราการว่างงานของไทยต่ำที่ระดับ 1% ดังนั้นการหางานในระดับนี้จึงเป็นเรื่องง่ายมาก
.
ประกอบกับแรงงานไทยในปัจจุบัน มีทักษะสูงจึงมักเลือกงานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ในขณะที่เด็กจบใหม่มีความต้องการจากงานมากกว่าคนรุ่นก่อน โดยไม่ได้มองหาแค่งานที่ค่าตอบแทนสูง แต่ยังพิจารณาไปถึงสวัสดิการ และเส้นทางการเติบโตในอาชีพ ทำให้งานที่ตอบสนองความต้องการหายากขึ้น
สอดคล้องกับสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาจบใหม่ ภายใต้หัวข้อ "โลกการทำงานที่เปลี่ยนไปในยุค Post COVID-19 Pandemic" โดย JobThai และ Career Visa ระบุว่า จุดมุ่งหมายในการทำงานของเด็กจบใหม่อันดับที่ 1 คือ มีเงินเดือน สวัสดิการดี (83.6%) รองลงมาคือ มีโอกาสพัฒนาทักษะและเติบโต (82.6%) ตามมาด้วยการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี (61.1%) และได้ทำงานในองค์กรที่ดี (58%) ส่วนการได้ทำงานที่รัก (53.4%) เป็นเหตุผลอันดับที่ 5

อีกทั้งงานที่ให้ค่าตอบแทนสูง ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือกระจุกตัวในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอย่าง EEC ที่น่ากังวลใจไปกว่านั้นคือ ปัจจัยด้านโครงสร้างทางสังคมที่เข้ามากระทบ เช่น ภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม หันมาลดต้นทุน ด้วยการนำหุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาช่วยทำงาน และแรงงานรุ่นเก่าเกษียณน้อยลง ทำงานนานขึ้น คนแต่งงานน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน งานระดับบนที่ให้ค่าตอบสูงจึงมีน้อย ส่งผลกระทบให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มหางานยากขึ้นในอนาคต
อายุเกิน 30 เส้นตาย หางานยาก เสี่ยงตกงาน

"เราเก่ง แต่การใช้คนราคาถูก พอค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ วันนึงผู้ประกอบการก็จะคิดว่าทำไมเราไม่จ้างเด็กจบใหม่ที่ขยันสองคนมาทำแทนคนเดิม สอนสักหน่อย ต้นทุนก็ลดลง"

ตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปลายๆ เป็นต้นมาจะเห็นได้ชัดว่าลูกจ้างภาคเอกชน ที่มีเงินเดือนสูงจะเริ่มหลุดจากตลาดแรงงาน เพราะถูกกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ออกจากงาน

อีกทั้งโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนในอดีตที่จะประกาศรับสมัครคนเข้าทำงาน ในตำแหน่งที่ขาดคน แต่ปัจจุบันการประกาศรับสมัครงานมีไว้มีสำหรับคนไม่มีประสบการณ์ หรือแรงงานใหม่ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ตลาดแรงงานใหม่จึงไม่เปิดโอกาสให้คนอายุ 35 ขึ้นไป เปลี่ยนงาน
หากต้องการหางานใหม่ เมื่ออายุเยอะก็จะมีตลาดเฉพาะ แต่แรงงานต้องรู้ตัวเองแล้วว่ามีความชอบหรือถนัดด้านไหน และในสายงานที่เคยทำต้องมีคอนเนกชันเป็นของตัวเอง ซึ่งการจ้างงานจะมาจากคอนเนกชันเหล่านั้น เป็นเรื่องของการบอกต่อกัน


"ถ้าอายุ 30 กว่าต้องลงหลักปักฐานในสายอาชีพใด อาชีพหนึ่งแล้ว และใช้คอนเนกชันในการหางาน"

โดยตำแหน่งที่เปิดรับส่วนมากจะเป็นตำแหน่งในระดับ manager ที่ไม่สามารถประกาศเปิดรับสมัครให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้ เนื่องจากต้องใช้ประสบการณ์สูง และ recommendation จากที่ทำงานเก่า เพื่อช่วยรับรองคุณสมบัติ ซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงหลายแสนบาท

เปิดทางออก "คนไทย" อยู่รอดยังไงในตลาดแรงงาน
แม้ตลาดแรงงานไทยจะมีช่วงระยะเวลาการเติบโตในสายงานที่สั้น แต่หากเข้าใจโครงสร้างของตลาดที่เปลี่ยนไป และรู้จักวางแผนพร้อมปรับตัวอยู่เสมอก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางาน โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ให้คำแนะนำการทำงานถึงเด็กจบใหม่ว่า

"คุณมีเวลาถึงอายุ 30-35 ปี ต้องเลือกกล่องให้ดี (เส้นทางอาชีพ) เพื่อให้เดินต่อไปได้ ส่วนจะไปได้ไกลขนาดไหนขึ้นอยู่กับคอนเนกชัน”


เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งคอนเนกชัน จะชอบหรือไม่ก็ตามต้องรู้จักคนในวงกว้าง

สำหรับคนที่อายุเยอะ มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนงานแล้ว ต้องอาศัยความกล้าและความตั้งใจจริง ยินดีที่จะเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยอันดับแรกต้องยอมรับว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์ในสายอาชีพใหม่ แต่มีข้อดีอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งเชื่อว่ามีบริษัทที่พร้อมจะรองรับอยู่แล้ว
.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่