อนุสาวรีย์บันทึก ผมกับแขมร์ (ตอนที่๘)

กระทู้สนทนา
อนุสาวรีย์บันทึก ผมกับแขมร์
โดยละเว้
บทที่๘ จากแปดเบ็ยถึงจ็อมการ์ละมุด

ชื่อหมู่บ้านแปดเบ็ยนั้นแปลว่า แปดสาม หรือแปดสิบสาม ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมู่บ้านนี้คงได้ชื่อตามพิกัดแผนที่ทางทหารนั่นแหละครับ แปดเบ็ยเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดเล็กมาก และมองออกว่าเพิ่งได้รับการบุกเบิกเมื่อไม่นานมานี้เอง มีวัดที่เพิ่งสร้างใหม่ บ้านเรือนปลูกเป็นกลุ่มข้างทางน่าจะมีประมาณห้าสิบหลัง บวกลบกว่านี้คงไม่เท่าไร และจะว่าไปผู้ฅนที่นี่นั้นเรียกได้ว่าเป็นฅนชาติพันธุ์เดียวกับผมเลย ชาติพันธุ์ที่ว่าก็คือ ‘ชอง’

ชองคือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-กัมปุเจีย (รายละเอียดมากกว่านี้ถามอากู๋ กูเกิลนะครับ)

.
ผู้ฅนที่นี่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดีนับแต่เริ่มเข้าหมู่บ้านมา ต่างตะโกนไต่ถามพูดคุยเมื่อคณะของเราเดินผ่าน เนื่องจากส่วนใหญ่รู้จักน้าพรฅนนำทางของเราดี รวมถึงแม่ของเพื่อนผมด้วย ที่ดูจะรู้จักกับฅนที่นี่บ้างเช่นกัน และแปดเบ็ยคือที่พักของเราในคืนนี้

บ้านของผู้นำทางจิตวิญญาณของฅนในหมู่บ้านที่เรียกกันว่า สมุน หรือสมูน คือบ้านที่เราได้อาศัยพักแรมกัน ชาวบ้านหุงหาอาหารต้อนรับ บางฅนตั้งวงกินเหล้าเฮฮากัน ขณะที่ผมยังคงต้องฝืนกายสู้กับมาลาเรียตามลำพัง 

เมื่อกับข้าวกับปลาพร้อมผมก็รีบกินเพื่อจะได้เข้านอน อาหารบ้านป่าก็จะตามมีตามเกิด กุนเชียงทอด ปลาร้า ปลาเค็ม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของฅนบ้านนี้ได้เป็นอย่างดี

ผมเอาสับปะรดก้นกระสอบให้เขาด้วยเช่นกัน แต่มันดูนุ่มนิ่มทีเดียวเมื่อนำออกมา พอปอกดูก็ได้เห็นว่าเนื้อมันฉ่ำเละไปหมดแล้ว แถมรสชาติยังขมปี๋ สภาพเหมือนใกล้เป็นไวน์ผลไม้แล้วนั่นแหละ เหตุเพราะมันถูกโยนถูกกระแทกมาตลอดทางนั่นเอง ใครจะมัวประคับประคองมันอยู่เล่า ในเวลาที่ทั้งเหนื่อยและหิวแบบนั้น ช่วงพักแต่ละทีผมแทบจะโยนกระสอบลงจากหลังเสียด้วยซ้ำ

เลยกลายเป็นว่าสับปะรดที่เอามานั้นเพียงแค่ให้กระสอบหนักขึ้นกันเท่านั้น ไม่คุ้มกับความลำบากลำบนเลยจริง ๆ มันถูกโยนทิ้งไปในที่สุด

.
เมื่อกินข้าวเสร็จผมกินพาราสองเม็ดแล้วรีบเข้านอน ไม่ได้สนใจใครหรืออะไรแล้วตอนนี้ เพราะมาลาเรียมันไม่ยอมให้ผมได้มีเวลากับสิ่งใด นอกจากหนาวสั่นส่งเสียงครางกันแทบทั้งคืน 

ไม่ทันถึงไหนก็ป่วยเสียแล้ว ระยะทางยังอีกไกล ระยะเวลายังเหลืออีกหลายวัน แถมยังเป็นต่างบ้านต่างเมืองกันดารหมอหยูกยาเสียด้วย เวลานี้ต่อให้อยากปีนเขากลับก็ยากแล้ว ผมคิดว้าวุ่นไปทั้งพยายามข่มตาหลับ แต่ก็จะหลับ ๆ ตื่น ๆ มาจากการที่ร่างกายต้องต่อสู้กับพิษไข้นั่นแหละครับ ใกล้สว่างผมจึงได้หลับสนิทจริง ๆ เสียที

รุ่งเช้าผมตื่นขึ้นมากับอาการที่ดีขึ้นมาก แทบไม่น่าเชื่อเลย แต่เชื่อเถอะ นี่แหละอาการของมัน มาลาเรีย ในที่สุดผมก็สามารถไปต่อได้ 
เราเดินทางกันแต่เช้าก่อนอาหาร ทหารที่ตั้งค่ายอยู่หน้าหมู่บ้านตะโกนทักทายเมื่อเราเดินผ่าน ฅนพูดภาษาได้ก็ตะโกนตอบกลับไป เราเดินกันอีกไกลทีเดียว กว่าจะถึงปากทางเข้าหมู่บ้านเพื่อรอรถโดยสารที่นั่นกัน

ระหว่างทางคืออะไรที่สวยงามแปลกตาได้อีกแล้ว รอบกายเราจะมีเพียงผืนหญ้าสีเขียวปูพรมทั่วทั้งทุ่งและเนินเขา มีไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ประปราย หญ้าที่ว่านี้จะมีลักษณะคล้ายไผ่ต้นเล็ก ๆ สูงไม่เกินเอว (เห็นตามร้านต้นไม้มีขายแบบใบด่างแต่ไม่ทราบชื่อ) มันเป็นทิวทัศน์ที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนเลยจริง ๆ อดนึกถึงฉากหนังจีนกำลังภายในเสียไม่ได้ แถมยังมีเสียงนกกระทาที่เพิ่งเคยได้ยินช่วยสร้างบรรยากาศได้อีก นกกระทาที่ว่านี้น่าจะฅนละชนิดกับบ้านเราเลี้ยงกินไข่นะครับ เพราะเสียงมันดังก้องป่าทีเดียว แต่จะฟังคล้ายเสียงไก่มากกว่า ‘ตั๊ก ตั๊ก ยิ้มตา’ ผมฟังว่ามันร้องแบบนั้นแหละ แฮ่ อย่าคิดมาก... (*มันโดนเซนเซอร์ เดากันเองนะครับ)
นึกอยากเห็นตัวมันเหมือนกันแต่คงได้ยินแค่เสียง

ขบวนของเราต้องนั่งคอยที่ปากทางกันนานพอดู น่าจะเกือบเที่ยงหรือบ่ายกว่ารถโดยสารจะมีมา ซึ่งรถโดยสารที่ว่านี้จะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่คล้ายจีเอ็มซีทหาร มีที่นั่งด้านข้างสองแถว ไม่มีหลังคา บนรถมีผู้โดยสารค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน ชาวบ้านที่นำพืชผักไปขายก็มีบ้าง เห็นได้จากผักกาดเขียวกอใหญ่ ๆ อยู่ในกระสอบซึ่งวางอยู่กับพื้นกลางรถ

สองข้างทางช่วงนี้เป็นป่าสลับกับพื้นที่สีดำโล่งเตียน ซึ่งก็คือผืนป่าที่ถูกแผ้วถางและจุดไฟเผานั่นเอง ยอมรับว่าอดใจหายไม่ได้ เมื่อเห็นขอนไม้ถูกเผาไปพร้อม ๆ กับพื้นที่ซึ่งกำลังจะกลายเป็นไร่ข้าวไร่ข้าวโพด แม้ผมจะเคยเข้าป่าโค่นไม้ก็จริง แต่ดูจะเทียบไม่ได้เลยกับการบุกเบิกที่ดินทำกินอย่างที่เห็นตรงหน้านี้ บางแห่งมีการใช้รถไถแบบเดินตามไถพลิกผืนดินกันก็มี

อีกสิ่งที่เห็นได้ตลอดสองข้างทางก็คือแก่นไม้ซึ่งถูกนำมาวางกองเพื่อรอขาย ขนาดพอเหมาะกับการทำเสารั้วก็จะถูกตัดท่อนขายเป็นเสา ท่อนใหญ่เกินไปจะถูกผ่าเพื่อขายเป็นไม้ฟืน และฟืนนั้นเขาจะขายกันเป็นลูกบาศก์เมตร หรือเป็นกิ๊ปเช่นกันกับไม้ตีปึกที่เคยกล่าวถึงนั่นแหละครับ

และอีกสิ่งซึ่งเห็นได้ตลอดสองข้างทางเช่นกันก็คือ เชือกฟางสีแดงที่ขึงกั้นเป็นเขตแดนพร้อมติดป้าย ‘ระวังระเบิด’ ที่สำคัญบางครั้งมันอยู่ตามไร่นารวมถึงข้างบ้านเรือนผู้ฅนกันเลยทีเดียว ช่วงสงครามเพิ่งจบก็แบบนี้แหละ ผมคิดในใจ 

และนอกจากเชือกกั้นที่ว่านั่นแล้ว เรายังเห็นป้ายเตือนระวังระเบิด ที่จะเป็นอักษรสีแดงเขียนบนแผ่นไม้ได้ตลอดทางเช่นกัน

ส่วนถนนที่รถพาเราโดยสารมานั้นต้องเรียกว่าวิบากเลยทีเดียว กับทางลูกรังที่จะมีหลุมบ่อหรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ตลอด ดีว่ารถซึ่งเรานั่งมานั้นจะค่อนข้างใหญ่จึงไม่มีปัญหาอะไร นอกจากหัวสั่นหัวคลอนกันมาตลอดทาง

.
เรามาออกทางลาดยางเมื่อถึงสามแยกที่ตอนนั้นเราจะเรียกกันว่าแยกไพลิน เพราะรู้ว่าหากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าสู่จังหวัดไพลิน หรือไปลิน (ប៉ៃលិន) ตามสำเนียงขแมร์ ผมมาทราบภายหลังว่าตรงนั้น คือพะเจียว ซึ่งจะเรียกสั้น ๆ ว่าเจียว (แปลว่าค้างคาว) บางครั้งก็เรียกแตรง (แปลว่าอะไรไม่รู้ แฮ่) การที่เรียกสองชื่อนี้น่าจะมาจากการเรียกตามชื่อหมู่บ้านกับตำบลหรืออะไรสักอย่างทับซ้อนกันอยู่ (ตรงนี้ข้อมูลยังไม่แน่ชัดนัก) แต่ผมถนัดจะเรียกแตรงมากกว่าเพราะมีวัดแตรงอยู่ตรงนั้นด้วย ซึ่งตอนที่เรามานี้ยังคงเป็นวัดร้างอยู่เลย อันเนื่องมาจากสงครามนั่นแหละ

สองข้างทางช่วงนี้จะเห็นต้นจามจุรีขนาดใหญ่ และต้นตะขบซึ่งมักมีเด็ก ๆ ปีนเก็บลูกกินกัน บ้านเรือนผู้ฅนหนาตาขึ้น โรงเรียนข้างทางมองออกได้จากเสาธง และป้ายตรงประตูทางเข้าที่ผมพอแกะอ่านได้บ้างแล้ว ข้างทางยังมีป้ายขนาดใหญ่เป็นภาพวาดเตือนภัยระวังระเบิดอยู่เป็นระยะ

.
และที่ว่าเส้นทางช่วงนี้คือทางลาดยางนั้นใช่ว่าจะได้นั่งสบายกันแล้วนะครับ เพราะที่จริงต้องบอกว่า มันเคยเป็นทางลาดยางเมื่อสมัยก่อนสงครามต่างหาก สภาพถนนตอนนี้ดูจะเป็นหลุมบ่อยิ่งกว่าทางลูกรังเสียอีก มีเพียงขอบหลุมที่ยังเหลือพื้นยางมะตอยให้เรารู้ว่า มันเคยเป็นทางลาดยางมาก่อน และเจ้าขอบที่ยังเหลืออยู่นี้ก็ทำให้เราได้นั่งหัวสั่นหัวคลอนกันยิ่งกว่าทางลูกรังกันเลย เล่นเอาท้องคัดท้องแข็งตามกันไปกว่าจะถึงตลาดสะเดา เราลงรถที่นั่นและขนข้าวของไปตามทางข้างตลาด ไม่นานนักก็ถึงจุดหมาย บ้านจ็อมการ์ละมุตแห่งบัตด็อมบอง ซึ่งที่นี่จะมีอะไรให้ได้นำมาเล่าสู่กันฟังนั้น โปรดติดตามตอนต่อไปครับ.


ฟืน เขื้อเพลิงที่ยังคงมีขายแม้ในปัจจุบัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่