[CR] รีวิว...ท่าน้ำนนท์ เรื่องราวมากมายริมสายน้ำ


          เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ...คำขวัญจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับรีวิวนี้ (อ้าว)...แค่ตอนพิมพ์รีวิวผมนึกถึงเท่านั้น แต่คุณก็สามารถเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จากท่าน้ำนนท์ ถ้าคุณมีเวลามากพอ

          นนทบุรีเป็นจังหวัดที่เติบโตมากในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ มีทุกอย่างที่ไม่ต่างอะไรจากกรุงเทพฯซึ่งรวมถึงรถติดอย่างหนักด้วย...แต่ชุมชนรอบท่าน้ำนนท์กลับเหมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ อาจจะด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม ทำให้การพัฒนาทำได้ยาก เลยเกิดเป็นภาพชุมชนกลางเก่ากลางใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


          ไม่มีที่ไหนจะศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่แถวนั้นได้ดีเท่าพิพิธภัณฑ์...แต่ “พิพิธภัณฑ์นนทบุรี” กลับไม่ใช่ที่ที่ดีเลยที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ ถึงจะเข้าฟรีแต่การจัดวางและการนำเสนอสำหรับผมถือว่า “แย่มาก” ไม่มีความน่าสนใจอะไรเลย


          ตัวอาคารภายนอกสวยงามมาก เป็นอาคารไม้สักทั้งหลังสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงโปรดให้ซื้อที่ดินจากราษฎรจำนวน 550ไร่ เพื่อสร้างเรือนจำบางขวาง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงแบ่งพื้นที่บางส่วนมาสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นโรงเรียนราชวิทยาลัยของกระทรวงยุติธรรม สำหรับสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนที่จะต้องเป็นผู้พิพากษา


          พ.ศ.2469 สมัยรัชกาลที่ 7 โรงเรียนราชวิทยาลัยยุบไปรวมกับโรงเรียนวชิราวุธที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2471 ย้ายศาลากลางจากบ้านตลาดขวัญมาอยู่ที่อาคารนี้ พ.ศ.2501 ตั้งโรงเรียนอนุบาลนนทบุรีขึ้นที่อาคารหลังนี้เช่นกัน พ.ศ.2535 สำนักงานต่างๆของศาลากลางย้ายออกไปและเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยมหาดไทย สังกัดสถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทยเปิดอยู่ 16 ปีจึงย้ายออกไป ปัจจุบันบางส่วนของอาคารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์และบางส่วนยังเป็นโรงเรียนอนุบาลนนทบุรี


          สภาพอาคารปัจจุบันค่อนข้างทรุดโทรม ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่นำมาประยุกต์ให้เข้ากับอากาศแบบร้อนชื้นหันหน้าไปทางแม่น้ำ ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจเช่น หลังคาของอาคารซึ่งเป็นทรงสูงโดยมีทั้งทรงปั้นหยาและทรงจั่ว มีกันสาดที่ช่วยกันฝนและกันแดดได้อย่างดี...แต่อย่างที่บอกไปครับ อาคารค่อนข้างโทรมและขาดการดูแล เสียดายสถานที่มาก


            เข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์กันครับ...พื้นที่พิพิธภัณฑ์ค่อนข้างเล็กมาก เดินไม่เกินห้านาทีจบ การจัดแสดงคือนำของมาวางส่วนข้อมูลก็แปะกำแพงง่ายๆ(ที่จริงตอนเห็นครั้งแรกในหัวผมไม่ใช่คำว่า “ง่าย” ครับ) ข้อดีก็คือข้อมูลค่อนข้างเยอะ ถ้าสนใจประวัติศาสตร์จริงๆข้อมูลที่นี่ดีทีเดียวซึ่งนั่นเป็นข้อดีข้อเดียวที่ผมรู้สึก ส่วนที่เหลือ...เห้อ


          เดินเลาะริมน้ำไปเรื่อยๆจะเจอศาลเจ้าอยู่ศาลเจ้าหนึ่งชื่อ “เจ้าพ่อปีงเถ่ากงม่า เจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งศาลเจ้าดั้งเดิมน่าจะมีอายุร่วมร้อยปีแล้วแหละ ด้วยความที่ย่านท่าน้ำนนท์สมัยโบราณเป็นย่านการค้าที่สำคัญมีสินค้าส่งไปถึงนครสวรรค์หรือสุพรรณบุรี ชาวจีนย่านนี้เลยมาสักการะขอพรจนต่อมารวบรวมเงินกันสร้างศาลเจ้าให้ใหญ่โตสวยงาม


          ภายในศาลเจ้าแม่ทับทิมประดิษฐานองค์เจ้าแม่จุยบ่วยเนี้ยวและเจ้าแม่ทับทิม แต่ชาวจีนมักจะเรียกว่า แปะกง แปะม่า ใครผ่านไปแถวนั้นก็ไปไหว้ขอพรได้ครับ


          ไปอีกพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกันนักชื่อพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์...ดูจากชื่อก็รู้ได้ทันทีว่าพิพิธภัณฑ์นี้เกี่ยวกับก๋วยเตี๋ยว...เอ๊ย คุกแน่นอน


          พิพิธภัณฑ์ปิดทำการวันจันทร์ ตัวอาคารเป็นอาคารปูนเรียบๆแต่เมื่อมันเกี่ยวกับ “คุก” ก็เลยรู้สึกไม่ปลอดภัยกลัวจะเดินเข้าไปแล้วทะลุไปแดนไหนสักแดน ที่นี่เข้าชมฟรีนะครับลงทะเบียนเยี่ยมชมไว้หน่อยแล้วก็เดินเข้าไปเลย


          ผมเคยสงสัยว่าทำไมจังหวัดนนทบุรีเรือนจำเยอะจัง...จนตอนหลังพบว่าเรือนจำคลองเปรมริมถนนงามวงศ์วานนั้นอยู่ในเขตกรุงเทพฯ...จบไป งั้นมาว่ากันต่อที่เรือนจำบางขวาง 

          เรือนจำกลางบางขวาง ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2476 พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 200 ไร่ เป็นพื้นที่ของเรือนจำภายในประมาณ 136ไร่ เดิมชื่อ “เรือนจำกองมหันตโทษ” และเปลี่ยนเป็น “เรือนจำบางขวาง” เมื่อปีพ.ศ.2484 โดยสมัยก่อนเรือนจำมี 2 แบบคือ “เรือนจำกองมหันตโทษ” เรียกว่า “คุก” และ “เรือนจำกองลหุโทษ” เรียกว่า “ตะราง" ส่วนเส้นที่ตัดกันไปมาเป็นช่องๆเรียกว่า "ตาราง"


          สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงดำริว่าบ้านเมืองกำลังเข้าสู่ความเจริญ เห็นควรให้ย้ายเรือนจำกองมหันตโทษออกไปตั้งนอกพระนครทรงโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมไปซื้อที่ดินที่ตำบลบางขวาง อำเภอตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรีจำนวนประมาณ 150 ไร่ ยังไม่ทันได้สร้างเปลี่ยนเสนาบดีฯเสียก่อน

          สมัยต้นรัชกาลที่ 6 ได้เสนาบดีฯใหม่ นโยบายก็เปลี่ยนกลายเป็นเจียดที่ดินไปส่วนหนึ่งประมาณ 50 ไร่ไปสร้าง “โรงเรียนราชวิทยาลัย” และกลายเป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่าที่ไปมาก่อนหน้านี้


          ต่อมามีการประกาศรวมเรือนจำทั่วประเทศและตั้งเป็นกรมราชทัณฑ์ และได้กลับไปที่แผนเดิมคือย้ายเรือนจำมหันตโทษไปที่บางขวาง แต่พื้นที่ 50 ไร่ดันเอาไปทำโรงเรียนเสียแล้วเลยไม่พอ (อ้าว)...เลยต้องซื้อที่ดินเพิ่มอีกประมาณ 77 ไร่...แต่ก็ยังไม่ได้สร้าง (อ้าว อีกที)

          พ.ศ. 2570 ซื้อที่ดินเพิ่มอีกประมาณ 8 ไร่และได้ที่ดินจากกรมพระคลังข้างที่อีกประมาณ 13 ไร่...ตอนนี้มีที่ดินรวมกันเท่าไหร่แล้วครับนักเรียน...ของเดิม 150 ไร่หักไปสร้างโรงเรียน 50 ไร่เหลือร้อยไร่ พักไว้ก่อน ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 77 ไร่ แล้วก็ซื้อเพิ่มอีก 8 ไร่กับได้มาฟรีอีก 13 ไร่รวมเป็นประมาณ 98 ไร่บวกของเดิมประมาณ 100 ไร่ก็ได้ที่รวมๆแล้วประมาณ 200 ไร่ อ่ะ สร้างได้


          เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรือนจำเสร็จเรียบร้อยก็เดินเข้าไปข้างใน พิพิธภัณฑ์ต้อนรับเราด้วยวิธีการลงโทษและทรมานตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งแน่นอนว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆยังไม่เกิด ดังนั้นความโหดนั้นมีอยู่เต็มเปี่ยมเช่น การต้มน้ำมันให้เดือดแล้วราดลงบนตัวนักโทษ (หูย) การเถือหนังออกแล้วเอาทรายขัด รวมถึงการเอาเบ็ดเหล็กขนาดใหญ่เกี่ยวไปใต้คางนักโทษแล้วชักรอกให้เท้าลอยพ้นพื้น

           สมัยก่อนคงตัดสินโทษกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ดังนั้นการลงโทษหรือการประหารจึงออกมาในแนวโหดและรุนแรงมากเกินจินตนาการ ภรรยาผมดูการทรมานแต่ละแบบอย่างตั้งใจราวกับจะเอาไปปรับใช้ในชีวิตจริง ผมเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยบางอย่างเลยรีบชวนเดินไปส่วนถัดไป


          บริเวณต่อๆมาเป็นวิวัฒนาการของระบบราชทัณฑ์ในประเทศไทย และแสดงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงดาบที่ใช้ประหารสมัยก่อนซึ่งมันใหญ่มากครับ อันเบ่อเร่อเลย น่ากลัวดีครับ


          ด้านหลังของอาคารพิพิธภัณฑ์มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกชื่อหับเผย แต่วันที่ผมไปไม่เห็นมีใครอยู่เลยไม่ได้เข้าไปดู โดยรวมเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงได้ดีกว่าพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรีมาก มีรายละเอียดต่างๆมากมาย การจัดแสดงทำได้ดี ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจและน่าศึกษา


          เดินย้อยจากพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ย้อนมาทางท่าน้ำนนท์ประมาณ 300 เมตรมีร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อ “Cook & Coff” ซึ่งเป็นร้านของเรือนจำบางขวาง ตั้งชื่อร้านได้เท่มาก ความหมายคือปรุงและกาแฟ และพ้องเสียงกับคำว่า “คุก” ด้วย


          อย่างที่บอกว่าร้านนี้เป็นของเรือนจำบางขวาง ดังนั้นพนักงานหลายท่านที่ทำงานที่นี่คือผู้ต้องขับที่ต้องโทษอยู่ที่เรือนจำนี่แหละ แต่เป็นผู้ต้องขังชั้นดีที่กำลังฝึกอาชีพรองรับไว้เมื่อพ้นโทษ

          ผมไม่ได้ทานข้าวที่นี่แต่เห็นคนมานั่งทานข้าวกันเยอะเลย วิวที่ร้านดีมากเป็นวิวแม่น้ำแบบกว้างๆเลย อาหารก็น่าจะไม่เลวมีพี่ๆผู้ต้องขังคอยบริการ ในรูปผมเบลอหน้าพี่ๆเขาก่อนนะครับ ส่วนคาเฟ่ขนาดไม่ใหญ่โตนักก็มีพี่ๆเขาบริการอยู่ การบริการออกแนวสุภาพแต่ไม่นุ่มนวลก็ตามบุคลิกของพี่ๆเขาแหละ ที่จริงสุภาพกว่าพนักงานในร้านอาหารหลายๆร้านที่ผมเคยเจอด้วยซ้ำ


           ในบริเวณเดียวกันกับ Cook & Coff มีร้านจำหน่ายสินค้าจากฝีมือพี่ๆผู้ต้องขังให้จับจ่ายและถือเป็นการสนับสนุนให้พี่ๆเขาได้มีอาชีพและรายได้ด้วยครับ
ชื่อสินค้า:   จังหวัดนนทบุรี
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่