JJNY : พริษฐ์ย้ำส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง│“อนุดิษฐ์”ห่วงขังนอกคุกติดหล่มดรามา│เงินบาทผันผวน│แฉอิหร่านช่วย“ฮูตี”วางแผน

พริษฐ์ ย้ำ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง100% แนะวิธีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4344371
 
 
พริษฐ์ ย้ำรัฐธรรมนูญใหม่ควรถูกร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยืนยันสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้มีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญ - ผู้มีประสบการณ์ - กลุ่มความหลากหลายได้ โดยทุกคนยังมาจากการเลือกตั้ง 100%

วันที่ 23 ธันวาคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu แสดงความเห็นกรณี นายนิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ของรัฐบาล ระบุมีข้อเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมด 100 คน แบ่งเป็น 77 คนมาจากการเลือกตั้ง (จังหวัดละ 1 คน) และ 23 คนที่คัดเลือกโดยรัฐสภา จากกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ กลุ่มความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้เป็น ส.ส.ร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
 
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรถูกร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะทำให้กระบวนการมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด รวมถึงเปิดกว้างมากที่สุดต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม
 
เราเห็นต่างกันได้ว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แต่ตนคิดว่าต้องตั้งหลักกันให้ชัด ว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง “การมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด” กับ “การมี ส.ส.ร. ที่มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย” เพราะเราสามารถมีทั้งสองอย่างได้ (หากเราต้องการ) ผ่านการออกแบบระบบเลือกตั้ง
 
ถึงแม้เรายอมเดินหน้าตามสมมุติฐานว่าเราต้อง “รับประกัน” พื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย ใน ส.ส.ร. (ทั้งที่ความจริงสมมุติฐานนี้ยังมีคนที่มีความเห็นที่แตกต่าง เช่น บางคนมองว่าผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน ส.ส.ร. แต่ให้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการยกร่าง / บางคนมองว่ากลุ่มดังกล่าวก็ควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านกระบวนการเดียวกับคนทั่วไป) เราสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยยังคงหลักการว่า ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
 
กรอบคิดสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความเป็นไปได้คือการมองว่า ส.ส.ร. ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ร. ประเภทเดียว แต่อาจประกอบไปด้วย ส.ส.ร. ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภทที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง (คล้ายกับ ส.ส. ที่ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั้นคือ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)
โดยทางเลือกหนึ่งคือการแบ่ง ส.ส.ร. ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท ก. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนพื้นที่, ประเภท ข. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ (เช่น นักวิชาการด้านกฎหมาย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์การเมืองในระบบ ผู้มีประสบการณ์การเมืองภาคประชาชน) และ ประเภท ค. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย (เช่น เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ)
 
โดย ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภทนั้นมาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด โดยใช้วิธีให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน มีบัตรเลือกตั้งทั้งหมด 3 ใบ ได้แก่:
– บัตรเลือกตั้ง ก. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนพื้นที่ โดยอาจใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
– บัตรเลือกตั้ง ข. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ที่สนใจเป็น ส.ส.ร. และผ่านคุณสมบัติที่กำหนด สมัครเข้ามา เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์เป็นตัวแทนของเขาในฐานะ ส.ส.ร. ประเภท ข.
– บัตรเลือกตั้ง ค. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเป็น สสร. ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย สมัครเข้ามาโดยระบุในกระบวนการสมัครและการรณรงค์หาเสียงว่าตนเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายกลุ่มใดหรือในมิติใด (โดยจะกำหนดหมวดหมู่ต่างๆ เป็นการเฉพาะหรือไม่ก็ได้) เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้สมัครคนใดเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ ในฐานะ ส.ส.ร. ประเภท ค.

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ เป็นเพียงระบบหรือวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามี ส.ส.ร. ที่มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลายได้ โดยที่ ส.ส.ร. ทุกคนยังคงมาจากการเลือกตั้ง 100% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายระบบหรือวิธีที่เป็นไปได้เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการภายใต้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน (ซึ่งเคยเชิญคุณนิกรและตัวแทน คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาล มาร่วมประชุมก่อนหน้านี้) ได้ศึกษา-จัดทำข้อเสนอ และกำลังเรียบเรียงเป็นรายงานเพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร-คณะรัฐมนตรี-ประชาชน พิจารณาอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคม
 
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าเรามีจุดยืนที่ต่างกันได้ว่า ส.ส.ร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งความจริง พรรคก้าวไกลเสนอให้เป็น 1 คำถามรองในการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจโดยตรง แต่โปรดอย่าใช้เหตุผลว่าเราต้องมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย ใน สสร. มาเป็นเหตุผลในการบอกว่าเราไม่ควรมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
 
เพราะหากเราออกแบบระบบเลือกตั้งกันอย่างรอบคอบ เราสามารถมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ที่ยังคงมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลายได้ (หากเราประสงค์ให้มี) โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

https://www.facebook.com/paritw/posts/897077225120397?ref=embed_post


  
“อนุดิษฐ์” ห่วงระเบียบขังนอกคุกติดหล่มดรามาการเมือง
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_657078/

“อนุดิษฐ์” ห่วงระเบียบขังนอกคุกติดหล่มดรามาการเมือง ทำผู้ต้องโทษที่เข้าเกณฑ์เสียสิทธิ์
 
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 ว่า อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นผู้ต้องขัง และรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจว่า เท่าที่ได้ติดตามและหาข้อมูลประกอบก็พบว่า ระเบียบราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 เป็นการออกระเบียบตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560
 
ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง อีกทั้งการกำหนดให้สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขัง ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยเป็นที่คุมขัง เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ลงวันที่ 25 ก.ย.63 ที่ออกและให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
 
ทั้งนี้ การควบคุมในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะถูกใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2550 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 และ 89/2 โดยให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่งให้ผู้ต้องขังไปคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำได้ กรมราชทัณฑ์ เพิ่งออกระเบียบเพื่อใช้หลักเกณฑ์นี้หลังจากที่ศาลใช้มาแล้วถึง 16 ปี ส่วนในต่างประเทศใช้มานานแล้ว และที่ตั้ง รองอธิบดี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพราะเป็นระเบียบของกรมซึ่งมี อธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
 
หากดูที่มาที่ไปของระเบียบราชทัณฑ์ รวมถึงตัวกฎหมายราชทัณฑ์ ปี 2560 ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลมากขึ้น ก็จะเห็นว่า กระบวนการทั้งหลายต้องถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ก็เกิดในช่วงรัฐบาล คสช. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะมาถึงรัฐบาลชุดนี้ด้วย
 
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 กำหนดให้มีสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังอันเป็นไปตามหลักทัณฑวิทยา เพราะการบริหารโทษผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด ลักษณะของความผิด และความรุนแรงของคดีจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังและทำให้การได้รับพระราชทานอภัยโทษมีประสิทธิภาพ ทำให้มีเฉพาะผู้ที่สมควรเท่านั้นที่จะได้รับการลดโทษ หรือปล่อยตัวสู่สังคมต่อไป จึงต้องมีการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังเพื่อการจำแนกและแยกคุมขังทั้งในเรือนจำและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ
 
ส่วนการกำหนดให้สถานที่ใดที่มิใช่เรือนจำเป็นสถานที่คุมขังให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 กำหนดให้สถานที่อยู่อาศัยและสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานศึกษา วัด มัสยิด หรือโรงพยาบาล เป็นสถานที่คุมขัง จากนั้น เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 กำหนดให้มีคณะทำงาน 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานของเรือนจำเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังและข้อเท็จจริงของแต่ละเรือนจำ เพื่อเสนอต่อคณะทำงานของกรมที่มีรองอธิบดีเป็นประธานคณะทำงาน พิจารณากลั่นกรองรายชื่อผู้ต้องขังที่แต่ละเรือนจำเสนอมาว่าสมควรที่จะใช้วิธีคุมขังในสถานที่คุมขังที่มิใช่เรือนจำหรือไม่ แล้วเสนอต่ออธิบดีเพื่ออนุมัติ
 
อย่างไรก็ตาม ระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาจึงเป็นเพียงเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และกฎกระทรวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2560 และ 2563 ตามลำดับ มิได้สร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเอื้อผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น
 
น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ติดตามเรื่องนี้ก็เพราะเห็นว่า มีความพยายามโยงเรื่องให้เป็นประเด็นการเมืองในกรณีของ นายทักษิณ จนอาจส่งผลให้กฎหมาย และระเบียบที่ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และเป็นไปตามหลักสากล จะไม่ได้ถูกใช้ตรงตามเจตนารมณ์ กระทบผู้ต้องโทษคนอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาตามระเบียบที่อาจจะเสียสิทธิในส่วนนี้ไปด้วย เท่าที่ทราบ ทาง กรมราชทัณฑ์ ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 144 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ในแต่ละเรือนจำได้พิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และรวบรวมรายชื่อ เสนอมายังกรมราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.66 แต่ถึงขณะนี้การดำเนินการยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะถูกวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก



เงินบาทผันผวน ต่างชาติขายกว่า 1.67 หมื่นล้าน จับตาสัปดาห์สุดท้ายปี 66
https://www.dailynews.co.th/news/3018366/
 
ค่าเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่อนข้างผันผวน นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ มีเงินไหลออกกว่า 16,700 ล้านบาท คาดสัปดาห์สุดท้ายปี 66 จับตาตัวเลขเศรษฐกิจไทย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดเผยเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ก่อนแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย (รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง หลัง BOJ มีมติคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม และไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับจังหวะการถอยออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก)

ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งสะท้อนว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567 ไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่