อนุสาวรีย์บันทึก ผมกับแขมร์
โดย : ละเว้
บทที่๑๗ ตลาดเซ็ยฮา
การมาแขมร์หนนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วอดหวั่นใจไม่ได้ก็คือ ป้ายขายที่ดินซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่เป็นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ติดตามต้นไม้ ซึ่งแบบนี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้ตามทางซอยเล็กซอยน้อย แต่หากเป็นทางสายหลัก หรือทางลาดยางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดแล้ว จะเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่โตกันเลยทีเดียว อันน่าจะมาจากนโยบายอนุญาตให้ต่างชาติมีสิทธิ์เช่าที่ดินทำการเกษตรในระยะยาวได้นั่นเอง ผลกระทบซึ่งเห็นได้ชัดคือ ฅนแขมร์ในทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ในระยะยาวผมคงอดห่วงตรงนี้ไม่ได้เหมือนกัน
(ป้ายประกาศขายที่ดิน)
ในที่สุดก็ถึงงานวันแต่งที่เราตั้งใจมากัน คืนนี้ผมต้องไปนอนที่บึงอ็อมเปิลเพื่อจะได้ทันร่วมพิธีตอนเช้า และเท่าที่สังเกตนั้นพิธีแต่งงานที่นี่ในวันนี้ยังคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม แต่รายละเอียดต่าง ๆ ได้ถูกลดขั้นตอนลงไปมาก อย่างนักร้องที่เคยร้องสดก็จะมีสลับกับการเปิดแผ่นบ้างแล้ว การแสดงประกอบพิธีจะมีเป็นบางช่วง ไม่ได้เล่นกันตลอดวันเหมือนก่อน จะเน้นแค่ช่วงเช้า เที่ยง และกลางคืนมากกว่า (บางแห่งแทบไม่มีการแสดงแล้วด้วย) แต่บ่าวสาว เพื่อนบ่าวสาว และชุดแต่งงานหลากหลายชุดนั้นยังคงมีอยู่เช่นเดิม
เท่าที่สังเกตงานแต่งยุคนี้จะเน้นไปทางโต๊ะจีน หรือเน้นการกินเลี้ยงและเต้นรำอย่างที่บอกในตอนต้นเสียมากกว่า และส่วนมากจะจัดงานกันแค่หนึ่งวันหนึ่งกับคืนเท่านั้น อาจเป็นเพราะวันนี้ฅนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้ว่างงานแบบเมื่อก่อนแล้ว ประเพณีบางส่วนจึงต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ถือว่าน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน
และเมื่อเสร็จจากร่วมงานแต่งแล้วผมก็กลับมาที่จ็อมการ์ละมุตอีกครั้ง อย่างที่เคยบอกว่าวันนี้เราจะเห็นรถราได้เยอะขึ้น แต่การใช้งานส่วนใหญ่นั้นยังคงเป็นการใช้งานจริง ต่างจากบ้านเราที่บางครั้งวัยรุ่นมีมอเตอร์ไซค์แค่เอาไว้แว้น ซึ่งที่นี่นั้นนอกจากเป็นการใช้งานจริงอย่างที่ว่าแล้ว ยังเป็นการใช้งานที่เรียกว่าเกินคุ้มอีกต่างหาก อย่างเรื่องรถโดยสารบรรทุกเกินอัตราที่กล่าวถึงในตอนต้นก็เช่นกัน และภาพแบบนี้จะเห็นได้ทั่วไป ทั้งภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น อย่างเช่นการใช้รถมอเตอร์ไซค์ลากตุ่มน้ำซีเมนต์ลูกใหญ่ ๆ วิ่งขายตามทาง ไม่ใช่แค่ลูกหรือสองลูกนะครับ แต่มันมีถึงห้าลูกเลยทีเดียวสำหรับตุ่มน้ำที่พวกเขาใช้มอเตอร์ไซค์ลากขายกันนั้น แม้จะทึ่งแต่ก็อดออกความเห็นกับเพื่อนไม่ได้ว่า
‘ก็คงวิ่งกันแต่ตามทางลาดยางนั่นแหละ ทางลูกรังคงไม่มีใครกล้าลากเข้าไปขายกันหรอก’
.
หลังเสร็จจากงานแต่งที่ว่านั่นแล้วเรายังไม่ได้กลับไทยกัน จึงพอมีเวลาที่จะหาเที่ยวเล่นได้อีก
“ไปบ้านตาเนือนกัน” เพื่อนชวนผมไปบ้านคู่เขยของเขา (ซึ่งตาเนือนที่ว่านี้อายุอ่อนกว่าเรานะครับ แต่เราเคยชินที่จะเรียกแบบนี้กันมากกว่า)
บ้านตาเนือนที่ว่านี้จะอยู่ที่สิงหา หรือ เซ็ยฮา (សីហា) ตามสำเนียงขแมร์ มันค่อนข้างห่างไกลความเจริญมากทีเดียว ถนนหนทางนั้นก็ต้องเรียกว่าลำบากกันสุด ๆ กับทางลูกรังที่มีหลุมบ่อตลอดสาย
และแทบไม่น่าเชื่อว่าระหว่างที่เรานั่งรถจักรยานยนต์เข้าไปกันนั้น จะมีมอเตอร์ไซค์ลากตุ่มน้ำวิ่งขายสวนออกมาด้วย แม้ตอนนี้ตุ่มน้ำที่ว่าจะมีเพียงสามลูกก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นนั่นแหละว่าพวกเขาไม่ได้สนใจอะไรกันเลยจริง ๆ ให้ตายเถอะ
(มอเตอร์ไซค์เร่ขายตุ่ม)
เมื่อไปถึงบ้านตาเนือนก็ดูท่าว่าเราจะต้องหนวกหูกันทั้งวันเสียแล้ว นั่นเพราะบ้านของเขาดันตั้งอยู่โคนเสาสัญญาณเครือข่ายมือถือพอดีนั่นสิ
การมาแขมร์หนนี้เสาสัญญาณโทรศัพท์ดูจะเป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไป แม้ว่าไฟฟ้าจะยังคงเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีไม่ทั่วถึงก็ตาม พื้นที่ไหนยังไม่มีไฟฟ้าพวกเขาจะใช้เครื่องปั่นไฟตั้งไว้โคนเสา แล้วจ้างฅนเฝ้า และบ้านตาเนือนที่ว่านี้นอกจากจะให้เช่าพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณแล้ว ยังรับหน้าที่เฝ้าเสาต้นนั้นด้วยเช่นกัน วันนี้เราก็เลยต้องหนวกหูกับเสียงเครื่องปั่นไฟกันไปตลอดเวลาอย่างที่บอก
มีการทำขนมต้อนรับการมาของเรา หรือทำขนมกินวันพร้อมหน้าญาติมิตรนั่นแหละ ขนมเบื้องญวน หรือที่เราเรียกกันว่า บัญแชว ซึ่งตามวิกิพีเดีย เรียก บั๊ญแส่ว (bánh xèo) นั้นดูจะได้รับความนิยมในการทำเลี้ยงแขกอยู่ทีเดียว เราจึงได้กินขนมเบื้องญวนกันในวันนี้
ที่เซ็ยฮานี่ดูจะแห้งแล้งและกันดารมาก รถวิ่งขายน้ำจึงเห็นได้ทั่วไป บ้านตาเนือนที่ว่านี้ก็ต้องซื้อน้ำขุ่น ๆ มาไว้ใช้เช่นกัน
“ไปตลาดกันไหม” เพื่อนเอ่ยชวนเมื่อเรากินขนมอิ่มหมีพีมันกันแล้ว ผมอดสนใจไม่ได้ เพราะที่นี่นั้นนอกจากจะลึกลับห่างไกลแล้วยังกันดารสุด ๆ อย่างที่บอก บ้านเรือนก็ดูจะบางตากว่าที่อื่น แล้วจะมามีตลาดอะไรกัน ไปสิครับจะรอช้าทำไมล่ะ ตลาดท่ามกลางพื้นที่แบบนี้น่าสนใจอยู่แล้ว
ตอนหลังผมจึงได้ทราบว่าเมืองแขมร์นั้นตลาดมีได้ทุกแห่งหน เพราะการที่พวกเขาชอบอยู่รวมกันเป็นชุมชน บวกกับการคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวกสบายนั่นแหละ จึงทำให้ถึงจะกันดารห่างไกลแค่ไหน หากมีชุมชนก็จะมีตลาด ซึ่งจะเล็กหรือใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชนอีกที
ตลาดสิงหาหรือเซ็ยฮานี้เป็นตลาดที่เล็กมาก (แต่ก็เป็นตลาดอยู่ดี) บริเวณหน้าตลาดมีร้านซ่อมและขายพวกอุปกรณ์เครื่องยนต์ ร้านค้าในตลาดซึ่งมีอยู่ไม่กี่ร้านนั้นจะขายอาหารพวกของสดของแห้ง ซึ่งเท่าที่เห็นจะมีไม่กี่ชนิด ลูกสาวตาเนือนก็ขายของอยู่ในตลาดนี้เช่นกัน
หลังจากทักทายกันแล้วเราก็มาหานั่งกินกาแฟที่ดูจะมีอยู่ร้านเดียวตรงหลังตลาด (ความจริงมันขายก๋วยเตี๋ยวมากกว่าด้วย) และด้วยความที่ไม่ค่อยมีฅนไทยได้มาที่นี่กันสักเท่าไรนัก เราจึงดูแปลกในสายตาของบรรดาเด็กในตลาด ที่ต่างพาพวกมารุมล้อมเมื่อได้ยินเราคุยกันเป็นภาษาไทย บางฅนพูดตาม ล้อเลียนแล้วพากันขำ เจ้าของร้านเห็นแบบนั้นจึงออกมาไล่ เราอยากบอกว่าไม่ได้ถือสาอะไรเลย ชอบด้วยที่ได้เห็นพวกเขาแสดงท่าทางไร้เดียงสาออกมากัน แต่ยังคงไม่ถนัดสื่อสารในรายละเอียดอยู่ดี แม้จะแสดงท่าทางว่าไม่เป็นไรแต่แม่ค้าคงไม่เข้าใจ เด็ก ๆ จึงถูกไล่ออกไปกันหมด
เราสั่งกาแฟเย็นซึ่งดูว่าจะลำบากสำหรับเขา เพราะที่นี่น้ำแข็งนอกจากจะหายากแล้วมันยังไม่ได้มีไว้ใส่กาแฟอีกด้วย กาแฟเย็นของเราราคาสิบห้าบาท เป็นกาแฟที่ชงแบบไม่เติมนม ใส่มาในแก้วน้ำซึ่งใบเล็กกว่าแก้วกาแฟเย็นบ้านเรา มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ใส่มาแถมมีน้ำตาลนอนอยู่ก้นแก้วอีกต่างหาก ก็ถือว่าแพงทีเดียวเมื่อเทียบกับข้าวต้มญวนราคาสิบบาทในตอนนั้น
ซึ่งการที่กาแฟแก้วนี้มีราคาแพงกว่าข้าวต้มนั่นก็เป็นเพราะว่า เราดันเป็นฅนไทยชุดแรกที่มานั่งกินกาแฟร้านนี้นั่นสิครับ.
ตอนหน้าพบกับไอ้ก๊อบในแบบตัวจริงเสียงจริงไม่อิงนิยายกันครับ
อนุสาวรีย์บันทึก ผมกับแขมร์ (ตอนที่๑๗)
โดย : ละเว้
บทที่๑๗ ตลาดเซ็ยฮา
การมาแขมร์หนนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วอดหวั่นใจไม่ได้ก็คือ ป้ายขายที่ดินซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่เป็นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ติดตามต้นไม้ ซึ่งแบบนี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้ตามทางซอยเล็กซอยน้อย แต่หากเป็นทางสายหลัก หรือทางลาดยางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดแล้ว จะเป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่โตกันเลยทีเดียว อันน่าจะมาจากนโยบายอนุญาตให้ต่างชาติมีสิทธิ์เช่าที่ดินทำการเกษตรในระยะยาวได้นั่นเอง ผลกระทบซึ่งเห็นได้ชัดคือ ฅนแขมร์ในทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่ในระยะยาวผมคงอดห่วงตรงนี้ไม่ได้เหมือนกัน
(ป้ายประกาศขายที่ดิน)
ในที่สุดก็ถึงงานวันแต่งที่เราตั้งใจมากัน คืนนี้ผมต้องไปนอนที่บึงอ็อมเปิลเพื่อจะได้ทันร่วมพิธีตอนเช้า และเท่าที่สังเกตนั้นพิธีแต่งงานที่นี่ในวันนี้ยังคงยิ่งใหญ่เหมือนเดิม แต่รายละเอียดต่าง ๆ ได้ถูกลดขั้นตอนลงไปมาก อย่างนักร้องที่เคยร้องสดก็จะมีสลับกับการเปิดแผ่นบ้างแล้ว การแสดงประกอบพิธีจะมีเป็นบางช่วง ไม่ได้เล่นกันตลอดวันเหมือนก่อน จะเน้นแค่ช่วงเช้า เที่ยง และกลางคืนมากกว่า (บางแห่งแทบไม่มีการแสดงแล้วด้วย) แต่บ่าวสาว เพื่อนบ่าวสาว และชุดแต่งงานหลากหลายชุดนั้นยังคงมีอยู่เช่นเดิม
เท่าที่สังเกตงานแต่งยุคนี้จะเน้นไปทางโต๊ะจีน หรือเน้นการกินเลี้ยงและเต้นรำอย่างที่บอกในตอนต้นเสียมากกว่า และส่วนมากจะจัดงานกันแค่หนึ่งวันหนึ่งกับคืนเท่านั้น อาจเป็นเพราะวันนี้ฅนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้ว่างงานแบบเมื่อก่อนแล้ว ประเพณีบางส่วนจึงต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ถือว่าน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน
และเมื่อเสร็จจากร่วมงานแต่งแล้วผมก็กลับมาที่จ็อมการ์ละมุตอีกครั้ง อย่างที่เคยบอกว่าวันนี้เราจะเห็นรถราได้เยอะขึ้น แต่การใช้งานส่วนใหญ่นั้นยังคงเป็นการใช้งานจริง ต่างจากบ้านเราที่บางครั้งวัยรุ่นมีมอเตอร์ไซค์แค่เอาไว้แว้น ซึ่งที่นี่นั้นนอกจากเป็นการใช้งานจริงอย่างที่ว่าแล้ว ยังเป็นการใช้งานที่เรียกว่าเกินคุ้มอีกต่างหาก อย่างเรื่องรถโดยสารบรรทุกเกินอัตราที่กล่าวถึงในตอนต้นก็เช่นกัน และภาพแบบนี้จะเห็นได้ทั่วไป ทั้งภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น อย่างเช่นการใช้รถมอเตอร์ไซค์ลากตุ่มน้ำซีเมนต์ลูกใหญ่ ๆ วิ่งขายตามทาง ไม่ใช่แค่ลูกหรือสองลูกนะครับ แต่มันมีถึงห้าลูกเลยทีเดียวสำหรับตุ่มน้ำที่พวกเขาใช้มอเตอร์ไซค์ลากขายกันนั้น แม้จะทึ่งแต่ก็อดออกความเห็นกับเพื่อนไม่ได้ว่า
‘ก็คงวิ่งกันแต่ตามทางลาดยางนั่นแหละ ทางลูกรังคงไม่มีใครกล้าลากเข้าไปขายกันหรอก’
.
หลังเสร็จจากงานแต่งที่ว่านั่นแล้วเรายังไม่ได้กลับไทยกัน จึงพอมีเวลาที่จะหาเที่ยวเล่นได้อีก
“ไปบ้านตาเนือนกัน” เพื่อนชวนผมไปบ้านคู่เขยของเขา (ซึ่งตาเนือนที่ว่านี้อายุอ่อนกว่าเรานะครับ แต่เราเคยชินที่จะเรียกแบบนี้กันมากกว่า)
บ้านตาเนือนที่ว่านี้จะอยู่ที่สิงหา หรือ เซ็ยฮา (សីហា) ตามสำเนียงขแมร์ มันค่อนข้างห่างไกลความเจริญมากทีเดียว ถนนหนทางนั้นก็ต้องเรียกว่าลำบากกันสุด ๆ กับทางลูกรังที่มีหลุมบ่อตลอดสาย
และแทบไม่น่าเชื่อว่าระหว่างที่เรานั่งรถจักรยานยนต์เข้าไปกันนั้น จะมีมอเตอร์ไซค์ลากตุ่มน้ำวิ่งขายสวนออกมาด้วย แม้ตอนนี้ตุ่มน้ำที่ว่าจะมีเพียงสามลูกก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นนั่นแหละว่าพวกเขาไม่ได้สนใจอะไรกันเลยจริง ๆ ให้ตายเถอะ
(มอเตอร์ไซค์เร่ขายตุ่ม)
เมื่อไปถึงบ้านตาเนือนก็ดูท่าว่าเราจะต้องหนวกหูกันทั้งวันเสียแล้ว นั่นเพราะบ้านของเขาดันตั้งอยู่โคนเสาสัญญาณเครือข่ายมือถือพอดีนั่นสิ
การมาแขมร์หนนี้เสาสัญญาณโทรศัพท์ดูจะเป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไป แม้ว่าไฟฟ้าจะยังคงเป็นสาธารณูปโภคซึ่งมีไม่ทั่วถึงก็ตาม พื้นที่ไหนยังไม่มีไฟฟ้าพวกเขาจะใช้เครื่องปั่นไฟตั้งไว้โคนเสา แล้วจ้างฅนเฝ้า และบ้านตาเนือนที่ว่านี้นอกจากจะให้เช่าพื้นที่ตั้งเสาสัญญาณแล้ว ยังรับหน้าที่เฝ้าเสาต้นนั้นด้วยเช่นกัน วันนี้เราก็เลยต้องหนวกหูกับเสียงเครื่องปั่นไฟกันไปตลอดเวลาอย่างที่บอก
มีการทำขนมต้อนรับการมาของเรา หรือทำขนมกินวันพร้อมหน้าญาติมิตรนั่นแหละ ขนมเบื้องญวน หรือที่เราเรียกกันว่า บัญแชว ซึ่งตามวิกิพีเดีย เรียก บั๊ญแส่ว (bánh xèo) นั้นดูจะได้รับความนิยมในการทำเลี้ยงแขกอยู่ทีเดียว เราจึงได้กินขนมเบื้องญวนกันในวันนี้
ที่เซ็ยฮานี่ดูจะแห้งแล้งและกันดารมาก รถวิ่งขายน้ำจึงเห็นได้ทั่วไป บ้านตาเนือนที่ว่านี้ก็ต้องซื้อน้ำขุ่น ๆ มาไว้ใช้เช่นกัน
“ไปตลาดกันไหม” เพื่อนเอ่ยชวนเมื่อเรากินขนมอิ่มหมีพีมันกันแล้ว ผมอดสนใจไม่ได้ เพราะที่นี่นั้นนอกจากจะลึกลับห่างไกลแล้วยังกันดารสุด ๆ อย่างที่บอก บ้านเรือนก็ดูจะบางตากว่าที่อื่น แล้วจะมามีตลาดอะไรกัน ไปสิครับจะรอช้าทำไมล่ะ ตลาดท่ามกลางพื้นที่แบบนี้น่าสนใจอยู่แล้ว
ตอนหลังผมจึงได้ทราบว่าเมืองแขมร์นั้นตลาดมีได้ทุกแห่งหน เพราะการที่พวกเขาชอบอยู่รวมกันเป็นชุมชน บวกกับการคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวกสบายนั่นแหละ จึงทำให้ถึงจะกันดารห่างไกลแค่ไหน หากมีชุมชนก็จะมีตลาด ซึ่งจะเล็กหรือใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชนอีกที
ตลาดสิงหาหรือเซ็ยฮานี้เป็นตลาดที่เล็กมาก (แต่ก็เป็นตลาดอยู่ดี) บริเวณหน้าตลาดมีร้านซ่อมและขายพวกอุปกรณ์เครื่องยนต์ ร้านค้าในตลาดซึ่งมีอยู่ไม่กี่ร้านนั้นจะขายอาหารพวกของสดของแห้ง ซึ่งเท่าที่เห็นจะมีไม่กี่ชนิด ลูกสาวตาเนือนก็ขายของอยู่ในตลาดนี้เช่นกัน
หลังจากทักทายกันแล้วเราก็มาหานั่งกินกาแฟที่ดูจะมีอยู่ร้านเดียวตรงหลังตลาด (ความจริงมันขายก๋วยเตี๋ยวมากกว่าด้วย) และด้วยความที่ไม่ค่อยมีฅนไทยได้มาที่นี่กันสักเท่าไรนัก เราจึงดูแปลกในสายตาของบรรดาเด็กในตลาด ที่ต่างพาพวกมารุมล้อมเมื่อได้ยินเราคุยกันเป็นภาษาไทย บางฅนพูดตาม ล้อเลียนแล้วพากันขำ เจ้าของร้านเห็นแบบนั้นจึงออกมาไล่ เราอยากบอกว่าไม่ได้ถือสาอะไรเลย ชอบด้วยที่ได้เห็นพวกเขาแสดงท่าทางไร้เดียงสาออกมากัน แต่ยังคงไม่ถนัดสื่อสารในรายละเอียดอยู่ดี แม้จะแสดงท่าทางว่าไม่เป็นไรแต่แม่ค้าคงไม่เข้าใจ เด็ก ๆ จึงถูกไล่ออกไปกันหมด
เราสั่งกาแฟเย็นซึ่งดูว่าจะลำบากสำหรับเขา เพราะที่นี่น้ำแข็งนอกจากจะหายากแล้วมันยังไม่ได้มีไว้ใส่กาแฟอีกด้วย กาแฟเย็นของเราราคาสิบห้าบาท เป็นกาแฟที่ชงแบบไม่เติมนม ใส่มาในแก้วน้ำซึ่งใบเล็กกว่าแก้วกาแฟเย็นบ้านเรา มีน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ใส่มาแถมมีน้ำตาลนอนอยู่ก้นแก้วอีกต่างหาก ก็ถือว่าแพงทีเดียวเมื่อเทียบกับข้าวต้มญวนราคาสิบบาทในตอนนั้น
ซึ่งการที่กาแฟแก้วนี้มีราคาแพงกว่าข้าวต้มนั่นก็เป็นเพราะว่า เราดันเป็นฅนไทยชุดแรกที่มานั่งกินกาแฟร้านนี้นั่นสิครับ.
ตอนหน้าพบกับไอ้ก๊อบในแบบตัวจริงเสียงจริงไม่อิงนิยายกันครับ