เนื้อหมู กำลังสร้างปัญหา ให้กับ เศรษฐกิจจีน /โดย ลงทุนแมน
เนื้อหมูเป็นอาหารสำคัญของคนจีน โดยเฉพาะในวันตรุษจีน เนื้อหมูกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้
แต่รู้ไหมว่า เนื้อหมูนี้เอง กลับกำลังสร้างปัญหา จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่ำ และเศรษฐกิจจีนเติบโตช้าในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
ทำไมเนื้อหมู กำลังสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจจีน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกว่าหนึ่งในอารยธรรมแรก ๆ ของโลก ที่รู้จักการเลี้ยงหมู ก็คือ ประเทศจีน
โดยหมู มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และเลี้ยงง่าย เพราะเป็นสัตว์ที่กินได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ พืชผลทางการเกษตร หรือแม้แต่สิ่งปฏิกูล
แถมยังให้ลูกดก สร้างเนื้อและไขมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน และสารอาหารที่สำคัญของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งตัวเนื้อหมูเอง ก็มีรสชาติอร่อยไม่แพ้สัตว์ใหญ่ชนิดอื่น ๆ
ทำให้แทบจะทุกครัวเรือนของจีนในยุคโบราณนั้น มีการเลี้ยงหมูติดบ้านไว้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำคัญ
นอกจากนี้ หมู ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง สมบูรณ์ และโชคดี จึงได้กลายเป็นของที่ใช้ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ
ทั้งหมดนี้เอง ทำให้เนื้อหมู ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอาหารของชาวจีนอย่างเหนียวแน่น และครองตำแหน่งเนื้อสัตว์ที่ชาวจีนบริโภคมากที่สุดมาหลายพันปี
และถ้าถามว่าคนจีน รักการบริโภคเนื้อหมูมากแค่ไหน ?
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผลผลิตเนื้อหมู อยู่ที่ประมาณ 115 ล้านตัน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคที่เกิดขึ้นนั้น ก็อยู่ที่ประเทศจีนนี่เอง
และหากมองลึกย่อยลงไปอีกก็จะพบว่า เนื้อสัตว์ที่คนจีนบริโภคมากที่สุด ก็คือ เนื้อหมู คิดเป็นถึงราว 65% ของเนื้อสัตว์ที่บริโภคทั้งหมด
โดยผู้คนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่มีฐานะทางการเงินเฉลี่ยดีกว่านั้น บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยสูงถึง 61 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่คนจีนในแผ่นดินใหญ่นั้น บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ปัจจุบัน ประชากรจีนมีอยู่ประมาณ 1.4 พันล้านคน คิดเป็นการบริโภคถึงราว ๆ 52 ล้านตันต่อปี และยังมีจำนวนประชากรหมูในประเทศถึงราว 450 ล้านตัว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ก็คงพอเข้าใจแล้วว่า คนจีนรักการบริโภคเนื้อหมูขนาดไหน และเศรษฐกิจเรื่องหมู ๆ ในจีนนั้นใหญ่มากแค่ไหน
ที่น่าสนใจคือ อัตราเงินเฟ้อจีน คำนวณจากราคาอาหารเฉลี่ยในประเทศ 20% ซึ่งราคาอาหารเฉลี่ยตรงนี้ คิดมาจากเนื้อหมูถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว..
ซึ่งในช่วงปี 2564 ราคาเนื้อหมูในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 28%
หรือพูดง่าย ๆ คือ คนจีนต้องกินหมูแพงขึ้น 28 บาท จากปกติที่ต้องกินหมูในราคา 100 บาท
ทำให้รัฐบาลจีน ต้องรีบเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ ด้วยการออกข้อบังคับให้ผู้ผลิตเนื้อหมูนั้น ยังคงกำลังการผลิตให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยห้ามไม่ให้มีการฉวยโอกาสปั่นราคาเนื้อหมูภายในประเทศ
และไม่ใช่แทรกแซงครั้งเดียว แต่รัฐบาลจีนยังแทรกแซงราคาเนื้อหมูในประเทศถึง 3 ครั้ง เพื่อให้ราคาเนื้อหมูและเงินเฟ้อในประเทศยังคงต่ำเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงราคาเนื้อหมูภายในประเทศ
ทำให้เศรษฐกิจจีน ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด..
เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้มีเนื้อหมูออกมาสู่ตลาดมากเกินไป จนกลายเป็นสินค้าล้นตลาด
ในขณะที่คนจีน แม้จะยังนิยมกินเนื้อหมูอยู่ แต่ต้องบอกว่า ตอนนี้พวกเขาไม่ได้กินเนื้อหมูเยอะเหมือนเมื่อก่อน เพราะเริ่มหันไปกินธัญพืช และเนื้อชนิดอื่นแทน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คนจีนกินเนื้อหมูน้อยลงถึง 1 ล้านตัน
เมื่อหมูล้นตลาดมากเกินไป ราคาเนื้อหมูจึงตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจฟาร์มหมู ที่เริ่มมีกำไรลดลง และขาดทุนมากขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา
สุดท้ายแล้ว ความตั้งใจของรัฐบาลจีน ที่ต้องการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงในประเทศ กลับสร้างปัญหาใหม่ให้กับเศรษฐกิจจีนขึ้นมาแทน
ตั้งแต่ธุรกิจฟาร์มหมู ที่ไม่สามารถขึ้นราคาได้ จนขาดทุนหลายราย ไปจนถึงเนื้อหมูล้นตลาด จากการที่คนจีนบริโภคกันน้อยลง
พอเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจจีน จึงมีเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป ถึงขั้นติดลบ 0.3% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากราคาเนื้อหมู ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ นั่นเอง
และหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่เทียบกับปีก่อนหน้า
- สหรัฐอเมริกา 3.3%
- ญี่ปุ่น 2.6%
- จีน -0.3%
เห็นได้ว่า จีนกำลังมีเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นเสียอีก
ซึ่งเงินเฟ้อติดลบ หรือที่เรียกว่า เงินฝืด
ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง โดยผู้บริโภคอาจชะลอการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากคาดหวังว่าราคาอาจถูกลงอีกในอนาคต
ส่วนภาคเอกชน ก็จะชะลอการลงทุนออกไป เพราะไม่มั่นใจในการลงทุนระยะยาว ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่
ไปจนถึงอาจทำให้ ธุรกิจขาดทุน หากราคาสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ต้นทุนการผลิตยังคงเท่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับการจ้างงานภายในประเทศด้วย..
เรื่องนี้กลับกลายเป็นว่า แม้จะเป็นเรื่องหมู ๆ แต่กลับไม่หมูกับเศรษฐกิจจีน ที่กำลังเจอปัญหาเสียแล้ว..
เนื้อหมู กำลังสร้างปัญหา ให้กับ เศรษฐกิจจีน
เนื้อหมูเป็นอาหารสำคัญของคนจีน โดยเฉพาะในวันตรุษจีน เนื้อหมูกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้
แต่รู้ไหมว่า เนื้อหมูนี้เอง กลับกำลังสร้างปัญหา จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่ำ และเศรษฐกิจจีนเติบโตช้าในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
ทำไมเนื้อหมู กำลังสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจจีน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ต้องบอกว่าหนึ่งในอารยธรรมแรก ๆ ของโลก ที่รู้จักการเลี้ยงหมู ก็คือ ประเทศจีน
โดยหมู มีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และเลี้ยงง่าย เพราะเป็นสัตว์ที่กินได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ พืชผลทางการเกษตร หรือแม้แต่สิ่งปฏิกูล
แถมยังให้ลูกดก สร้างเนื้อและไขมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน และสารอาหารที่สำคัญของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งตัวเนื้อหมูเอง ก็มีรสชาติอร่อยไม่แพ้สัตว์ใหญ่ชนิดอื่น ๆ
ทำให้แทบจะทุกครัวเรือนของจีนในยุคโบราณนั้น มีการเลี้ยงหมูติดบ้านไว้ เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำคัญ
นอกจากนี้ หมู ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง สมบูรณ์ และโชคดี จึงได้กลายเป็นของที่ใช้ในพิธีการสำคัญต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ
ทั้งหมดนี้เอง ทำให้เนื้อหมู ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอาหารของชาวจีนอย่างเหนียวแน่น และครองตำแหน่งเนื้อสัตว์ที่ชาวจีนบริโภคมากที่สุดมาหลายพันปี
และถ้าถามว่าคนจีน รักการบริโภคเนื้อหมูมากแค่ไหน ?
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผลผลิตเนื้อหมู อยู่ที่ประมาณ 115 ล้านตัน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคที่เกิดขึ้นนั้น ก็อยู่ที่ประเทศจีนนี่เอง
และหากมองลึกย่อยลงไปอีกก็จะพบว่า เนื้อสัตว์ที่คนจีนบริโภคมากที่สุด ก็คือ เนื้อหมู คิดเป็นถึงราว 65% ของเนื้อสัตว์ที่บริโภคทั้งหมด
โดยผู้คนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่มีฐานะทางการเงินเฉลี่ยดีกว่านั้น บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยสูงถึง 61 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่คนจีนในแผ่นดินใหญ่นั้น บริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ปัจจุบัน ประชากรจีนมีอยู่ประมาณ 1.4 พันล้านคน คิดเป็นการบริโภคถึงราว ๆ 52 ล้านตันต่อปี และยังมีจำนวนประชากรหมูในประเทศถึงราว 450 ล้านตัว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ก็คงพอเข้าใจแล้วว่า คนจีนรักการบริโภคเนื้อหมูขนาดไหน และเศรษฐกิจเรื่องหมู ๆ ในจีนนั้นใหญ่มากแค่ไหน
ที่น่าสนใจคือ อัตราเงินเฟ้อจีน คำนวณจากราคาอาหารเฉลี่ยในประเทศ 20% ซึ่งราคาอาหารเฉลี่ยตรงนี้ คิดมาจากเนื้อหมูถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว..
ซึ่งในช่วงปี 2564 ราคาเนื้อหมูในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น 28%
หรือพูดง่าย ๆ คือ คนจีนต้องกินหมูแพงขึ้น 28 บาท จากปกติที่ต้องกินหมูในราคา 100 บาท
ทำให้รัฐบาลจีน ต้องรีบเข้ามาควบคุมเรื่องนี้ ด้วยการออกข้อบังคับให้ผู้ผลิตเนื้อหมูนั้น ยังคงกำลังการผลิตให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยห้ามไม่ให้มีการฉวยโอกาสปั่นราคาเนื้อหมูภายในประเทศ
และไม่ใช่แทรกแซงครั้งเดียว แต่รัฐบาลจีนยังแทรกแซงราคาเนื้อหมูในประเทศถึง 3 ครั้ง เพื่อให้ราคาเนื้อหมูและเงินเฟ้อในประเทศยังคงต่ำเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงราคาเนื้อหมูภายในประเทศ
ทำให้เศรษฐกิจจีน ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด..
เพราะปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้มีเนื้อหมูออกมาสู่ตลาดมากเกินไป จนกลายเป็นสินค้าล้นตลาด
ในขณะที่คนจีน แม้จะยังนิยมกินเนื้อหมูอยู่ แต่ต้องบอกว่า ตอนนี้พวกเขาไม่ได้กินเนื้อหมูเยอะเหมือนเมื่อก่อน เพราะเริ่มหันไปกินธัญพืช และเนื้อชนิดอื่นแทน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คนจีนกินเนื้อหมูน้อยลงถึง 1 ล้านตัน
เมื่อหมูล้นตลาดมากเกินไป ราคาเนื้อหมูจึงตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อธุรกิจฟาร์มหมู ที่เริ่มมีกำไรลดลง และขาดทุนมากขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา
สุดท้ายแล้ว ความตั้งใจของรัฐบาลจีน ที่ต้องการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงในประเทศ กลับสร้างปัญหาใหม่ให้กับเศรษฐกิจจีนขึ้นมาแทน
ตั้งแต่ธุรกิจฟาร์มหมู ที่ไม่สามารถขึ้นราคาได้ จนขาดทุนหลายราย ไปจนถึงเนื้อหมูล้นตลาด จากการที่คนจีนบริโภคกันน้อยลง
พอเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจจีน จึงมีเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป ถึงขั้นติดลบ 0.3% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากราคาเนื้อหมู ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ นั่นเอง
และหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่เทียบกับปีก่อนหน้า
- สหรัฐอเมริกา 3.3%
- ญี่ปุ่น 2.6%
- จีน -0.3%
เห็นได้ว่า จีนกำลังมีเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าญี่ปุ่นเสียอีก
ซึ่งเงินเฟ้อติดลบ หรือที่เรียกว่า เงินฝืด
ก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง โดยผู้บริโภคอาจชะลอการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากคาดหวังว่าราคาอาจถูกลงอีกในอนาคต
ส่วนภาคเอกชน ก็จะชะลอการลงทุนออกไป เพราะไม่มั่นใจในการลงทุนระยะยาว ว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่
ไปจนถึงอาจทำให้ ธุรกิจขาดทุน หากราคาสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ต้นทุนการผลิตยังคงเท่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับการจ้างงานภายในประเทศด้วย..
เรื่องนี้กลับกลายเป็นว่า แม้จะเป็นเรื่องหมู ๆ แต่กลับไม่หมูกับเศรษฐกิจจีน ที่กำลังเจอปัญหาเสียแล้ว..