บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ หลัง GDP โตต่ำกว่าคาด

เหตุการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

วันที่ 24 มกราคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 35.74/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ระดับ 35.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องและเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนในตลาดเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาด นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้เมื่อวาน (23/1) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการเผยแพร่เอกสารการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 2566 ว่าจะเติบโตถึง 3.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ ในส่วนของ GDP ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) จากแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวสูง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 19.5% ต่อปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซีย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.65-35.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/1) ที่ระดับ 1.0855/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ระดับ 1.0886/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0844-1.0880 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0880/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 148.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/1) ที่ 147.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultra-loose monetary policy) โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหาร สำหรับปีงบประมาณ 2567 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ระดับ 2.8% แต่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มดัชนี Core CPI สำหรับปีงบประมาณ 2568 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 1.7%

ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.44-145.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตจาก S&P (24/01), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐไตรมาส 4/66 (25/01), ดัชนีราคาใช้จ่ายส่วนบุคคลของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือน ธ.ค. (25/01), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีจากสถาบัน GfK เดือน ก.พ. (26/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.7/-8.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.2/-3.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่